คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5701/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อกฎหมายเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 196 วรรคสอง เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 196 วรรคสอง บัญญัติไว้ว่า การเปลี่ยนเงินให้คิดตามอัตราแลกเปลี่ยนเงิน ณ สถานที่และในเวลาที่ใช้เงิน อัตราแลกเปลี่ยนเงินตามมาตรานี้ ย่อมต้องหมายถึงอัตราที่จะแลกเปลี่ยนกันได้โดยเสรี ซึ่งตามปกติจะคิดตามอัตราแลกเปลี่ยนเงินโดยเฉลี่ยที่ธนาคารพาณิชย์ที่ทำการขายเงินตราต่างประเทศเป็น เงินตราของประเทศในกรุงเทพมหานครเป็นเกณฑ์ และเพื่อความสะดวกแก่การบังคับคดี จึงให้คิดอัตราแลกเปลี่ยนโดยธนาคารพาณิชย์ในวันที่มีคำพิพากษาของศาลฎีกา ถ้าไม่มีอัตราการขายในวันนั้นให้ถือเอาวันสุดท้ายที่มีอัตราการขายเช่นว่านั้นก่อนวันพิพากษา
การที่โจทก์ขอใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศขณะยื่นฟ้องเป็นเกณฑ์คำนวณในการมีคำขอท้ายฟ้อง และโจทก์ไม่อุทธรณ์ฎีกาคัดค้านเงินเหรียญสหรัฐ ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีโดยคิดเป็นเงินไทย โจทก์จึงไม่อาจรับชำระหนี้จากจำเลยเกินกว่าจำนวนเงินไทยดังกล่าวได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ เป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ ๒เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ จำเลยที่ ๑ สั่งซื้อสินค้าจากโจทก์ ๓ ครั้งรวมราคา ๑๔,๒๐๐ เหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินไทย ๓๗๙,๘๕๐ บาท ถึงกำหนดชำระ จำเลยผิดนัด โจทก์ขอคิดดอกเบี้ยร้อยละ ๗.๕ ต่อปีตั้งแต่วันผิดนัดจนถึงวันฟ้อง รวมเป็นค่าดอกเบี้ย ๔๘,๑๘๙.๕๗ บาทรวมเป็นเงิน ๔๒๘,๐๓๙.๕๗ บาท ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน๔๒๘,๐๓๔.๕๗ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ ๗.๕ ต่อปีในต้นเงิน ๓๗๙,๘๕๐ บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องถึงวันชำระเสร็จให้โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยไม่เคยสั่งซื้อสินค้าจากโจทก์ ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ และต้องติดบัตรแลกเปลี่ยนในเวลาซื้อขายคือประมาณ ๒๓ บาทต่อเหรียญสหรัฐ ไม่ใช่ ๒๖.๗๕ บาทต่อหนึ่งเหรียญสหรัฐตามที่โจทก์ฟ้องเพราะเป็นอัตราแลกเปลี่ยนภายหลังและฟ้องแย้งว่าโจทก์ผิดสัญญาตัวแทนตั้งบริษัทอื่นเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าในประเทศไทยแทนจำเลย ทำให้จำเลยขาดประโยชน์ที่ควรจะได้รับปีละ ๑๘๐,๐๐๐ บาท เป็นเวลา ๓ ปี เป็นค่าเสียหาย ๕๔๐,๐๐๐ บาท จำเลยหักราคาสินค้าโจทก์ ๓๑๖,๒๕๐ บาท คงเหลือค่าเสียหาย ๒๒๓,๗๕๐ บาทขอให้ยกฟ้องโจทก์และให้โจทก์ชดใช้เงินให้จำเลยที่ ๑ จำนวน๒๒๓,๗๕๐ บาท
ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฟ้องแย้งและพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน ๓๖๗,๘๑๒.๕๐ บาท (๑๓,๗๕๐ เหรียญสหรัฐ) และดอกเบี้ยร้อยละ๗.๕ ต่อปี คิดตั้งแต่วันฟ้องถึงวันชำระเสร็จให้โจทก์ คำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ ๑ เป็นหนี้โจทก์จำนวน ๑๓,๗๕๐เหรียญสหรัฐ และที่จำเลยทั้งสองฎีกาขอให้วินิจฉัยเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราด้วยนั้น เห็นว่า ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ศาลอุทธรณ์มิได้รับวินิจฉัยในปัญหาข้อนี้ให้จำเลยทั้งสอง ศาลฎีกาก็เห็นสมควรวินิจฉัยให้ ข้อนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้แก่โจทก์เป็นเงิน ๑๓,๗๕๐ เหรียญสหรัฐ โดยคิดเทียบเป็นเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศในขณะยื่นฟ้องนั้นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๙๖ วรรค ๒ บัญญัติไว้ว่าการเปลี่ยนเงินให้คิดตามอัตราแลกเปลี่ยนเงิน ณ สถานที่ และในเวลาที่ใช้เงิน อัตราแลกเปลี่ยนเงินตามมาตรานี้นั้น ย่อมต้องหมายถึงอัตราที่จะแลกเปลี่ยนกันได้โดยเสรี ซึ่งตามปกติจะคิดตามอัตราแลกเปลี่ยนเงินโดยเฉลี่ยที่ธนาคารพาณิชย์ที่ทำการขายเงินเหรียญสหรัฐเป็นเงินตราของประเทศในกรุงเทพมหานครเป็นเกณฑ์และเห็นว่าเพื่อความสะดวกแก่การบังคับคดี จึงให้คิดอัตราแลกเปลี่ยนโดยธนาคารพาณิชย์ในวันที่มีคำพิพากษาของศาลนี้ ถ้าไม่มีอัตราการขายในวันนั้นก็ให้ถือเอาวันสุดท้ายที่มีอัตราการขายเช่นว่านั้นก่อนวันพิพากษา แต่เนื่องจากโจทก์ขอให้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศขณะยื่นฟ้องเป็นเกณฑ์คำนวณในการมีคำขอท้ายฟ้อง และโจทก์ไม่อุทธรณ์ฎีกาคัดค้านจำนวนเงิน ๑๓,๗๕๐ เหรียญสหรัฐ ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี ซึ่งคิดเป็นเงินไทย ๓๖๗,๘๑๒.๕๐ บาท โจทก์จึงไม่อาจรับชำระหนี้จากจำเลยทั้งสองเกินกว่าจำเลยเงินดังกล่าวได้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน ๑๓,๗๕๐เหรียญสหรัฐ โดยคิดเป็นเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนโดยเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ในกรุงเทพมหานครในวันที่ศาลนี้พิพากษา ถ้าอัตราแลกเปลี่ยนในวันดังกล่าวไม่มี ก็ให้ถือเอาวันสุดท้ายที่มีอัตราแลกเปลี่ยนเช่นว่าก่อนวันพิพากษา แต่เมื่อคิดแล้วเป็นต้นเงินไม่เกินกว่า ๓๖๗,๘๑๒.๕๐ บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์.

Share