คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1179/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์นำแจกันขนาดต่าง ๆ เข้ามาในราชอาณาจักร เป็นแจกันที่มีเนื้อกระเบื้องหรือวัสดุที่ใช้ผลิตไม่ขาวใส ลวดลายและการป้ายสีแม้แปลก ตา แต่ก็ไม่มีความประณีตสวยงาม แจกันบางใบมีรอยตำหนิ เป็นจุด ๆ ในเนื้อกระเบื้อง ราคาที่โจทก์ซื้อมาเป็นราคาไม่แพง ไม่มีคุณค่าพอที่จะนำไปเป็นเครื่องประดับบ้านเรือน คงมีความเหมาะสมเพื่อใช้ปักดอกไม้อันเป็นการใช้ตามสภาพของแจกันเท่านั้น จึงเป็นสินค้าเครื่องใช้ในบ้านเรือนตามพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 69.11 มิใช่เครื่องประดับบ้านเรือนตามพิกัดประเภทที่ 69.13 โจทก์นำแจกันเข้ามาในราชอาณาจักรโดยสำแดงในใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าว่าเป็นสินค้าอยู่ในพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 69.13 ซึ่งเป็นสินค้าที่ไม่ต้องห้ามนำเข้า ตามประกาศของกระทรวงพาณิชย์เรื่อง การนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร(ฉบับที่ 86) พ.ศ. 2521 และได้ชำระภาษีประเภทต่าง ๆ ให้แก่จำเลยตามหน้าที่ การที่จำเลยรับชำระภาษีจากโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นการรับชำระไว้โดยชอบ ต่อมาจำเลยไม่ยอมตรวจปล่อยแจกันบางส่วนซึ่งเป็นส่วนใหญ่ที่นำเข้าให้แก่โจทก์ โดยอ้างว่าแจกันพิพาทเป็นสินค้าในพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 69.11 ซึ่งเป็นสินค้าต้องห้ามนำเข้าตามประกาศของกระทรวงพาณิชย์ฯ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากกระทรวงพาณิชย์เสียก่อน โจทก์โต้แย้งว่าแจกันนั้นอยู่ในพิกัดตามที่สำแดงไว้ในใบขนสินค้า ดังนี้เมื่อประกาศของกระทรวงพาณิชย์ฯมิได้ห้ามการนำเข้าซึ่งสินค้าในพิกัดประเภทที่ 69.11 ไว้อย่างเด็ดขาด หากได้รับอนุญาตก็สามารถนำเข้าได้ โจทก์จึงยังไม่มีสิทธิรับเงินภาษีอากรประเภทต่าง ๆ ที่ชำระไว้คืนจนกว่าโจทก์จะไม่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงพาณิชย์ให้นำเข้าแจกันดังกล่าว และหรือโจทก์ส่งแจกันนั้นออกไปยังเมืองต่างประเทศ จำเลยจึงยังไม่ต้องคืนเงินค่าภาษีอากรขาเข้า ภาษีการค้า ภาษีบำรุงเทศบาล และเงินประกันค่าภาษีที่รับชำระไว้ให้แก่โจทก์ การที่พนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องโจทก์ในข้อหานำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากรและสำแดงเท็จ กับนำของต้องพิกัดเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตและสั่งให้คืนแจกันของกลางให้แก่โจทก์ โดยเห็นว่าแจกันนั้นมิได้อยู่ในพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 69.11 ซึ่งเป็นสินค้าต้องห้ามนำเข้าแต่จำเลยไม่คืนแจกันแก่โจทก์โดยเห็นว่าเป็นสินค้าอยู่ในพิกัดประเภทที่ 69.11 เช่นนี้ความเห็นของพนักงานอัยการและจำเลยยังไม่เป็นยุติ จำเลยจึงยังมีอำนาจตาม พ.ร.บ. ศุลกากรฯที่จะกักแจกันของโจทก์ไว้โดยชอบจนกว่าโจทก์จะได้รับอนุญาตให้นำแจกันนั้นเข้ามาในราชอาณาจักรได้หรือจัดการส่งแจกันออกไปยังเมืองต่างประเทศ.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องใจความว่า โจทก์นำสินค้าประเภทแจกันขนาดต่าง ๆซึ่งเป็นเครื่องปั้นสำหรับประดับในบ้านเรือนตามพิกัดอัตราศุลกากรที่ 69.13 เข้ามาในราชอาณาจักร โดยได้ชำระค่าภาษีอากรและเงินประกันแล้ว จำเลยกลับอ้างว่าโจทก์สำแดงราคาสินค้าเท็จเพื่อเหลีกเลี่ยงอากร จำเลยได้กักสินค้าของโจทก์ไว้ทั้งหมดแล้วมอบคดีให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีอาญาแก่โจทก์ ในที่สุดพนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องและให้คืนสินค้าทั้งหมดแก่โจทก์ แต่จำเลยไม่ยอมส่งมอบสินค้าให้แก่โจทก์โดยอ้างว่าแจกันส่วนใหญ่อยู่ในพิกัดที่ 69.11 เครื่องใช้ในบ้านเรือน ต้องห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักรตามประกาศของกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง การนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร(ฉบับที่ 86) พุทธศักราช 2521 ส่วนแจกันส่วนน้อยที่เหลือจำเลยมิได้ให้เหตุผลในการที่ไม่ส่งมอบคืนให้โจทก์ ขอให้จำเลยคืนแจกันทั้งหมดให้แก่โจทก์หรือให้ใช้ราคาเป็นเงิน 19,093.55 บาท และหากเป็นสินค้าต้องห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักร ขอให้คืนเงินค่าภาษีอากรขาเข้า ภาษีการค้า ภาษีบำรุงเทศบาล และเงินประกันรวม28,183.06 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า แจกันที่โจทก์นำเข้าส่วนใหญ่เป็นสินค้าในพิกัดอัตราศุลกากรที่ 69.11 และเป็นสินค้าต้องกำกัด โดยต้องมีใบอนุญาตนำเข้าตามประกาศของกระทรวงพาณิชย์ (ฉบับที่ 86)พ.ศ. 2521 แต่โจทก์ไม่มีใบอนุญาตดังกล่าว จำเลยจึงไม่อาจตรวจปล่อยแจกันเหล่านั้นได้ ส่วนแจกันอีกส่วนหนึ่งซึ่งเป็นส่วนน้อยเป็นสินค้าในพิกัด 69.13 โจทก์จะไปขอรับได้เสมอเมื่อโจทก์ชำระเงินต่าง ๆ ครบถ้วนตามกฎหมายและระเบียบแล้วแต่โจทก์ยังมิได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์พิธีการทางศุลกากรและตามกฎหมายให้ครบถ้วนจึงไม่มีสิทธิเรียกแจกกันหรือเงินค่าภาษีอากรที่ชำระไว้แล้วคืนขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติว่า โจทก์สั่งซื้อสินค้าประเภทแจกันขนาด 6 นิ้ว, 8 นิ้ว, 10 นิ้ว, 12 นิ้ว,14 นิ้ว และ 24 นิ้ว จากประเทศฮ่องกงและนำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยสำแดงในใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าว่าอยู่ในพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 69.13 โจทก์ได้ชำระอากรขาเข้าภาษีการค้า ภาษีบำรุงเทศบาล และเงินประกัน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น28,183.06 บาท ให้แก่จำเลยแล้ว ต่อมาจำเลยพิจารณาแล้วเห็นว่าแจกันขนาด 6นิ้ว, 8 นิ้ว, 10 นิ้ว, 12 นิ้ว และ 14 นิ้ว เป็นสินค้าที่อยู่ในพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 69.11 ซึ่งต้องห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักร ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง การนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร (ฉบับที่ 86) พ.ศ. 2521 และโจทก์ไม่มีใบอนุาตจากกระทรวงพาณิชย์ให้นำสินค้าดังกล่าวเข้ามาในราชอาณาจักรไปแสดงต่อจำเลย จำเลยจึงไม่ตรวจปล่อยแจกันขนาดต่าง ๆ ดังกล่าวให้โจทก์รับไป ส่วนแจกันขนาด 24 นิ้ว จำเลยเห็นว่าเป็นสินค้าในพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 69.13 และโจทก์ได้ชำระภาษีอากรแล้ว โจทก์สามารถรับไปจากจำเลยได้แต่ก็ยังมิได้ขอรับไปจากจำเลย
ปัญหาที่โจทก์อุทธรณ์ประการแรกมีว่า สินค้าประเภทแจกันขนาด6 นิ้ว, 8 นิ้ว, 10 นิ้ว, 12 นิ้ว และ 14 นิ้ว เป็นสินค้าที่อยู่ในพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 69.13 หรือในอัตราพิกัดศุลกากรประเภทที่ 69.11 … ศาลฎีกาเห็นว่าตามพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2503 กำหนดสิงของในพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่69.13 ว่า รูปปั้น เครื่องประดับกายและเครื่องประดับบ้านเรือนและเครื่องประดับอย่างอื่น โคมไฟฟ้า เครื่องประดับกายและเครื่องประดับเครื่องแต่งกายอื่น ๆ ส่วนสิ่งของในพิกัดอัตราศุลกากรประเภท 69.11 กำหนดว่า เครื่องโต๊ะอาหาร เครื่องใช้ในบ้านเรือนและเครื่องสุขภัณฑ์ทำด้วยปอร์ซเลนหรือกระเบื้องชนิดเนื้อละเอียดรวมทั้งที่ทำด้วยปอร์ซเลนชนิดไม่เคลือบและชนิดใสคล้ายหินอ่อนแต่ตามพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากรมิได้กำหนดความหมายของคำว่าเครื่องประดับบ้านเรือน และเครื่องใช้ในบ้านเรือนไว้โดยเฉพาะสำหรับคำว่าเครื่องประดับตามความรู้สึกของคนโดยทั่ว ๆ ไป หมายความว่า สิ่งของที่ใช้ตกแต่งให้สวยงาม แสดงให้เห็นถึงความมุ่งหมายว่าวัตถุหรือสิ่งของที่จะนำมาตกแต่งนั้นจะต้องเป็นวัตถุหรือสิ่งของที่สวยงามจึงจะทำให้บ้านเรือนที่ใช้วัตถุหรือสิ่งของนั้นประดับหรือตกแต่งมีความสวยงามไปด้วย และความสวยงามของวัตถุหรือสิ่งของดังกล่าวตามลักษณะจึงควรเป็นวัตถุหรือสิ่งของที่มีคุณค่าในตัวเองมีความประณีตสวยงามเหมาะสมที่จะใช้ประดับหรือตกแต่งบ้านเรือนเท่านั้น โดยผู้ซื้อมิได้นำไปใช้ตามสภาพเช่นสิ่งของทั่ว ๆ ไปที่ใช้ในบ้านเรือน ส่วนคำว่า เครื่องใช้มีความหมายว่า สิ่งที่ทำขึ้นใช้การต่าง ๆ ของใช้ เครื่องใช้ไม้สอย แสดงให้เห็นถึงความมุ่งหมายว่าเป็นวัตถุหรือสิ่งของที่ตามลักษณะเหมาะสำหรับใช้สอยในบ้านเรือนเท่านั้น ไม่มีคุณค่าหรือความสวยงามในทางที่จะประดับหรือตกแต่งบ้านเรือนให้สวยงาม… เมื่อศาลฎีกาพิจารณาแจกันที่โจทก์นำเข้ามาและจำเลยนำส่งเป็นวัตถุพยานต่อศาลตั้งแต่ขนาด 6 นิ้ว จนถึง14 นิ้วแล้วเห็นว่าเนื้อกระเบื้องหรือวัตถุที่ผลิตไม่ขาวใส ลวดลายและการป้ายสีถึงแม้ว่าจะดูแหลกต่แต่ก็ไม่มีความประณีตสวยงาม แจกันบางใบจะมีรอยตำหนิเป็นจุด ๆ ในเนื่องกระเบื้องเอง ราคาที่โจทก์ซื้อเข้ามาเมื่อคิดเป็นเงินไทยแล้ว ขนาด 6 นิ้ว มีราคาคู่ละประมาณ20 บาท ส่วนขนาด 14 นิ้วมีราคาคู่ละประมาณ 60 บาท ซึ่งเป็นราคาไม่แพง จึงไม่มีคุณค่าพอที่จะนำไปเป็นเครื่องประดับบ้านเรือนประกอบกับตามสภาพและขนาดของแจกันดังกล่าวมีความเหมาะสมที่จะนำไปใช้เป็นเครื่องใช้ในบ้านเรือนทั่ว ๆ ไป ซึ่งตัวโจทก์เองก็ยังยอมรับว่าคนจีนบางรายได้นำแจกันดังกล่าวไปวางไว้บนหิ้งพระและที่หน้าเจ้าที่ ในการที่นำไปวางไว้ที่สถานที่ดังกล่าวเป็นที่เห็นได้ชัดว่าวางไว้เพื่อใช้ปักดอกไม้บูชาพระและเจ้าที่นั่นเองอันเป็นการใช้ตามสภาพของแจกันเหล่านั้น จึงเป็นสินค้าในพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 69.11 ซึ่งเป็นสินค้าต้องห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักรตามประกาศของกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง การนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร (ฉบับที่ 86) พ.ศ. 2521 ไม่ใช่สินค้าในพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 69.13 ตามที่โจทก์สำแดงไว้ในใบขนสินค้าและแบบแสดงรายการการค้า…
ที่โจทก์อุทธรณ์อ้างว่า การที่พนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องโจทก์ ในข้อหานำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากรและสำแดงเท็จ นำของต้องกำกัดเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่รับอนุญาต และสั่งให้คืนแจกันของกลางให้แก่โจทก์แต่จำเลยไม่คืนและทางพนักงานอัยการเคยมีหนังสือชี้แจงให้จำเลยทราบแล้วว่าแจกันที่โจทก์นำเข้ามาในคดีนี้มิได้จัดอยู่ในพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 69.11 ซึ่งเป็นสิงของต้องห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักรนั้น… ทางจำเลยก็ยังมีความเห็นว่าแจกันของกลางจัดอยู่ในพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 69.11 ซึ่งเป็นของต้องห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักรดังนั้นความเห็นของพนักงานอัยการและจำเลยยังไม่เป็นที่ยุติ จำเลยจึงยังมีอำนาจตามพระราชบัญญัติศุลกากรที่จะกักแจกันของโจทก์ไว้ได้โดยชอบจนกว่าจะได้รับอนุญาตจากกระทรวงพาณิชย์ให้นำแจกันในคดีนี้เข้ามาในราชอาณาจักรได้ หรือจัดการส่งแจกันของกลางออกไปยังเมืองต่างประเทศ
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า จำเลยจะต้องคืนเงินภาษีอากรขาเข้า ภาษีการค้า ภาษีบำรุงเทศบาลและเงินประกันค่าภาษีที่โจทก์ชำระไว้ให้แก่โจทก์หรือไม่ ข้อเท็จจริงปรากฏว่าขณะที่โจทก์นำแจกันทั้งหมดเข้ามาในราชอาณาจักร โจทก์ได้สำแดงในใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าไว้ว่าสินค้าที่โจทก์นำเข้ามาอยู่ในพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 69.13 ซึ่งเป็นสินค้าที่ไม่ต้องห้ามนำเข้าตามประกาศของกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง การนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร (ฉบับที่ 86) พ.ศ. 2521 และชำระภาษีประเภทต่าง ๆ ดังกล่าวแก่จำเลยตามหน้าที่ของโจทก์ การที่จำเลยรับชำระค่าภาษีไว้จากโจทก์จึงเป็นการรับชำระไว้โดยชอบ ต่อมาจำเลยไม่ยอมตรวจปล่อยแจกันให้แก่โจทก์โดยอ้างว่าแจกันขนาด 6 นิ้วถึง 14 นิ้ว เป็นสินค้าในพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 69.11 ซึ่งเป็นสินค้าต้องห้ามนำเข้า เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากกระทรวงพาณิชย์เสียก่อน ทางโจทก์ได้โต้แย้งว่าแจกันที่โจทก์นำเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นสินค้าในพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 69.13 ตามที่โจทก์สำแดงไว้ในใบขนสินค้าฯ จึงเห็นได้ว่าโจทก์และจำเลยยังโต้เถียงกันอยู่ว่าแจกันที่โจทก์นำเข้ามาในราชอาณาจักรจะจัดอยู่ในพิกัดอัตราศุลกากรประเภทใด แต่อย่างไรก็ดีตามประกาศของกระทรวงพาณิชย์ดังกล่าวก็มิได้ห้ามนำสินค้าในพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 69.11 เข้ามาในราชอาณาจักรไว้อย่างเด็ดขาด หากโจทก์ได้รับอนุญาตจากกระทรวงพาณิชย์แล้วโจทก์ก็สามารถนำเข้าได้ ดังนั้นโจทก์จึงยังไม่มีสิทธิรับเงินภาษีอากรต่าง ๆ ที่ชำระไว้แก่จำเลยสำหรับแจกันขนาด 6 นิ้วถึง 14 นิ้วคนจนกว่าโจทก์จะไม่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงพาณิชย์ให้นำแจกันขนาดต่าง ๆ ดังกล่าวเข้ามาในราชอาณาจักรและหรือโจทก์ส่งแจกันขนาดต่าง ๆ ดังกล่าวออกไปยังเมืองต่างประเทศส่วนแจกันขนาด 24 นิ้ว ที่โจทก์นำเข้ามาในราชอาณาจักรพร้อมกับแจกันขนาดต่าง ๆ ดังกล่าวนั้นจำเลยยอมรับแล้วว่าเป็นสินค้าที่อยู่ในพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 69.13 ซึ่งไม่ต้องห้ามนำเข้า โจทก์จึงมีสิทธิไปขอรับจากจำเลยเมื่อใดก็ได้ แต่เป็นความผิดของโจทก์ที่ไม่ไปขอรับจากจำเลยเอง…”
พิพากษายืน.

Share