คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 570/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2525 มีวัตถุประสงค์ควบคุมโรงเรียนเอกชนให้เป็นระเบียบและมีประสิทธิภาพ มิใช่กฎหมายที่ให้ความคุ้มครองแก่นายจ้างหรือลูกจ้าง ดังนั้น จึงมิใช่กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานหรือกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ แม้โจทก์ทั้งห้าฟ้องคดีโดยไม่รอให้คณะกรรมการคุ้มครองการทำงานตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว วินิจฉัยข้อขัดแย้งระหว่างโจทก์ทั้งห้ากับจำเลยก่อนก็ไม่ต้องห้ามมิให้ฟ้องคดีตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 8 วรรคสอง.

ย่อยาว

คดีทั้งห้าสำนวนนี้ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน โดยให้เรียกโจทก์ตามลำดับสำนวนว่า โจทก์ที่ 1ถึงโจทก์ที่ 5
โจทก์ทั้งห้าสำนวนฟ้องว่า โจทก์ทั้งห้าเป็นลูกจ้างจำเลยทำหน้าที่ครู ต่อมาเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2535 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งห้า โดยโจทก์ทั้งห้าไม่ได้กระทำความผิด และจำเลยไม่บอกกล่าวเลิกจ้างล่วงหน้า ทั้งยังค้างจ่ายค่าจ้างสำหรับการทำงานแก่โจทก์ทั้งห้า ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าจ้างค้างชำระแก่โจทก์ทั้งห้า
จำเลยทั้งห้าสำนวนให้การว่า โจทก์ทั้งห้ามีหน้าที่เป็นครูประจำโรงเรียนของจำเลย โจทก์ทั้งห้าจะต้องปฏิบัติและอยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชนหรือตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนราษฎร์ โดยต้องเสนอข้อขัดแย้งเกี่ยวกับการบอกเลิกสัญญาหรือข้อขัดแย้งเกี่ยวกับการจ่ายค่าชดเชย ต่อคณะกรรมการคุ้มครองการทำงานเพื่อวินิจฉัยก่อน และหากไม่พอใจในคำวินิจฉัยต้องอุทธรณ์เป็นหนังสือต่อรัฐมนตรีภายใน 30 วัน โจทก์ทั้งห้าไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนและวิธีการที่กฎหมายกำหนดดังกล่าว จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดี และจำเลยมิได้กระทำการใด ๆ อันเป็นการเลิกจ้างโจทก์ทั้งห้า โจทก์ทั้งห้าไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าจ้างจากจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้าง สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยแก่โจทก์ทั้งห้า
จำเลยทั้งห้าสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยอุทธรณ์ว่าโจทก์ทั้งห้าฟ้องคดีนี้โดยไม่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนที่พระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2525 กำหนดไว้ กล่าวคือ โจทก์ทั้งห้าฟ้องคดีนี้โดยไม่ได้รอให้คณะกรรมการคุ้มครองการทำงานตามพระราชบัญญัติดังกล่าววินิจฉัยชี้ขาดข้อขัดแย้งระหว่างโจทก์ทั้งห้าซึ่งเป็นครูกับจำเลยซึ่งเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนก่อนเป็นการไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 8 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า “คดีตามวรรคหนึ่งในกรณีที่กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานหรือกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์บัญญัติให้ร้องเรียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือปฎิบัติตามขั้นตอนและวิธีการที่กำหนดไว้ จะดำเนินการในศาลแรงงานได้ต่อเมื่อได้ปฏิบัติตามขั้นตอนและวิธีการที่กฎหมายดังกล่าวบัญญัติไว้แล้ว” โจทก์ทั้งห้าจึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าตามพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2525 ที่บัญญัติไว้ คือหมวด 1 คณะกรรมการการศึกษาเอกชน หมวด 2 ลักษณะและการจัดตั้งโรงเรียน หมวด 3 การบริหารและการควบคุมโรงเรียน หมวด 4 จรรยามรรยาท วินัย และหน้าที่ หมวด 5 การอุดหนุน ส่งเสริม และช่วยเหลือโรงเรียน ครูใหญ่ และครู นั้น แสดงให้เห็นว่า พระราชบัญญัติดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ควบคุมโรงเรียนเอกชนให้เป็นระเบียบและมีประสิทธิภาพ มิใช่กฎหมายที่ให้ความคุ้มครองแก่นายจ้างลูกจ้างหรือเพื่อแสวงหาและคุ้มครองประโยชน์เกี่ยวกับการจ้าง หรือกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง หรือแก้ไขข้อขัดแย้งระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง อันเป็นวัตถุประสงค์ของกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน หรือกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์แม้ว่าบทบัญญัติในหมวด 6 จะกำหนดการคุ้มครองการทำงานและการสงเคราะห์ครูใหญ่และครู หมวด 7 กำหนดให้มีคณะกรรมการคุ้มครองการทำงานและหมวด 9 การอุทธรณ์ ก็มิใช่กฎหมายที่จะขจัดข้อพิพาทระหว่างครูใหญ่หรือครูกับผู้รับใบอนุญาตหรือผู้จัดการ ดังนั้นพระราชบัญญัติ โรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2525 จึงมิใช่กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานหรือกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ การที่โจทก์ทั้งห้าฟ้องคดีนี้โดยไม่รอให้คณะกรรมการคุ้มครองการทำงานวินิจฉัยข้อขัดแย้งระหว่างโจทก์ทั้งห้ากับจำเลยก่อน จึงไม่ต้องห้ามมิให้ฟ้องคดีตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 8 วรรคสอง โจทก์ทั้งห้าจึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share