คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5698/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

คำสั่งศาลอุทธรณ์ที่อนุญาตให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ตาม พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 นั้น เป็นคำสั่งก่อนที่ศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี และมิใช่คำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่ระบุไว้ในมาตรา 227 และ 228 แห่ง ป.วิ.พ. จึงเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ซึ่งต้องห้ามมิให้ฎีกาคำสั่งนั้นในระหว่างพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226 (1) ประกอบด้วยมาตรา 247 จำเลยที่ 1 จึงยังไม่มีสิทธิฎีกา คงมีสิทธิเพียงโต้แย้งคำสั่งนั้นไว้เพื่อใช้สิทธิฎีกาต่อไปเมื่อศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแห่งคดีนั้นแล้วเท่านั้น

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ผู้ร้องยื่นคำร้องว่าผู้ร้องเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2547 ผู้ร้องได้รับโอนสินทรัพย์ หนี้สิน และภาระผูกพันทั้งหมด รวมทั้งสิทธิเรียกร้องที่มีต่อจำเลยทั้งสองในคดีนี้จากโจทก์ ผู้ร้องจึงขอเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้แทนโจทก์ การโอนสิทธิเรียกร้องในการโอนกิจการนี้ไม่ต้องบอกกล่าวการโอนไปยังลูกหนี้ตามมาตรา 306 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่ไม่กระทบกระเทือนสิทธิของลูกหนี้ที่จะยกข้อต่อสู้ตามมาตรา 308 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายและพาณิชย์ตามมาตรา 38 ตรี และมาตรา 38 สัตต แห่งพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2541 ขอให้อนุญาตให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้แทนโจทก์ในคดีนี้
ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งว่า อนุญาตให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิแทนโจทก์ได้ตามขอ
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นว่า คำสั่งศาลอุทธรณ์ที่อนุญาตให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์นั้น เป็นคำสั่งก่อนที่ศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี และมิใช่คำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่ระบุไว้ในมาตรา 227 และ 228 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง จึงเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ซึ่งต้องห้ามมิให้ฎีกาคำสั่งนั้นในระหว่างพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226 (1) ประกอบด้วยมาตรา 247 จำเลยที่ 1 ยังไม่มีสิทธิฎีกาแม้จำเลยที่ 1 จะเห็นว่าคำสั่งดังกล่าวไม่ชอบหรือไม่ถูกต้อง ก็มีสิทธิเพียงโต้แย้งคำสั่งนั้นไว้เพื่อใช้สิทธิฎีกาต่อไปเมื่อศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแห่งคดีนั้นแล้วเท่านั้น ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 1 มาเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้”
พิพากษายกฎีกาของจำเลยที่ 1 คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาทั้งหมดให้แก่จำเลยที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกานอกจากนี้ให้เป็นพับ

Share