คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5698/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบิดาของจำเลยที่ 2 ได้สมัครใจวิวาทชกต่อยกับผู้เสียหายจำเลยที่ 2 เข้าห้ามปรามมิให้ผู้เสียหายทำร้ายร่างกายจำเลยที่ 1 ผู้เสียหายกลับชกต่อยและเตะจำเลยที่ 2 จนเซไปแม้ผู้เสียหายจะหวนกลับไปทำร้ายร่างกายจำเลยที่ 1 อีก ก็เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องในขณะที่วิวาทกัน จำเลยที่ 2จึงไม่มีสิทธิที่จะใช้เก้าอี้ตีผู้เสียหายเพื่อป้องกันจำเลยที่ 1ได้ ทั้งไม่อาจอ้างได้ว่าจำต้องกระทำเพื่อป้องกันสิทธิของตนเองด้วยเพราะภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายที่เกิดแก่จำเลยที่ 2 เองคือการถูกผู้เสียหายชกต่อยและเตะจนเซไปได้ผ่านพ้นไปแล้ว แต่ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้กระทำโดยบันดาลโทสะเพราะถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุไม่เป็นธรรมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 72

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297,83
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 ให้ลงโทษจำคุก 1 เดือน ปรับ2,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 297 ประกอบมาตรา 68, 69 ให้ลงโทษจำคุก 2 เดือน เฉพาะจำเลยที่ 1 เมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีประกอบกับจำเลยที่ 1อายุ 58 ปีเศษแล้ว จึงเห็นสมควรรอการลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1ไว้มีกำหนด 2 ปี ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29, 30 คำขอของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 ประกอบด้วยมาตรา 72 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยที่ 2 ฎีกาเป็นปัญหาข้อกฎหมายว่าจำเลยที่ 2 ใช้เก้าอี้ไม้ตีผู้เสียหายไปทันทีทันใดนั้นเป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องจากการที่ผู้เสียหายได้เตะและต่อยจำเลยที่ 2ประกอบกับผู้เสียหายจะใช้เก้าอี้ตีจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 กลัวจำเลยที่ 1 จะได้รับอันตรายถึงชีวิต จำเลยที่ 2 ต้องกระทำเพื่อป้องกันสิทธิของตนและของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบิดาเพื่อให้พ้นจากการประทุษร้ายของผู้เสียหายการกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นการป้องกันพอสมควรแก่เหตุในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาจำต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 222ซึ่งศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงมาว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุในฟ้อง จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบิดาของจำเลยที่ 2 ได้วิวาทชกต่อยกับผู้เสียหายจำเลยที่ 2 ได้เข้าห้ามปรามมิให้ผู้เสียหายทำร้ายร่างกายจำเลยที่ 1 ผู้เสียหายกลับชกต่อยและเตะจำเลยที่ 2 จนเซไป แล้วหวนกลับไปทำร้ายจำเลยที่ 1 อีกจำเลยที่ 2 จึงใช้เก้าอี้ตีผู้เสียหายถูกที่บริเวณศีรษะและหน้าผากเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัสตามรายงานการชันสูตรของแพทย์เอกสารหมาย จ.4 พิเคราะห์แล้ว สำหรับฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่อ้างว่าจำต้องกระทำเพื่อป้องกันสิทธิของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบิดานั้น เห็นว่า จำเลยที่ 1 วิวาทชกต่อยกับผู้เสียหาย จึงเป็นการสมัครใจวิวาท มิใช่ผู้เสียหายประทุษร้ายจำเลยที่ 1 ฝ่ายเดียว แม้ผู้เสียหายจะหวนกลับไปทำร้ายร่างกายจำเลยที่ 1 อีก ก็เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องในขณะที่วิวาทกันจำเลยที่ 2 จึงไม่มีสิทธิที่จะป้องกันจำเลยที่ 1ได้ ส่วนที่จำเลยที่ 2 อ้างว่า จำต้องกระทำเพื่อป้องกันสิทธิของตนเองนั้น เห็นว่า ที่จำเลยที่ 2 ใช้เก้าอี้ตีผู้เสียหายนั้นเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพราะจำเลยที่ 2 เข้าไปห้ามปราม มิให้ผู้เสียหายทำร้ายจำเลยที่ 1 จึงถูกผู้เสียหายชกต่อยและเตะจำเลยที่ 2จนเซไป แล้วผู้เสียหายได้หวนกลับมาจะทำร้ายจำเลยที่ 1 ดังนั้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายที่เกิดแก่จำเลยที่ 2 เองคือการถูกผู้เสียหายชกต่อยและเตะจนเซไปได้ผ่านพ้นไปแล้ว การที่จำเลยที่ 2 ใช้เก้าอี้ตีผู้เสียหายในขณะที่ผู้เสียหายกลับเข้าไปทำร้ายจำเลยที่ 1 อีกเช่นนี้ จึงไม่เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายแต่เป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะเพราะถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุไม่เป็นธรรมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 72 ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมา ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น อย่างไรก็ตาม พฤติการณ์แห่งคดีผู้เสียหายมีส่วนก่อเหตุอยู่ด้วย ประกอบกับไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้รับโทษจำคุกมาก่อน และโทษจำคุกก็เพียงเล็กน้อย จึงเห็นสมควรรอการลงโทษไว้เพื่อให้จำเลยที่ 2 มีโอกาสกลับตัวเป็นพลเมืองดี
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้รอการลงโทษจำเลยที่ 2 ไว้มีกำหนด 3 ปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share