คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5694-5702/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความนั้น จำเลยมิได้ให้การไว้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลาง และไม่ใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ต้องห้ามอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
การพิจารณาว่าจำเลยต้องปรับค่าจ้างให้แก่โจทก์ทั้งเก้าตามมติคณะรัฐมนตรีตามฟ้องหรือไม่นั้น จะต้องพิจารณาว่าโจทก์ทั้งเก้าและจำเลยมีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างในเรื่องการปรับค่าจ้างตามมติคณะรัฐมนตรีตามฟ้องไว้หรือไม่ อย่างไร แม้โจทก์ทั้งเก้าและจำเลยไม่มีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเป็นหนังสือตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 10 วรรคสอง แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2533 กรรมการผู้จัดการจำเลยมีหนังสือถึงประธานกรรมการดำเนินการของจำเลยว่าสมควรปรับเงินเดือนเจ้าหน้าที่ของจำเลยเข้าสู่ฐานเงินเดือนเช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่องค์การค้าของคุรุสภาที่ได้ปรับปรุงใหม่ตามมติของคณะรัฐมนตรีที่ได้อนุมัติแล้ว เนื่องด้วยจำเลยได้ยึดหลักเกณฑ์และฐานเงินเดือนเจ้าหน้าที่องค์การค้าของคุรุสภามาใช้โดยอนุโลม จึงเห็นสมควรปรับเงินเดือนใหม่และให้มีการตกเบิกย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2533 และจำเลยมีคำสั่งที่ 3/2537 ลงวันที่ 27 ธันวาคม 2537 ว่าโครงสร้างเงินเดือนของพนักงานจำเลยได้ถือบังคับใช้โครงสร้างเงินเดือนเจ้าหน้าที่ขององค์การค้าของคุรุสภาในฐานะรัฐวิสาหกิจ จึงมีคำสั่งปรับอัตราเงินเดือนของเจ้าหน้าที่จำเลยตามโครงสร้างเงินเดือนที่ทางรัฐบาลได้ปรับโครงสร้างเงินเดือนของข้าราชการและรัฐวิสาหกิจในปี 2537 และให้มีผลย้อนหลังตกเบิกตั้งแต่เดือนตุลาคม 2537 เป็นต้นไป ต่อมาในการประชุมคณะกรรมการดำเนินการจำเลย ครั้งที่ 7/2550 – 51 ครั้งที่ 1/2552 – 53 และครั้งที่ 7/2552 – 53 มีมติว่าให้รอองค์การค้าของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (องค์การค้าของ สกสค.) ปรับขึ้นเงินเดือนให้แก่เจ้าหน้าที่เมื่อใด จำเลยก็จะปรับให้เจ้าหน้าที่จำเลยเหมือนกัน ซึ่งในการประชุมคณะกรรมการดำเนินการจำเลยครั้งที่ 4/2555 – 56 มีมติว่าองค์การค้าของ สกสค. มีนโยบายปรับเงินเดือนให้แก่เจ้าหน้าที่ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2556 จำเลยมีแนวทางปรับเงินเดือนให้แก่เจ้าหน้าที่จำเลยเช่นกัน จึงให้จัดทำบัญชีเงินเดือนแนบท้ายมาด้วย ต่อมาในการประชุมคณะกรรมการดำเนินการจำเลย ครั้งที่ 6/2555 – 56 มีมติอนุมัติให้ปรับเงินเดือนแก่เจ้าหน้าที่จำเลยตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2556 โดยคำนวณตามที่องค์การค้าของ สกสค. ปรับอัตราเงินเดือนให้แก่เจ้าหน้าที่องค์การค้าของ สกสค. และในการประชุมคณะกรรมการดำเนินการจำเลย ครั้งที่ 7/2555 – 56 มีมติอนุมัติให้ปรับอัตราเงินเดือนแก่เจ้าหน้าที่จำเลยตามบัญชีปรับอัตราเงินเดือน – ฐานเงินเดือน ตามเสนอ โดยให้มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2556 ปัจจุบันองค์การค้าของคุรุสภาได้โอนกิจการ เงินทรัพย์สิน หนี้ สิทธิต่าง ๆ ไปเป็นของสำนักงานคณะกรรมการสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ตาม พ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2546 มาตรา 83 ดังนี้ พฤติการณ์ของจำเลยและโจทก์ทั้งเก้าดังกล่าวต่างแสดงออกยินยอมตกลงให้ยึดถืออัตราเงินเดือนเจ้าหน้าที่องค์การค้าของคุรุสภาหรือองค์การค้าของ สกสค. เป็นอัตราเงินเดือนเจ้าหน้าที่จำเลยตั้งแต่ปี 2533 ตลอดมา ถือได้ว่าเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างในเรื่องอัตราค่าจ้างโดยปริยาย ไม่จำต้องทำเป็นหนังสือก็มีผลบังคับได้
แม้ในคดีที่เจ้าหน้าที่ขององค์การค้าของ สกสค. เป็นโจทก์ฟ้องต่อศาลแรงงานกลางซึ่งคดีถึงที่สุดโดยศาลฎีกาพิพากษาให้ สกสค. ปรับเงินเดือนแก่เจ้าหน้าที่องค์การค้าของคุรุสภา (ซึ่งต่อมาได้โอนกิจการองค์การค้าของคุรุสภามาเป็นองค์การค้าของ สกสค.) ซึ่ง สกสค. ได้ปรับเงินเดือนเพิ่มให้แก่เจ้าหน้าที่องค์การค้าของ สกสค. ตามคำพิพากษาศาลฎีกา และจ่ายเงินเพิ่มให้แก่เจ้าหน้าที่องค์การค้าของ สกสค. ตามคำพิพากษาศาลฎีกา ก็ตาม แต่โจทก์ทั้งเก้าและจำเลยคงมีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเฉพาะเรื่องอัตราค่าจ้างโดยตกลงให้ยึดถืออัตราค่าจ้างของเจ้าหน้าที่องค์การค้าของคุรุสภาหรือองค์การค้าของ สกสค. เป็นอัตราค่าจ้างของเจ้าหน้าที่จำเลย ซึ่งหาก สกสค. ปรับอัตราเงินเดือนให้แก่เจ้าหน้าที่องค์การค้าของ สกสค. เมื่อใด จำเลยก็จะปรับให้เช่นกัน มิได้มีข้อตกลงว่าจำเลยต้องปรับอัตราเงินเดือนให้แก่เจ้าหน้าที่จำเลยในวันเวลาใดที่แน่นอนและมิได้ตกลงให้ยึดถืออัตราค่าจ้างตามมติคณะรัฐมนตรีอันจะมีผลให้จำเลยต้องปรับเงินเดือนให้แก่เจ้าหน้าที่จำเลยย้อนหลังไปในวันที่มติคณะรัฐมนตรีมีผลใช้บังคับ ทั้งการปรับเงินเดือนให้แก่โจทก์ทั้งเก้าซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่จำเลยเป็นอำนาจของจำเลยซึ่งเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจาก สกสค. โดยเฉพาะ เมื่อที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการจำเลยมีมติให้ปรับเงินเดือนแก่โจทก์ทั้งเก้าในอัตราเดียวกับเจ้าหน้าที่องค์การค้า สกสค. โดยมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2556 และไม่ปรากฏว่าวันที่มีผลบังคับไม่เหมาะสม การปรับเงินเดือนของจำเลยให้แก่โจทก์ทั้งเก้าจึงชอบแล้ว จำเลยไม่ต้องปรับเงินเดือนหรือค่าจ้างให้แก่โจทก์ทั้งเก้าย้อนหลังตามมติคณะรัฐมนตรี และไม่ต้องจ่ายเงินเดือนหรือค่าจ้างเพิ่มขึ้นและเงินโบนัสให้แก่โจทก์ทั้งเก้า

ย่อยาว

คดีทั้งเก้าสำนวนนี้ ศาลแรงงานกลางสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกันโดยให้เรียกโจทก์เรียงตามลำดับสำนวนว่าโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 9 และเรียกจำเลยทุกสำนวนว่าจำเลย
โจทก์ทั้งเก้าสำนวนฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินตามมติคณะรัฐมนตรีทั้งสามครั้งให้แก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 1,088,880 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน 1,016,400 บาท โจทก์ที่ 3 จำนวน 780,060 บาท โจทก์ที่ 4 จำนวน 627,840 บาท โจทก์ที่ 5 จำนวน 269,640 บาท โจทก์ที่ 6 จำนวน 357,840 บาท โจทก์ที่ 7 จำนวน 219,360 บาท โจทก์ที่ 8 จำนวน 268,920 บาท โจทก์ที่ 9 จำนวน 377,160 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันที่ 20 มิถุนายน 2557 เป็นต้นไป จนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จ และให้จำเลยจ่ายเงินโบนัสประจำปี 2547 ถึงปี 2556 ที่ยังจ่ายไม่ครบให้แก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 231,932 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน 215,085 บาท โจทก์ที่ 3 จำนวน 163,489 บาท โจทก์ที่ 4 จำนวน 129,121 บาท โจทก์ที่ 5 จำนวน 56,604 บาท โจทก์ที่ 6 จำนวน 74,806 บาท โจทก์ที่ 7 จำนวน 46,197 บาท โจทก์ที่ 8 จำนวน 56,483 บาท โจทก์ที่ 9 จำนวน 79,103 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าว นับแต่วันที่ 20 มิถุนายน 2557 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 1,088,880 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน 1,016,400 บาท โจทก์ที่ 3 จำนวน 780,060 บาท โจทก์ที่ 4 จำนวน 627,840 บาท โจทก์ที่ 5 จำนวน 269,640 บาท โจทก์ที่ 6 จำนวน 357,840 บาท โจทก์ที่ 7 จำนวน 219,360 บาท โจทก์ที่ 8 จำนวน 268,920 บาท โจทก์ที่ 9 จำนวน 377,160 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าว นับแต่วันที่ 20 มิถุนายน 2557 เป็นต้นไป จนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จ และให้จำเลยจ่ายเงินโบนัสประจำปี 2547 ถึงปี 2556 ที่ยังจ่ายไม่ครบให้แก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 231,932 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน 215,085 บาท โจทก์ที่ 3 จำนวน 163,489 บาท โจทก์ที่ 4 จำนวน 129,121 บาท โจทก์ที่ 5 จำนวน 56,604 บาท โจทก์ที่ 6 จำนวน 74,806 บาท โจทก์ที่ 7 จำนวน 46,197 บาท โจทก์ที่ 8 จำนวน 56,483 บาท โจทก์ที่ 9 จำนวน 79,103 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าว นับแต่วันที่ 20 มิถุนายน 2557 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จ
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงยุติตามที่คู่ความไม่โต้เถียงกันและที่ศาลแรงงานกลางรับฟังมาว่า จำเลยมีฐานะเป็นนิติบุคคลประเภทสหกรณ์ตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2511 โจทก์ทั้งเก้าเป็นพนักงานของจำเลยโดยปัจจุบันยังคงทำงานกับจำเลย เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2547 คณะรัฐมนตรีมีมติให้ปรับค่าจ้างแก่ลูกจ้างรัฐวิสาหกิจในอัตราร้อยละ 3 และให้ได้รับค่าจ้างสูงกว่าอัตราค่าจ้างใหม่อีก 2 ขั้น โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2547 เป็นต้นไป ต่อมาวันที่ 14 มีนาคม 2549 คณะรัฐมนตรีมีมติให้ปรับค่าจ้างแก่ลูกจ้างรัฐวิสาหกิจในอัตราร้อยละ 5 โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2548 เป็นต้นไป และวันที่ 2 ตุลาคม 2550 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามมติของคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2550 ที่ให้ปรับค่าจ้างแก่ลูกจ้างรัฐวิสาหกิจในอัตราไม่เกินร้อยละ 4 ของอัตราค่าจ้างที่ได้รับ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2550 เป็นต้นไป ต่อมาคณะกรรมการดำเนินการของจำเลยมีมติอนุมัติให้ปรับอัตราเงินเดือนให้แก่เจ้าหน้าที่ของจำเลยซึ่งหมายถึงโจทก์ทั้งเก้าในอัตราตามมติของคณะรัฐมนตรีดังกล่าว โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2556 เป็นต้นไป และโจทก์ทั้งเก้าได้รับเงินเดือนที่ปรับเพิ่มจากจำเลยตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2556 แล้ววินิจฉัยว่า ตามรายงานการประชุม ครั้งที่ 7/2550 – 51 ลงวันที่ 12 มิถุนายน 2551 ครั้งที่ 7/2552 – 53 ลงวันที่ 10 มิถุนายน 2553 ครั้งที่ 1/2552 – 53 ลงวันที่ 17 ธันวาคม 2552 ครั้งที่ 4/2555 – 56 ลงวันที่ 14 มีนาคม 2556 ครั้งที่ 6/2555 – 56 ลงวันที่ 9 พฤษภาคม 2556 และครั้งที่ 7/2555 – 56 ลงวันที่ 20 มิถุนายน 2556 และรายงานการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2557 ครั้งที่ 39/2557 ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2557 ระบุว่า โจทก์ที่ 1 ในฐานะผู้จัดการจำเลยได้เข้าร่วมประชุมทุกครั้ง และมีมติว่าหากองค์การค้าของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (องค์การค้าของ สกสค.) ปรับขึ้นเงินเดือนให้แก่เจ้าหน้าที่องค์การค้าของ สกสค. เมื่อไร สหกรณ์ออมทรัพย์เจ้าหน้าที่องค์การค้าของคุรุสภา จำกัด (สอ.อค.) จำเลย ก็จะปรับขึ้นเงินเดือนให้เจ้าหน้าที่ของจำเลยเช่นกัน แสดงว่าจำเลยมีมติที่จะเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างให้เป็นคุณแก่โจทก์ทั้งเก้าซึ่งเป็นลูกจ้าง แม้ไม่ได้ทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเป็นหนังสือตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 10 แต่เจ้าหน้าที่ของจำเลยมีเพียงโจทก์ทั้งเก้า ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างระหว่างโจทก์ทั้งเก้ากับจำเลยจึงไม่ต้องทำเป็นหนังสือ เมื่อไม่มีการทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเป็นหนังสือ การแก้ไขเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างจึงไม่ต้องทำเป็นหนังสือเช่นกัน จำเลยแก้ไขข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างให้เป็นคุณแก่โจทก์ทั้งเก้า จึงมีผลใช้บังคับได้ บันทึกข้อตกลง ระบุว่า องค์การค้าของคุรุสภาจะจ่ายเงินเบื้องต้นตามมติของคณะรัฐมนตรีตามสิทธิให้แก่ลูกจ้างของ สกสค. ภายใน 30 วัน นับแต่วันทำบันทึกฉบับนี้ ซึ่งครบกำหนดวันที่ 20 มิถุนายน 2557 จำเลยจึงต้องปรับค่าจ้างให้แก่โจทก์ทั้งเก้านับแต่วันที่ 20 มิถุนายน 2557 แต่จำเลยไม่ปรับค่าจ้างให้แก่โจทก์ทั้งเก้า จึงต้องตกเป็นผู้ผิดนัด ต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9 อีกทั้งจำเลยต้องจ่ายเงินโบนัสโดยคำนวณจากอัตราค่าจ้างที่ปรับเพิ่มขึ้นให้แก่โจทก์ทั้งเก้าพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 20 มิถุนายน 2557 ด้วย
ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความนั้น เห็นว่า จำเลยมิได้ให้การไว้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลาง และไม่ใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า จำเลยต้องปรับเงินเดือนหรือค่าจ้างให้แก่โจทก์ทั้งเก้าย้อนหลังตามมติคณะรัฐมนตรีตามฟ้องหรือไม่ และจำเลยต้องจ่ายเงินเดือนหรือค่าจ้างเพิ่มขึ้นและเงินโบนัสให้แก่โจทก์ทั้งเก้าตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลางหรือไม่ เห็นว่า การพิจารณาว่าจำเลยต้องปรับค่าจ้างให้แก่โจทก์ทั้งเก้าตามมติคณะรัฐมนตรีตามฟ้องหรือไม่นั้น จะต้องพิจารณาว่าโจทก์ทั้งเก้าและจำเลยมีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างในเรื่องการปรับค่าจ้างตามมติคณะรัฐมนตรีตามฟ้องไว้หรือไม่ อย่างไร แม้ข้อเท็จจริงเป็นยุติตามที่ศาลแรงงานกลางรับฟังมาว่าโจทก์ทั้งเก้าและจำเลยไม่มีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเป็นหนังสือตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 10 วรรคสอง แต่ข้อเท็จจริงที่ยุติในชั้นพิจารณาของศาลแรงงานกลางโดยคู่ความไม่โต้แย้งกันก็ยังได้ความอีกว่า เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2533 นายมณี ในฐานะกรรมการผู้จัดการจำเลยมีหนังสือถึงประธานกรรมการดำเนินการของจำเลยว่าสมควรปรับเงินเดือนเจ้าหน้าที่ของจำเลยเข้าสู่ฐานเงินเดือนเช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่องค์การค้าของคุรุสภาที่ได้ปรับปรุงใหม่ตามมติของคณะรัฐมนตรีที่ได้อนุมัติแล้ว เนื่องด้วยทางจำเลยได้ยึดหลักเกณฑ์และฐานเงินเดือนเจ้าหน้าที่องค์การค้าของคุรุสภามาใช้โดยอนุโลม จึงเห็นสมควรปรับเงินเดือนใหม่และให้มีการตกเบิกย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2533 และจำเลยมีคำสั่งที่ 3/2537 ลงวันที่ 27 ธันวาคม 2537 ว่าโครงสร้างเงินเดือนของพนักงานจำเลยได้ถือบังคับใช้โครงสร้างเงินเดือนเจ้าหน้าที่ขององค์การค้าของคุรุสภาในฐานะรัฐวิสาหกิจ จึงมีคำสั่งให้ปรับอัตราเงินเดือนของเจ้าหน้าที่จำเลยตามโครงสร้างเงินเดือนที่ทางรัฐบาลได้ปรับโครงสร้างเงินเดือนของข้าราชการและรัฐวิสาหกิจในปี 2537 และให้มีผลย้อนหลังตกเบิกตั้งแต่เดือนตุลาคม 2537 เป็นต้นไป ต่อมาในการประชุมคณะกรรมการดำเนินการจำเลย ครั้งที่ 7/2550 – 51 ครั้งที่ 1/2552 – 53 และครั้งที่ 7/2552 – 53 มีมติว่าให้รอองค์การค้าของ สกสค. ปรับขึ้นเงินเดือนให้แก่เจ้าหน้าที่เมื่อใด จำเลยก็จะปรับให้เจ้าหน้าที่จำเลยเหมือนกัน ซึ่งในการประชุมคณะกรรมการดำเนินการจำเลยครั้งที่ 4/2555 – 56 มีมติว่าองค์การค้าของ สกสค. มีนโยบายปรับเงินเดือนให้แก่เจ้าหน้าที่ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2556 จำเลยมีแนวทางปรับเงินเดือนให้แก่เจ้าหน้าที่จำเลยเช่นกัน จึงให้จัดทำบัญชีเงินเดือนแนบท้ายมาด้วย ต่อมาในการประชุมคณะกรรมการดำเนินการจำเลยครั้งที่ 6/2555 – 56 มีมติอนุมัติให้ปรับเงินเดือนแก่เจ้าหน้าที่จำเลยตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2556 โดยคำนวณตามที่องค์การค้าของ สกสค. ปรับอัตราเงินเดือนให้แก่เจ้าหน้าที่องค์การค้าของ สกสค. และในการประชุมคณะกรรมการดำเนินการจำเลยครั้งที่ 7/2555 – 56 มีมติอนุมัติให้ปรับอัตราเงินเดือนแก่เจ้าหน้าที่จำเลยตามบัญชีปรับอัตราเงินเดือน – ฐานเงินเดือน ตามเสนอ โดยให้มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2556 ปัจจุบันองค์การค้าของคุรุสภาได้โอนกิจการ เงิน ทรัพย์สิน หนี้ สิทธิต่าง ๆ ไปเป็นของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ตามพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2546 มาตรา 83 ดังนี้ พฤติการณ์ของจำเลยและโจทก์ทั้งเก้าดังกล่าวข้างต้นต่างแสดงออกยินยอมตกลงให้ยึดถืออัตราเงินเดือนเจ้าหน้าที่องค์การค้าของคุรุสภาหรือองค์การค้าของ สกสค. เป็นอัตราเงินเดือนเจ้าหน้าที่จำเลยตั้งแต่ปี 2533 ตลอดมา ถือได้ว่าเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างในเรื่องอัตราค่าจ้างโดยปริยาย ซึ่งไม่จำต้องทำเป็นหนังสือก็มีผลบังคับกันได้ แม้ข้อเท็จจริงยุติตามที่คู่ความไม่โต้เถียงกันจะได้ความว่า ในคดีที่เจ้าหน้าที่ขององค์การค้าของ สกสค. เป็นโจทก์ฟ้องต่อศาลแรงงานกลางขอให้ สกสค. ปรับเงินเดือนให้แก่เจ้าหน้าที่องค์การค้าของ สกสค. ตามมติคณะรัฐมนตรี คดีถึงที่สุดโดยศาลฎีกาพิพากษาให้ สกสค. ปรับเงินเดือนแก่เจ้าหน้าที่องค์การค้าของคุรุสภา (ซึ่งต่อมาได้โอนกิจการองค์การค้าของคุรุสภามาเป็นองค์การค้าของ สกสค.) ย้อนหลังตามมติคณะรัฐมนตรี ซึ่ง สกสค. ได้ปรับเงินเดือนเพิ่มให้แก่เจ้าหน้าที่องค์การค้าของ สกสค. และจ่ายเงินเพิ่มให้แก่เจ้าหน้าที่องค์การค้าของ สกสค. ตามคำพิพากษาศาลฎีกา ก็ตาม แต่โจทก์ทั้งเก้าและจำเลยคงมีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเฉพาะเรื่องอัตราค่าจ้างโดยตกลงให้ยึดถืออัตราค่าจ้างของเจ้าหน้าที่องค์การค้าของคุรุสภาหรือองค์การค้าของ สกสค. เป็นอัตราค่าจ้างของเจ้าหน้าที่จำเลย ซึ่งหาก สกสค. ปรับอัตราเงินเดือนให้แก่เจ้าหน้าที่องค์การค้าของ สกสค. เมื่อใด จำเลยก็จะปรับให้เช่นกัน มิได้มีข้อตกลงว่าจำเลยต้องปรับอัตราเงินเดือนให้แก่เจ้าหน้าที่จำเลยในวันเวลาใดที่แน่นอน และมิได้ตกลงให้ยึดถืออัตราค่าจ้างตามมติคณะรัฐมนตรีอันจะมีผลให้จำเลยต้องปรับเงินเดือนให้แก่เจ้าหน้าที่จำเลยย้อนหลังไปในวันที่มติคณะรัฐมนตรีมีผลใช้บังคับ อีกทั้งจำเลยเป็นนิติบุคคลที่มีวัตถุประสงค์ในการดำเนินงานแยกต่างหากจาก สกสค. และเงินที่จำเลยใช้ในการดำเนินกิจการก็มาจากสมาชิก การปรับเงินดือนให้แก่โจทก์ทั้งเก้าซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่จำเลยจึงเป็นอำนาจของจำเลยโดยเฉพาะ เมื่อที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการจำเลยมีมติให้ปรับเงินเดือนแก่โจทก์ทั้งเก้าในอัตราเดียวกับเจ้าหน้าที่องค์การค้าของ สกสค. โดยมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2556 และไม่ปรากฏว่าวันที่มีผลบังคับไม่เหมาะสม การปรับเงินเดือนของจำเลยให้แก่โจทก์ทั้งเก้าจึงชอบแล้ว จำเลยไม่ต้องปรับเงินเดือนหรือค่าจ้างให้แก่โจทก์ทั้งเก้าย้อนหลังตามมติคณะรัฐมนตรี และไม่ต้องจ่ายเงินเดือนหรือค่าจ้างเพิ่มขึ้นและเงินโบนัสให้แก่โจทก์ทั้งเก้าตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

Share