คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5687/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการเก็บรักษาน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2474 ซึ่งได้ถูกยกเลิกแล้วโดยไม่ได้บรรยายฟ้องให้ปรากฏว่าการกระทำของจำเลยยังคงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการเก็บรักษาน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2542 และกฎหมายที่ออกมาใหม่ก็ให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยออกกฎกระทรวงกำหนดการเก็บรักษาและการควบคุมอื่นใดเกี่ยวกับน้ำมันเชื้อเพลิง แต่ขณะพิจารณาคดีนี้ยังไม่มีกฎกระทรวงออกมาจึงมีผลเท่ากับโจทก์ไม่ได้อ้างบทกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิด คำฟ้องของโจทก์ไม่ชอบ
ความผิดฐานเสนอสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมกับฐานร่วมกันใช้ฉลากโดยเจตนาก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพ ปริมาณ หรือสาระสำคัญประการอื่นของสินค้า เป็นการกระทำที่มีเจตนาในการใช้ฉลากซึ่งมีเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายในการขายสินค้าเพื่อลวงให้ผู้ซื้อเข้าใจผิด โดยมีเจตนาเดียวกันในการกระทำความผิดทั้งสองฐาน จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 4, 108, 109, 110, 114 และ 115 พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535 มาตรา 5, 7, 8, 12, 13, 50, 51 และ 63 พระราชบัญญัติว่าด้วยการเก็บรักษาน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2474 มาตรา 4, 17 และ 48 พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 มาตรา 3, 30, 31, 47, 58 และ 59 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 90 และ 91 ริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535 มาตรา 5, 7, 8, 12 วรรคสอง และ 50 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 108, 109, 110 (1), 108 (ที่ถูกเป็นมาตรา 108, 109 และมาตรา 110 (1) ประกอบด้วยมาตรา 108) และพระราชบัญญัติว่าด้วยการเก็บรักษาน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2474 มาตรา 4, 17 และ 48 และพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 30, 31 และ 47 วรรคหนึ่ง เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันตั้งโรงงานจำพวกที่ 3 โดยไม่ได้รับอนุญาตจำคุก 3 เดือน ฐานร่วมกันปลอมเครื่องหมายการค้าของผู้อื่น จำคุก 3 เดือน ฐานร่วมกันเลียนเครื่องหมายการค้าของผู้อื่น จำคุก 3 เดือน ฐานร่วมกันเสนอจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอม จำคุก 3 เดือน ฐานร่วมกันใช้ฉลากโดยเจตนาก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพ ปริมาณ หรือสาระสำคัญประการอื่นของสินค้าปรับ 50,000 บาท และฐานร่วมกันเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงชนิดไม่น่ากลัวอันตรายมีปริมาณเกินกว่า 10,000 ลิตร ไว้เพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาตปรับ 50,000 บาท รวมโทษทุกกระทงความผิดแล้วให้จำคุก 1 ปี และปรับ 100,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 เดือน และปรับ 50,000 บาท ริบของกลาง พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว การกระทำของจำเลยเป็นอันตรายและมีผลกระทบต่อผู้บริโภคและสาธารณชนโดยรวม จึงไม่มีเหตุที่จะรอการลงโทษให้ สำหรับข้อหาตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535 มาตรา 13 และ 51 นั้น ให้ยก เนื่องจากบทบัญญัติดังกล่าวเป็นบทบัญญัติความผิดสำหรับผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการโรงงาน เมื่อจำเลยมิได้เป็นผู้ได้รับอนุญาต จึงไม่เป็นความผิดฐานนี้
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ในความผิดฐานร่วมกันเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงชนิดไม่น่ากลัวอันตรายมีปริมาณเกินกว่า 10,000 ลิตร ไว้เพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาตซึ่งโจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยกระทำความผิดระหว่างวันที่ 12 กรกฎาคม 2540 ถึงวันที่ 14 มีนาคม 2543 และมีคำขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเก็บรักษาน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2474 มาตรา 4, 17 และ 48 และศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้ตามคำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวนั้น ปรากฏว่าตามพระราชบัญญัติควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2542 ซึ่งมีผลให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 3 ธันวาคม 2542 บัญญัติไว้ในมาตรา 3 ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติว่าด้วยการเก็บรักษาน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2474 กับพระราชบัญญัติว่าด้วยการเก็บรักษาน้ำมันเชื้อเพลิงฉบับต่าง ๆ อีก 4 ฉบับ คือ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2496 ฉบับที่ 3 พ.ศ.2508 ฉบับที่ 4 พ.ศ.2520 และฉบับที่ 5 พ.ศ.2530 แล้วจึงต้องพิจารณาต่อไปว่าการกระทำของจำเลยตามคำฟ้องของโจทก์ยังเป็นความผิดตามบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังดังกล่าวแล้วหรือไม่ ปรากฏว่าตามพระราชบัญญัติควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2542 มาตรา 7 บัญญัติให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยออกกฎกระทรวงกำหนดการเก็บรักษาและการควบคุมอื่นใดเกี่ยวกับน้ำมันเชื้อเพลิง มาตรา 17 บัญญัติให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยออกกฎกระทรวงกำหนดประเภทกิจการควบคุมของการมีน้ำมันเชื้อเพลิงไว้ในครอบครองสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง คลังน้ำมันเชื้อเพลิง และการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิง สำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงชนิดใดชนิดหนึ่งหรือทุกชนิดรวมกัน ให้สอดคล้องกับระดับอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น นอกจากนี้ยังปรากฏว่าโจทก์ยื่นคำฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2543 หลังจากที่พระราชบัญญัติควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2542 ใช้บังคับแล้ว 1 ปีเศษ โดยบรรยายฟ้องว่า จำเลยได้ร่วมกันมีเก็บไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าน้ำมันหล่อลื่น น้ำมันเครื่อง ซึ่งเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงชนิดไม่น่ากลัวอันตราย มีปริมาณเกินกว่า 10,000 ลิตร ไว้ในสถานที่เก็บน้ำมันโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเก็บรักษาน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2474 ซึ่งถูกยกเลิกไปก่อนดังกล่าวมาข้างต้นแล้ว โดยไม่ได้บรรยายฟ้องให้ปรากฏว่าการกระทำของจำเลยยังคงเป็นความรับผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2542 ที่บัญญัติขึ้นใช้ในภายหลังเพียงใดหรือไม่ ดังนี้ แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพตามคำฟ้อง ก็รับฟังไม่ได้ว่าการกระทำของจำเลยในระหว่างตั้งแต่วันที่ 12 กรกฎาคม 2540 ถึงวันที่ 2 ธันวาคม 2542 ซึ่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเก็บรักษาน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2474 ยังมีผลใช้บังคับอยู่นั้นยังคงเป็นความผิดตามบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังดังกล่าวข้างต้น จึงต้องถือว่าจำเลยพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคสอง ส่วนการกระทำของจำเลยตั้งแต่วันที่ 3 ธันวาคม 2542 ถึงวันที่ 14 มีนาคม 2543 ซึ่งมีพระราชบัญญัติควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2542 บัญญัติขึ้นใช้ภายหลังและยกเลิกพระราชบัญญัติว่าด้วยการเก็บรักษาน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2474 ดังกล่าวมาข้างต้นแล้ว แต่โจทก์ยังบรรยายฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดและขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเก็บรักษาน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2474 ซึ่งถูกยกเลิกแล้ว จึงมีผลเท่ากับโจทก์ไม่ได้อ้างบทกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำของจำเลยระหว่างวันดังกล่าวเช่นนั้นเป็นความผิด เป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบด้วย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (6) จึงต้องพิพากษายกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานนี้
ความผิดฐานเสนอจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมและความผิดฐานร่วมกันใช้ฉลากในการขายสินค้าโดยเจตนาก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพ ปริมาณหรือสาระสำคัญประการอื่นของสินค้า ซึ่งโจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยหลอกลวงให้ผู้ซื้อสินค้าเข้าใจผิดว่าสินค้านั้นเป็นของผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 โดยใช้ป้ายโฆษณาที่มีตราเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายดังกล่าวติดที่สินค้าก็เป็นการกระทำที่มีเจตนาในการใช้ฉลากซึ่งมีเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายดังกล่าวในการขายสินค้าเพื่อลวงให้ผู้ซื้อเข้าใจผิดโดยมีเจตนาเดียวกันในการกระทำความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวนั่นเอง จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นผิดต่อกฎหมายหลายบท มิใช่การกระทำความผิดต่างกรรมกันดังที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษามา และปัญหาดังกล่าวมานี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ขึ้นมา ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้
พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานเลียนเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักร จำคุก 1 เดือน ลดโทษให้กึ่งหนึ่งแล้วคงจำคุก 15 วัน ความผิดฐานเสนอจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมกับความผิดฐานร่วมกันใช้ฉลากโดยเจตนาก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพ ปริมาณ หรือสาระสำคัญประการอื่นของสินค้า เป็นความผิดกรรมเดียวกัน ให้ลงโทษฐานเสนอจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอม ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 110 (1) ประกอบด้วยมาตรา 108 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 เพียงบทเดียว ให้จำคุก 3 เดือน ลดโทษให้กึ่งหนึ่งแล้ว คงจำคุก 1 เดือน 15 วัน และให้ยกฟ้องสำหรับความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเก็บรักษาน้ำมันเชื่อเพลิง พ.ศ.2474 มาตรา 4, 17 และ 48 เมื่อรวมโทษทุกกระทงความผิดแล้วคงจำคุก 5 เดือน โดยไม่มีโทษปรับ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง.

Share