แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองกับพวกที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้องอีก 4 คน ร่วมกันมีปืนเป็นอาวุธทำการปล้นทรัพย์ ได้ความว่าจำเลยที่ 2 มิได้มีอาวุธอะไรเลย และจำเลยที่ 1 มีเพียงมีดปลายแหลมอย่างเดียวเท่านั้น คนร้ายที่มีปืนคือพวกที่ยังจับตัวไม่ได้ ดังนี้ การกระทำของจำเลยทั้งสองไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 ตรี แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 ข้อ 15
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340, 340 ตรี, 83 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 ข้อ 14, 15 ส่วนจำเลยที่ 2 ให้ยกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ตามบทมาตราดังกล่าวด้วย จำเลยที่ 2 ฎีกาดังนี้ แม้จำเลยที่ 1 จะมิได้อุทธรณ์ฎีกา ถ้าศาลฎีกาเห็นว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 ตรี ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 ข้อ 15 ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 ได้ เพราะเป็นเหตุในลักษณะคดี
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับพวกที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้องอีก ๔ คน ได้ร่วมกันมีปืนเป็นอาวุธติดตัวทำการปล้นเอารถยนต์ ๑ คัน ราคา ๕๔,๓๐๐ บาท ของนายกำจร แหวน ๑ วง ราคา ๑,๖๐๐ บาท เงิน ๑๐๐ บาทของนายนิวัฒน์ , นาฬิกาข้อมือ ๑ เรือน ราคา ๓๕๐ บาท เงิน ๑,๘๐๐ บาทของพระสมุห์สมใจ ในการปล้นนี้จำเลยกับพวกได้ร่วมกันใช้อาวุธปืนขู่เข็ญเจ้าทรัพย์ว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย ทั้งนี้เพื่อความสะดวกในการลักทรัพย์ พาเอาทรัพย์นั้นไป ให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์ ยึดถือเอาทรัพย์นั้นไว้ ก่อนคดีนี้จำเลยที่ ๑ เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก ๓ เดือน ปรับ ๑,๐๐๐ บาท โทษจำคุกให้รอไว้มีกำหนด ๓ ปี จำเลยมากระทำผิดในคดีนี้ภายในเวลาที่ศาลรอการลงโทษ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓, ๓๔๐, ๓๔๐ ตรี ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๑ ลงวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๑๔ ข้อ ๑๔, ๑๕ ให้จำเลยร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืน ๓,๘๕๐ บาทแก่เจ้าทรัพย์ และนำเอาโทษของจำเลยที่ ๑ ที่ศาลรอการลงโทษมาบวกกับโทษในคดีนี้
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ จำเลยที่ ๑ รับว่ายังอยู่ในระหว่างรอการลงโทษตามโจทก์ฟ้องจริง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ ๑ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๐, ๓๔๐ ตรี, ๘๓ ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๑๑ ลงวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๑๔ ข้อ ๑๔, ๑๕ ให้จำคุก ๒๔ ปี คำรับชั้นสอบสวนมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ ๑ ใน ๔ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุก ๑๘ ปี บวกโทษที่รอไว้ ๓ เดือนเข้าด้วย รวมเป็นโทษ ๑๘ ปี ๓ เดือน ให้จำเลยที่ ๑ คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืน ๓,๘๕๐ บาทแก่เจ้าทรัพย์ ส่วนจำเลยที่ ๒ ให้ยกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ ขอให้ลงโทษจำเลยที่ ๒
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ ๒ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๐ วรรคสอง, ๓๔๐ ตรี, ๘๓ ให้จำคุก ๑๘ ปี ให้จำเลยที่ ๒ ร่วมกับจำเลยที่ ๑ คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืน ๓,๘๕๐ บาท แก่เจ้าทรัพย์ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้ต้น
จำเลยที่ ๒ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยแล้วฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ ๒ ร่วมทำการปล้นทรัพย์ด้วย แต่ปรากฏว่าจำเลยที่ ๒ มิได้มีอาวุธอะไรเลย จำเลยที่ ๑ มีเพียงมีดปลายแหลมเป็นอาวุธอย่างเดียวเท่านั้น คนร้ายที่มีอาวุธปืนคือพวกของจำเลยที่ยังจับตัวไม่ได้ การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๐ ตรี ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๑ ลงวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๑๔ ข้อ ๑๕ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองตามบทกฎหมายดังกล่าวด้วย จึงยังไม่ถูกต้องและแม้จำเลยที่ ๑ จะมิได้อุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ ๑ ได้ เพราะเป็นเหตุในลักษณะคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๓ ประกอบด้วยมาตรา ๒๒๕ ส่วนในเรื่องราคาทรัพย์นั้น ได้ความตามคำนายวิวัฒน์ เจ้าของทรัพย์ว่าแหวนทองคำราคา ๑,๕๐๐ บาท มิใช่ ๑,๖๐๐ บาท ตามฟ้อง ฉะนั้น ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนจึงรวมเป็นเงิน ๓,๗๕๐ บาทเท่านั้น
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๐ วรรคสอง ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๑ ลงวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๑๔ ข้อ ๑๔ ให้จำคุกจำเลยทั้งสองคนละ ๑๖ ปี จำเลยที่ ๑ รับสารภาพชั้นสอบสวนมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ ๑ ใน ๔ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุก ๑๒ ปี บวกโทษที่รอไว้ ๓ เดือนเข้าด้วย รวมเป็นโทษจำคุก ๑๒ ปี ๓ เดือน และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืน ๓,๗๕๐ บาท แก่เจ้าทรัพย์ด้วย