แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คณะรัฐมนตรีได้ประชุมปรึกษาและลงมติเห็นชอบตามมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบอาชีพงานก่อสร้าง ตามที่สำนักงบประมาณได้ปรับปรุงแล้ว สำหรับการขยายเวลาสัญญาก่อสร้างนั้นให้หัวหน้าส่วนราชการเป็นผู้พิจารณากำหนดระยะเวลาที่สมควรขยายตามความจำเป็นและเหมาะสม ทั้งนี้ ไม่เกิน 90 วัน เป็นมติคณะรัฐมนตรีที่กำหนดให้ เป็นดุลพินิจของหัวหน้าส่วนราชการเป็นผู้พิจารณากำหนดระยะเวลาที่สมควรขยายเวลาก่อสร้างตามความจำเป็นและเหมาะสม หาได้บังคับเด็ดขาดให้โจทก์ซึ่งเป็นส่วนราชการต้องปฏิบัติตามไม่ หากโจทก์พิจารณาแล้วเห็นว่าไม่สมควรขยายเวลาก่อสร้างให้จำเลยจึงย่อมเป็นสิทธิของโจทก์ ไม่เป็นการฝ่าฝืนมติคณะรัฐมนตรีและไม่ใช่ความผิดของโจทก์ เมื่อปรากฎว่าการที่จำเลยส่งมอบงานล่าช้า ไม่เป็นเหตุสุดวิสัยหรือพ้นวิสัย จึงชอบที่ศาลจะมีคำพิพากษาให้จำเลยชำระเบี้ยปรับได้ เบี้ยปรับที่กำหนดไว้ในสัญญา กฎหมายมิได้บังคับเด็ดขาดว่าจะต้องให้เป็นไปตามนั้น ทั้งนี้ต้องพิเคราะห์ถึงทางได้เสียของเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายด้วยมิใช่แก่ทางได้เสียในเชิงทรัพย์สินเท่านั้น เมื่อโจทก์มิได้นำสืบให้ปรากฏชัดแจ้งว่า โจทก์เสียหาย เต็มจำนวนค่าปรับที่กำหนดไว้ในสัญญา ศาลย่อม ใช้ดุลพินิจลดค่าปรับหรือเบี้ยปรับตามสัญญาลงได้ตามที่ บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคแรก หลังจากการทำสัญญาฉบับพิพาทแล้ว ได้เกิดภาวะขาดแคลน ปูนซีเมนต์ และเกิดการจลาจลในกรุงเทพมหานครอันเป็นเหตุที่เกิดขึ้นภายหลังการเข้าทำสัญญา แม้ไม่อาจถือได้ว่าเป็นเหตุสุดวิสัยที่จะทำให้จำเลยพ้นผิดก็ตามแต่พฤติการณ์ดังกล่าวนับเป็นเหตุอันสมควรที่จะลดเบี้ยปรับแก่จำเลยลงได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2533 โจทก์ทำสัญญาจ้างจำเลยที่ 1 ก่อสร้างอาคารสำนักงานอาคารวัสดุการเกษตรและส่วนประกอบอื่น ๆ จำเลยที่ 1 ส่งมอบงานงวดสุดท้ายล่าช้ากว่ากำหนดเป็นเวลา 229 วัน ซึ่งตามสัญญาจ้างจำเลยที่ 1จะต้องเสียเบี้ยปรับให้แก่โจทก์วันละ 9,300 บาท รวมเป็นเงิน2,129,700 บาท แต่โจทก์จะต้องชำระค่าก่อสร้างงวดสุดท้ายให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นเงิน 1,687,000 บาท เมื่อหักกลบลบหนี้กันแล้ว จำเลยที่ 1 ต้องชำระเงินให้แก่โจทก์อีก442,700 บาท ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน442,700 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การและฟ้องแย้งว่า การส่งมอบงานล่าช้ากว่ากำหนดเป็นเพราะเหตุสุดวิสัยหรือพ้นวิสัย และเป็นความผิดของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเบี้ยปรับ ขอให้ยกฟ้องและขอให้โจทก์ชำระค่าก่อสร้างงวดสุดท้ายจำนวน1,687,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนับแต่วันผิดนัดจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่จำเลยที่ 1
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ชำระเงิน 771,000 บาทแก่จำเลยที่ 1 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 12 กรกฎาคม 2536 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า โจทก์ไม่ต้องชำระดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ในต้นเงิน 771,000 บาท ให้แก่จำเลยที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า การที่โจทก์ไม่ต่อสัญญาให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีถือว่าเป็นการขัดคำสั่งเพราะมติคณะรัฐมนตรีถือได้ว่าเป็นคำสั่งที่หน่วยงานของรัฐรวมทั้งโจทก์จะต้องปฏิบัติตาม การที่โจทก์ฝ่าฝืนไม่ขยายระยะเวลาให้จำเลยตามมติคณะรัฐมนตรี ย่อมจะรับฟังมาเป็นเหตุปรับจำเลยทั้งสองในกรณีส่งมอบงานล่าช้าไม่ได้นั้นในประเด็นดังกล่าวคณะรัฐมนตรีได้ประชุมปรึกษาเมื่อวันที่8 ตุลาคม 2534 ลงมติว่า “(1) เห็นชอบตามมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบอาชีพงานก่อสร้างตามที่สำนักงบประมาณได้ปรับปรุงแล้วสำหรับการขยายเวลาสัญญาก่อสร้างนั้นให้หัวหน้าส่วนราชการเป็นผู้พิจารณากำหนดระยะเวลาที่สมควรขยายตามความจำเป็นและเหมาะสม ทั้งนี้ ไม่เกิน 90 วัน” ศาลฎีกาเห็นว่า มติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวกำหนดให้เป็นดุลพินิจของหัวหน้าส่วนราชการเป็นผู้พิจารณากำหนดระยะเวลาที่สมควรขยายเวลาก่อสร้างตามความจำเป็นและเหมาะสม หาได้บังคับเด็ดขาดให้โจทก์ต้องปฏิบัติตามไม่ เมื่อโจทก์พิจารณาแล้วเห็นว่าไม่สมควรขยายเวลาก่อสร้างให้จำเลยที่ 1 อันเป็นสิทธิของโจทก์ จึงไม่เป็นการฝ่าฝืนมติคณะรัฐมนตรีและไม่ใช่ความผิดของโจทก์ การที่จำเลยที่ 1 ส่งมอบงานล่าช้า ไม่เป็นเหตุสุดวิสัยหรือพ้นวิสัยศาลล่างทั้งสองให้จำเลยทั้งสองชำระเบี้ยปรับชอบแล้ว
ส่วนข้อที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ควรได้รับค่าปรับเต็มจำนวนที่กำหนดไว้ในสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.4 และจำเลยทั้งสองฎีกาว่า เบี้ยปรับที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดสูงเกินส่วนนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า แม้สัญญาจ้างเอกสารหมาย ล.4 จะกำหนดค่าปรับในอัตราวันละ 9,300 บาท และจำเลยที่ 1 สมัครใจเข้าทำสัญญากับโจทก์และโจทก์ต้องเสียโอกาสในการประกอบธุรกิจของโจทก์ทั้งสิ้น229 วันก็ตาม แต่เบี้ยปรับที่กำหนดไว้ในสัญญาดังกล่าวกฎหมายมิได้บังคับเด็ดขาดว่าจะต้องให้เป็นไปตามนั้น ทั้งนี้ต้องพิเคราะห์ถึงทางได้เสียของเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายด้วยมิใช่แก่ทางได้เสียในเชิงทรัพย์สินเท่านั้น ดังนั้น เมื่อโจทก์มิได้นำสืบให้ปรากฏชัดแจ้งว่า โจทก์เสียหายเต็มจำนวนค่าปรับที่กำหนดไว้ในสัญญาศาลย่อมใช้ดุลพินิจลดค่าปรับหรือเบี้ยปรับตามสัญญาลงได้ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 383 วรรคแรก เมื่อคำนึงถึงว่าหลังการทำสัญญาตามเอกสารหมาย จ.4 แล้ว ได้เกิดภาวะขาดแคลนปูนซีเมนต์และเกิดการจลาจลในกรุงเทพมหานคร อันเป็นเหตุที่เกิดขึ้นภายหลังการเข้าทำสัญญา แม้ไม่อาจถือได้ว่าเป็นเหตุสุดวิสัยที่จะทำให้จำเลยพ้นผิดก็ตาม แต่พฤติการณ์ดังกล่าวนับเป็นเหตุอันสมควรที่จะลดเบี้ยปรับลงได้ และที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดเบี้ยปรับมานั้นเหมาะสมแก่รูปคดีแล้ว ศาลฎีกาไม่สมควรเปลี่ยนแปลงแก้ไข
พิพากษายืน