คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5681/2538

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่มีข้อกำหนดห้ามโอน 10 ปีตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 31 เป็นที่ดินที่รัฐยังไม่ได้มอบสิทธิครอบครองจนกว่าจะพ้นกำหนดระยะเวลาห้ามโอน ผู้ที่ได้ที่ดินยังไม่มีสิทธิครอบครองไม่ว่าจะตามประมวลกฎหมายที่ดิน หรือประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จึงไม่อาจโอนสิทธิครอบครองให้แก่บุคคลใด จะโอนกันได้ต่อเมื่อพ้นกำหนดเงื่อนไขห้ามโอนแล้ว เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดกหรือโอนให้แก่ทบวงการเมือง องค์การของรัฐบาลตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล รัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติหรือโอนให้แก่สหกรณ์เพื่อชำระหนี้โดยได้รับอนุมัติจากนายทะเบียนสหกรณ์การที่โจทก์อ้างว่า ย.ยกที่ดินและมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้ในระหว่างเวลาที่มีเงื่อนไขห้ามโอน ถือได้ว่า ย. ยังไม่มีสิทธิครอบครอง จึงไม่อาจโอนสิทธิครอบครองให้แก่โจทก์ได้ เมื่อ ย. ถึงแก่กรรมที่ดินพิพาทจึงตกทอดทางมรดกแก่จำเลยซึ่งเป็นทายาท การที่โจทก์ยังคงครอบครองอยู่จึงเป็นการครอบครองแทนทายาทของ ย. โจทก์จะต้องเปลี่ยนลักษณะการครอบครองโดยบอกกล่าวไปยังทายาทของ ย. เพื่อเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือครอบครองแทนมาเป็นยึดถือครอบครองเพื่อตนเสียก่อนจึงจะได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่านายย้อย ปิ่นแม้น บิดาโจทก์ได้ยกที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก) เลขที่ 376 ให้โจทก์โดยจะไปจดทะเบียนโอนให้เมื่อครบกำหนดการห้ามโอนที่ดิน โจทก์ครอบครองทำประโยชน์ปลูกข้าวและธัญ*พืชอื่น ๆ ในที่ดินดังกล่าวตลอดมา ต่อมานายย้อยถึงแก่กรรม จำเลยได้จดทะเบียนรับมรดกที่ดินดังกล่าวเป็นชื่อจำเลย ซึ่งเป็นการโอนโดยไม่สุจริตและไม่มีค่าตอบแทนแทนทำให้โจทก์ผู้อยู่ในฐานะอันจะจดทะเบียนสิทธิได้อยู่ก่อนได้รับความเสียหาย ขอให้พิพากษาว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 376 ให้เพิกถอนการจดทะเบียนรับโอนสิทธิทางมรดกของจำเลยตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าว โดยให้จดทะเบียนเพิกถอนชื่อจำเลยออกจากทะเบียนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์และใส่ชื่อโจทก์เป็นผู้มีสิทธิตามทะเบียนที่ดิน หากจำเลยไม่ไปดำเนินการขอให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การว่าโจทก์ครอบครองที่ดินพิพาทในฐานะผู้เช่า จำเลยจดทะเบียนรับโอนสิทธิทางมรดกที่ดินพิพาทโดยสุจริตและถูกต้องตามกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ระหว่างพิจารณาโจทก์ถึงแก่กรรม นางสาวสำรวย ปิ่นแม้นทายาทของโจทก์ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลอุทธรณ์อนุญาต
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของโจทก์ว่าที่โจทก์อ้างว่านายย้อยได้ยกที่ดินพิพาทและมอบการครอบครองให้แก่โจทก์ในระหว่างเวลาที่มีเงื่อนไขห้ามโอนสิบปีนั้น โจทก์ได้ไปซึ่งสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทแล้วหรือไม่ เห็นว่าประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 31 ได้บัญญัติไว้มีใจความว่า หนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ได้ออกโดยมีข้อกำหนดห้ามโอนภายในสิบปีนับแต่วันที่ได้รับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ห้ามมิให้ผู้ได้มาซึ่งสิทธิในที่ดินดังกล่าวโอนที่ดินนั้นให้แก่ผู้อื่นภายในกำหนดเวลาห้ามโอนดังกล่าวเว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดก หรือโอนให้แก่ทบวงการเมือง องค์การของรัฐบาลตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล รัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติ หรือโอนให้แก่สหกรณ์เพื่อชำระหนี้โดยได้รับอนุมัติจากนายทะเบียนสหกรณ์ และภายในกำหนดระยะเวลาห้ามโอนดังกล่าว ที่ดินนั้นไม่อยู่ในข่ายการบังคับคดี จะเห็นได้ว่าตามบทบัญญัติดังกล่าวที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่รัฐยังไม่มอบสิทธิครอบครองให้แก่นายย้อยจนกว่าจะพ้นกำหนดระยะเวลาห้ามโอนซึ่งกำหนดไว้สิบปีนับแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2521 ดังนั้น ช่วงระยะเวลาที่โจทก์อ้างว่านายย้อยยกให้และมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้โจทก์นั้น จึงต้องถือว่านายย้อยยังไม่มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทตามประมวลกฎหมายที่ดินหรือตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นายย้อยจึงไม่อาจโอนสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ได้โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับโอนก็หาได้สิทธิครอบครองไม่จะโอนกันได้ต่อเมื่อพ้นกำหนดเงื่อนไขห้ามโอนแล้ว แต่ปรากฏว่านายย้อยถึงแก่กรรมดังนั้น ที่ดินพิพาทก็ต้องตกทอดทางมรดกแก่จำเลยซึ่งเป็นทายาทการที่โจทก์ยังครอบครองที่ดินพิพาทอยู่จึงเป็นการครอบครองแทนทายาทของนายย้อย ที่โจทก์ฎีกาว่า กรณีของโจทก์ไม่ต้องมีการเปลี่ยนลักษณะการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1381นั้น เห็นว่ากรณีของโจทก์เป็นการครอบครองแทนนายย้อยและทายาทของนายย้อย โจทก์จะต้องเปลี่ยนลักษณะการครอบครองจากการครอบครองแทนทายาทของนายย้อยมายึดถือเพื่อตน โดยบอกกล่าวไปยังทายาทของนายย้อยเพื่อเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือครอบครองเพื่อตนเสียก่อนโจทก์จึงจะได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share