คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5680/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของศาลแรงงานกลางนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินของจำเลยไว้ก่อน แล้ว หลังจากนั้น จำเลยถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2530 ครั้นวันที่ 29 มิถุนายน 2530 เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์ที่โจทก์นำยึดตามคำสั่งศาล เช่นนี้ จำเลยจะร้องคัดค้านการขายทอดตลาดทรัพย์ดังกล่าวไม่ได้ อำนาจในการดำเนินคดีย่อมตกแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 มาตรา 22
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มาศาลในวันที่ศาลนัดไต่สวนคำร้องของจำเลยที่ขอคัดค้านการขายทอดตลาดทรัพย์ เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นผู้มีอำนาจดำเนินคดีแทนจำเลย ย่อมมีอำนาจจะคุ้มครองป้องกันสิทธิของจำเลยทุกประการ ศาลจึงไม่มีหน้าที่จะต้องสอบถามเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่า ประสงค์จะดำเนินคดีต่อไปหรือไม่

ย่อยาว

คดีนี้ มูลกรณีสืบเนื่องมาแต่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยผู้เป็นนายจ้างชำระค่าจ้างค้างจ่ายแก่บรรดาโจทก์ผู้เป็นลูกจ้าง เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดทรัพย์ของจำเลยรวม ๓๑ รายการ เพื่อบังคับคดีนำเงินชำระหนี้ตามคำพิพากษา หลังจากนั้น วันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๓๐ ศาลแพ่งมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลย ครั้นวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๓๐ เจ้าพนักงานบังคับคดีโดยคำสั่งอนุญาตของศาลจังหวัดสมุทรปราการผู้ดำเนินการบังคับคดีแทนศาลแรงงานกลาง ได้ขายทรัพย์สินที่ยึดให้แก่ผู้ประมูลซื้อในราคา ๑,๑๒๐,๐๐๐ บาท
วันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๓๐ จำเลยยื่นคำร้องว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีมิได้จัดการแยกขาย หรือรวมขายเป็นกองย่อย ซึ่งจะทำให้การขายได้เงินมากขึ้น และการขายส่อไปในทางไม่สุจริต กล่าวคือ โจทก์กับเจ้าพนักงานบังคับคดีตีราคาทรัพย์สินต่ำผิดปกติ ทั้งผู้ที่ร่วมประมูลซื้อประมาณ ๑๐ รายการ ประกอบอาชีพเป็นกรรมกรสามล้อ หรือรับจ้างมีรายได้ต่ำ อันเป็นการพรางให้เห็นว่ามีผู้ร่วมประมูลโดยสุจริต ขอให้ส่งสำนวนไปศาลฎีกาเพื่อสั่งให้ศาลแรงงานกลางขายทอดตลาดใหม่
ในวันนัดไต่สวนคำร้องของจำเลย เจ้าหนักงานพิทักษ์ทรัพย์มาศาลด้วย จำเลยรับว่า ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดตั้งแต่วันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๓๐ จริง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เท่านั้นที่จะเข้ามาดำเนินการต่อไปตามพระราชบัญญัติล้มละลาย มาตรา ๒๒ (๑) (๓) ได้ จำเลยไม่มีอำนาจเข้ามายื่นคำร้องคัดค้านการขายทอดตลาด มีคำสั่งยกคำร้องของจำเลย
จำเลยอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว จำเลยอุทธรณ์เป็นข้อแรกว่า พระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช ๒๔๘๓ มาตรา ๒๒ (๓) ใช้บังคับแก่คดีที่ค้างพิจารณา เท่านั้น หาใช่บังคับแก่คดีในชั้นบังคับคดีไม่ คดีนี้ ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยแพ้คดีก่อนแล้ว ต่อมาจำเลยจึงถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด คดีล่วงมาจนถึงชั้นบังคับคดีแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หามีอำนาจดำเนินคดีแทนจำเลยไม่ พิเคราะห์แล้ว พระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช ๒๔๘๓ มาตรา ๒๒ บัญญัติว่า
“เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้แล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวมีอำนาจดังต่อไปนี้
(๑) จัดการและจำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้ หรือกระทำการที่จำเป็น เพื่อให้กิจการของลูกหนี้ที่ค้างอยู่เสร็จสิ้นไป
(๒) เก็บรวบรวมและรับเงิน หรือทรัพย์สินที่จะตกได้แก่ลูกหนี้ หรือซึ่งลูกหนี้มีสิทธิจะได้รับจากผู้อื่น
(๓) ประนีประนอมยอมความ หรือฟ้องร้อง หรือต่อสู้คดีใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้”
ศาลฎีกาเห็นว่า บทมาตราดังกล่าวบัญญัติไว้แจ้งชัดว่า เมื่อลูกหนี้ถูกพิทักษ์ทรัพย์แล้ว ลูกหนี้หามีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับทรัพย์สินไม่ ไม่ว่าในชั้นพิจารณาหรือชั้นบังคับคดี เพราะกฎหมายบัญญัติให้เป็นอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ “แต่ผู้เดียว” ไม่ว่าลูกหนี้จะเป็นโจทก์มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง มีสิทธิขับไล่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจากห้องพิพาท หรือแม้ลูกหนี้จะขอทุเลาการบังคับในคดีที่ตนถูกฟ้อง หรือแม้แต่กรณีนี้อำนาจในการดำเนินคดีย่อมตกแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามมาตรา ๒๒ ทั้งสิ้น
จำเลยอุทธรณ์เป็นข้อที่สองว่า ในวันที่ศาลมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยนั้น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก็มาศาลด้วย หากจำเลยไม่มีอำนาจดำเนินคดีตามคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลาง ศาลแรงงานกลางก็ชอบที่จะสอบถามเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก่อนว่าประสงค์จะดำเนินคดีต่อไปหรือไม่ ที่สั่งยกคำร้องของจำเลยโดยไม่สอบถามเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก่อนหาชอบไม่ ข้อนี้เห็นว่า เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นผู้มีอำนาจดำเนินคดีแทนจำเลย ตกเป็นฝ่ายจำเลยย่อมมีอำนาจจะคุ้มครองป้องกันสิทธิของจำเลยทุกอย่างทุกประการ ศาลพึงดำรงตนอยู่ท่ามกลางคู่ความ หามีหน้าที่จะคุ้มครองป้องกันสิทธิอันเกี่ยวด้วยทรัพย์สินของคู่ความฝ่ายใดไม่ ซึ่งจำเลยจะกะเกณฑ์ให้ศาลมีหน้าที่ตามที่จำเลยอุทธรณ์นั้นหาชอบไม่ ทั้งไม่มีกฎหมายใดสนับสนุนให้ศาลมีหน้าที่เช่นว่านั้น
พิพากษายืน

Share