แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การที่จะลงโทษจำเลยในคดีที่จำเลยรับสารภาพนั้นต้องอาศัยคำฟ้องและการจะฟ้องขอให้ลงโทษผู้ใดตามกฎหมายต้องเป็นเรื่องที่ผู้นั้นได้กระทำความผิดมาแล้วก่อนวันที่โจทก์ฟ้อง จะฟ้องล่วงหน้าว่าจำเลยกระทำความผิดหาได้ไม่ แม้จำเลยจะรับสารภาพก็เป็นการรับสารภาพตามฟ้องที่ไม่เป็นความผิดและแม้จำเลยจะมิได้ยกความข้อนี้ขึ้นต่อสู้ศาลก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 4, 6, 8, 9, 14, 31, 35 พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 7, 11, 48, 69, 73, 74, 74 ทวิ, 74 จัตวาประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 ริบของกลางและจ่ายเงินสินบนนำจับแก่ผู้นำจับตามกฎหมาย
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 4, 6, 8, 9, 14, 31, 35พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 7, 11, 48, 69, 73, 74,74 ทวิ, 74 จัตวา ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 อันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91ฐานทำไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ฯซึ่งเป็นบทหนัก จำคุกคนละ 1 ปี กระทงหนึ่ง ฐานมีไม้สักอันยังมิได้แปรรูปจำคุกคนละ 1 ปี กระทงหนึ่ง ฐานแปรรูปไม้โดยไม่ได้รับอนุญาตจำคุกคนละ 1 ปี กระทงหนึ่ง และฐานมีไม้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกคนละ 1 ปี อีกกระทงหนึ่ง รวมให้จำคุกคนละ 4 ปี จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78คงจำคุกคนละ 2 ปี ของกลางริบ ส่วนคำขอให้จ่ายเงินสินบนนำจับให้ยกเนื่องจากศาลมิได้ลงโทษปรับ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบา และรอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “การที่จะลงโทษจำเลยในคดีที่จำเลยรับสารภาพนั้นต้องอาศัยคำฟ้อง และการจะฟ้องขอให้ลงโทษผู้ใดตามกฎหมายต้องเป็นเรื่องที่ผู้นั้นได้กระทำผิดมาแล้วก่อนวันที่โจทก์ฟ้องจะฟ้องล่วงหน้าว่าจำเลยกระทำผิดหาได้ไม่ แม้จำเลยจะรับสารภาพก็เป็นการรับสารภาพตามฟ้องที่ไม่เป็นความผิด คดีนี้ปรากฏว่าโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2536 กล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดในวันที่ 28 ธันวาคม 2536 ซึ่งเป็นการกล่าวหาว่าจำเลยกระทำผิดภายหลังวันที่โจทก์ฟ้อง แม้จำเลยจะมิได้ยกความข้อนี้ขึ้นต่อสู้ ศาลก็ยกขึ้นพิจารณาวินิจฉัยได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2พิพากษายกฟ้องชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน