แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในการพิพากษาคดีอาญาหาได้มีบทบัญญัติของกฎหมาย ให้ศาลจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาในคดีอื่นดังเช่นที่บัญญัติไว้สำหรับคดีแพ่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ไม่ แม้โจทก์ทั้งสามกับบริษัท ส. ซึ่งมีจำเลยเป็นกรรมการผู้จัดการ จะเป็นคู่ความเดียวกันและพยานหลักฐานของจำเลยจะเป็นชุดเดียวกันกับจำเลยเคยอ้างและนำสืบในคดีอาญาก่อนมาแล้วก็ตาม เพราะในคดีอาญาศาลจะต้องใช้ดุลพินิจวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวง จะไม่พิพากษาลงโทษจนกว่าจะแน่ใจว่ามีการกระทำความผิดจริงและจำเลยเป็นผู้กระทำความผิด ฉะนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยคดีนี้โดยฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีอาญาก่อนซึ่งถึงที่สุด โดยมิได้วินิจฉัยตามพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวนคดีนี้ จึงเป็นการไม่ชอบ เป็นการขัดต่อ ป.วิ.อ. มาตรา 186 (5) และมาตรา 227 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสามฟ้องและแก้ไขฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177, 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นายธีรภัณฑ์ โจทก์ที่ 3 ถึงแก่ความตาย นายดุสิต บุตรของโจทก์ที่ 3 ยื่นคำร้องขอเข้าดำเนินคดีต่างผู้ตาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 วรรคสอง จำคุก 1 ปี 6 เดือน
โจทก์ทั้งสามและจำเลยอุทธรณ์
ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 3 โจทก์ที่ 2 ถึงแก่ความตาย นายพงศธร บุตรของโจทก์ที่ 2 ยื่นคำร้องขอเข้าดำเนินคดีต่างผู้ตาย ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำสั่งอนุญาต
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่คู่ความรับกันและไม่ได้โต้แย้งกันในชั้นฎีกาฟังได้ว่า บริษัทเสรีภัณฑ์การโยธาและก่อสร้าง จำกัด ทำสัญญารับจ้างกรมทางหลวงสร้างทางสายพิมาย – หินดาด ตามที่ประมูลได้ โดยแบ่งงานเป็น 16 งวด ต่อมาบริษัทเสรีภัณฑ์การโยธาและก่อสร้าง จำกัด ทำสัญญาจ้างเหมาช่วงให้โจทก์ที่ 1 สร้างทางสายดังกล่าวตั้งแต่งวดที่ 8 ถึง 16 ต่อจากที่บริษัทได้สร้างไว้ตามหนังสือสัญญาจ้างและข้อตกลงต่อท้ายสัญญาและมอบเครื่องจักรให้โจทก์ที่ 1 ใช้ในการก่อสร้างทาง ในระหว่างงวดงานที่ 15 โจทก์ที่ 1 ได้ขนย้ายเครื่องจักรไป ต่อมาบริษัทเสรีภัณฑ์การโยธาและก่อสร้าง จำกัด โดยจำเลยซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการได้มอบอำนาจให้นายธนศักดิ์ น้องของจำเลยไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจกล่าวหาว่า โจทก์ทั้งสามร่วมกันลักทรัพย์ในเวลากลางคืน คือ ลักเครื่องจักรซึ่งเป็นของบริษัทเสรีภัณฑ์การโยธาและก่อสร้าง จำกัดไป ภายหลังพนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องกล่าวหาโจทก์ทั้งสามตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1155/2529 หมายเลขแดงที่ 606/2533 ของศาลชั้นต้นว่า โจทก์ทั้งสามร่วมกันลักเครื่องจักรของบริษัทไปและบริษัทเสรีภัณฑ์การโยธาและก่อสร้าง จำกัด ได้ขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการในคดีดังกล่าว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต ในชั้นพิจารณาเมื่อจำเลยได้เบิกความในคดีสรุปความได้ว่า เมื่อจำเลยที่ 1 (โจทก์ที่ 1 คดีนี้) ได้เข้าทำงานสร้างถนนต่อ จำเลยที่ 1 ได้ยืมเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่าง ๆ เครื่องจักรนั้นเป็นของโจทก์ร่วม (บริษัทเสรีภัณฑ์การโยธาและก่อสร้าง จำกัด คดีนี้) จำเลยที่ 1 ไม่เคยติดต่อจะซื้อเครื่องจักรกับโจทก์ร่วมเลยและจำเลยที่ 3 (โจทก์ที่ 3 คดีนี้) สั่งจ่ายเช็คให้จำเลยคดีนี้ 200,000 บาท เป็นค่าตอบแทนในการเข้าทำงานและเครื่องจักรให้ยืมไปใช้มิได้มอบการครอบครองให้ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งสาม(โจทก์ทั้งสามคดีนี้) มีความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์ในเวลากลางคืน ต่อมาศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องและคดีถึงที่สุดโดยศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า บริษัทเสรีภัณฑ์การโยธาและก่อสร้าง จำกัด ได้ขายเครื่องจักรให้แก่โจทก์ที่ 1 โดยมีการชำระราคาแล้ว กรรมสิทธิ์ในเครื่องจักรที่ขายจึงโอนไปยังโจทก์ที่ 1 โจทก์ทั้งสามไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์ พิพากษายืน
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 นำข้อเท็จจริงในคดีอาญาคดีก่อนซึ่งศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า บริษัทเสรีภัณฑ์การโยธาและก่อสร้าง จำกัด ขายเครื่องจักรที่ใช้งานสร้างทางให้แก่โจทก์ที่ 1 แล้ว มารับฟังและวินิจฉัยเป็นการรับฟังข้อเท็จจริงนอกเหนือจากที่ปรากฏในสำนวนหรือไม่ เห็นว่า ในการพิพากษาคดีอาญาหาได้มีบทบัญญัติของกฎหมายให้ศาลจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาในคดีอื่นดังเช่นที่บัญญัติไว้สำหรับคดีแพ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 นั้นไม่ แม้โจทก์ทั้งสามกับบริษัทเสรีภัณฑ์การโยธาและก่อสร้าง จำกัด ซึ่งมีจำเลยเป็นกรรมการผู้จัดการ จะเป็นคู่ความเดียวกันและพยานหลักฐานของจำเลยจะเป็นชุดเดียวกันกับจำเลยเคยอ้างและนำสืบในคดีอาญาก่อนมาแล้วก็ตาม เพราะในคดีอาญาศาลจะต้องใช้ดุลพินิจวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวง จะไม่พิพากษาลงโทษจำเลยจนกว่าจะแน่ใจว่ามีการกระทำความผิดจริงและจำเลยเป็นผู้กระทำความผิด ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยคดีนี้โดยฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีก่อนซึ่งถึงที่สุด โดยมิได้วินิจฉัยตามพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวนคดีนี้ จึงเป็นการไม่ชอบ เป็นการขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 186 (5) และมาตรา 227 ฎีกาของจำเลยในประเด็นนี้ฟังขึ้น แต่เมื่อคดีขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแล้ว เพื่อมิให้คดีต้องล่าช้า ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยคดีไปโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาใหม่
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยต่อไปว่า การที่จำเลยเบิกความในคดีอาญาคดีก่อนตามฟ้องโจทก์เป็นการเบิกความตามความเป็นจริงและโดยสุจริตหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาสรุปความได้ว่า ข้อเท็จจริงแห่งคดีนี้เป็นความจริงดังที่จำเลยเบิกความในคดีอาญาคดีก่อน กล่าวคือ จำเลยในฐานะกรรมการผู้จัดการบริษัทเสรีภัณฑ์การโยธาและก่อสร้าง จำกัด ให้โจทก์ที่ 1 ยืมเครื่องจักรที่โจทก์ทั้งสามลักไปเพื่อใช้ในการสร้างทางต่อตามที่โจทก์ที่ 1 รับเหมาช่วงกับบริษัท จำเลยในฐานะกรรมการผู้จัดการบริษัทมิได้ขายเครื่องจักรให้แก่โจทก์ที่ 1 จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานเบิกความเท็จตามฟ้องโจทก์ เห็นว่า พยานโจทก์ทั้งสามมีโจทก์ที่ 3 ซึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจโจทก์ที่ 1 มาเบิกความว่า บริษัทเสรีภัณฑ์การโยธาและก่อสร้าง จำกัด ว่าจ้างโจทก์ที่ 1 สร้างทางสายพิมาย – หินดาด งวดงานที่ 8 ถึง 16 ต่อจากที่บริษัทเสรีภัณฑ์การโยธาและก่อสร้าง จำกัด ได้ทำไว้ โดยตกลงขายเครื่องจักรให้แก่โจทก์ที่ 1 ในราคา 16,000,000 บาท แต่ภายหลังบริษัทส่งมอบเครื่องจักรให้ไม่ครบ จึงมีการหักราคาเครื่องจักรไปบางส่วน คงเหลือราคาเครื่องจักร 6,470,000 บาท และมีการทำหนังสือส่งมอบเครื่องจักรกันไว้ปรากฏตามหนังสือสัญญาจ้างและข้อตกลงต่อท้ายสัญญา บัญชีเครื่องจักรและหนังสือส่งมอบรถและเครื่องจักร ในการชำระราคาเครื่องจักร โจทก์ที่ 1 วางเงินมัดจำให้แก่จำเลย 200,000 บาท และภายหลังได้ชำระราคาให้แก่จำเลยอีก 50,000 บาท โดยชำระด้วยเช็คและมีการเรียกเก็บเงินตามเช็คแล้วตามสำเนาเช็คและใบรับเช็คกับเช็คและต้นขั้วเช็ค ราคาส่วนที่เหลือจำเลยได้มีหนังสือถึงธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สำนักงานใหญ่ ให้หักเงินค่าจ้างที่โจทก์ที่ 1 จะได้รับเป็นค่าเครื่องจักรและค่ากล้อง 6,500,000 บาท ตามหนังสือเรื่องขอให้ช่วยหักเงินผู้รับเหมา ซึ่งธนาคารได้หักเงินให้บริษัทเสรีภัณฑ์การโยธาและก่อสร้าง จำกัด แล้ว ส่วนจำเลยเบิกความว่า โจทก์ที่ 1 ยืมเครื่องจักรของบริษัทเสรีภัณฑ์การโยธาและก่อสร้าง จำกัด ไปใช้ ดังนี้ พยานหลักฐานรวมทั้งคำเบิกความของจำเลยล้วนขัดกับหลักฐาน คือ ข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจ้างและหนังสือที่จำเลยมีถึงธนาคารให้หักเงินชำระค่าเครื่องจักร ซึ่งหากเป็นการยืมกันจริงจำเลยก็น่าจะทำหลักฐานกันไว้ว่าเป็นเรื่องยืมเครื่องจักร ไม่มีเหตุผลใดที่จะต้องมาทำหลักฐานกันไว้ว่าเป็นเรื่องซื้อขายเครื่องจักรให้ขัดแย้งกับที่จำเลยอ้างเช่นนั้น ทั้งจำเลยเองก็เบิกความรับว่าจำเลยไม่รู้จักโจทก์ทั้งสามมาก่อน ยิ่งไม่สมเหตุผลว่าจะให้บุคคลที่เพิ่งรู้จักและเพิ่งติดต่อธุรกิจกันยืมเครื่องจักรซึ่งมีมูลค่าค่อนข้างสูงไปใช้โดยมิได้ทำหลักฐานใด ๆ กันไว้ อันเป็นเรื่องที่ผิดปกติวิสัยของบุคคลที่ประกอบธุรกิจเยี่ยงจำเลย ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า บริษัทเสรีภัณฑ์การโยธาและก่อสร้าง จำกัด ได้ขายเครื่องจักรให้แก่โจทก์ที่ 1 แล้ว ที่จำเลยนำสืบและฎีกาอ้างมาในทำนองว่า ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ยังมิได้หักเงินค่าเครื่องจักร 6,470,000 บาท ให้แก่บริษัทเสรีภัณฑ์การโยธาและก่อสร้าง จำกัด ก็ไม่ใช่เป็นประเด็นโดยตรงแห่งคดีและไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป เพราะเมื่อพยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสามตามที่วินิจฉัยมาฟังได้แล้วว่า โจทก์ที่ 1 กับบริษัทเสรีภัณฑ์การโยธาและก่อสร้าง จำกัด ตกลงซื้อขายเครื่องจักรกัน กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินย่อมโอนไปยังโจทก์ที่ 1 ทันที การชำระราคาหาใช่เป็นเงื่อนไขแห่งการโอนกรรมสิทธิ์ไม่ พยานหลักฐานของจำเลยจึงไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานโจทก์ทั้งสามได้ ฉะนั้น การที่จำเลยเบิกความต่อศาลในคดีอาญาคดีก่อนว่าเป็นเรื่องให้ยืมเครื่องจักร ไม่เคยติดต่อซื้อขายเครื่องจักรให้แก่โจทก์ที่ 1 โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นความเท็จเพราะขัดแย้งกับเอกสารและเหตุผลตามที่กล่าวมา และข้อความดังกล่าวเป็นข้อสำคัญในคดีที่มีผลต่อการวินิจฉัยชี้ขาดคดีของศาลในการพิจารณาคดีอาญาถึงขนาดเป็นผลให้แพ้ชนะคดีกัน การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานเบิกความเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามา ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษปรับ 10,000 บาท อีกสถานหนึ่ง โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี นับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยฟัง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3