คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5677/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เงินได้จากการขายที่ดินโดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไร ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากร มาตรา 48(4) หรือไม่นั้นมุ่งหมายถึงเจตนาในการได้มาเป็นข้อสำคัญ และพิจารณาถึงพฤติการณ์ในระหว่างที่ผู้นั้นถือครองอยู่ก่อนที่จะขายและขณะที่ขายเป็นส่วนประกอบด้วย ที่ดินที่โจทก์ได้มาทั้งสามแปลงนั้นเป็นที่ดินแปลงใหญ่หลังจากนั้นก็ได้แบ่งแยกที่ดินดังกล่าวออกเป็นแปลงย่อยมากกว่า 70 แปลง โดยที่ดินทุกแปลงต่างมีถนนตัดผ่าน ลักษณะที่โจทก์กระทำเช่นนั้นย่อมมิใช่จุดประสงค์ที่จะนำที่ดินที่แบ่งเป็นแปลงย่อยเพื่อไปทำนา โจทก์ยอมรับว่าเหตุที่กระทำไปก็เพื่อจะนำที่ดินไปขายง่ายขึ้น อีกทั้งโจทก์ยังได้ซื้อที่ดินเพิ่มอีกหลายแปลงเพื่อนำไปจัดสรรขายและให้ผู้อื่นเช่าทำนา แสดงให้เห็นว่าโจทก์หาได้มีอาชีพทำนาเพียงอย่างเดียวไม่ แต่ได้ประกอบอาชีพเป็นผู้จัดสรรที่ดินไว้เพื่อขายด้วยและเมื่อตรวจดูสัญญาซื้อขายที่ดินก็มีข้อสัญญาชี้ชัดให้เห็นได้ว่าการขายที่ดินของโจทก์มีลักษณะเป็นเชิงธุรกิจโดยมีการวางมัดจำผ่อนชำระเป็นงวด และต้องจ่ายค่าดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อเดือนของค่าที่ดินที่ค้างชำระจนกว่าจะชำระหมด และแม้ว่าปัจจุบันนี้โจทก์ยังถือครองที่ดินอยู่หลายแปลงก็ตาม เมื่อโจทก์มีที่ดินจำนวนมาก ก็เป็นการยากที่จะขายให้หมดในชั่วระยะเวลาอันสั้นที่ดินแปลงใดอยู่ในที่ทำเลดีกว่าก็ย่อมขายได้ก่อน ที่ดินเปล่าที่อยู่ห่างไกลออกไปย่อมขายได้ช้ากว่า ซึ่งเป็นเรื่องปกติหาได้บ่งชี้ให้เห็นว่าโจทก์เก็บที่ดินดังกล่าวไว้เพื่อทำนา โจทก์เลิกทำนามานานร่วม 20 ปีแล้ว ประกอบกับในระหว่างที่โจทก์ขายที่ดินในปีภาษีที่ถูกประเมินนั้น โจทก์ยังประกอบการค้าโดยจดทะเบียนการค้าประเภทอสังหาริมทรัพย์อยู่ ดังนั้น แม้โจทก์จะเป็นเจ้าของและครอบครองที่ดินดังกล่าวมานานนับสิบปีก็ตามแต่เมื่อพิจารณาถึงการได้มาที่ดินทั้งสามแปลงของโจทก์ กับพฤติการณ์ต่าง ๆ ที่โจทก์ดำเนินการเกี่ยวกับที่ดินดังกล่าว และลักษณะในการขายที่ดินเข้าด้วยกันแล้ว เงินได้ที่โจทก์ได้มาจากการขายที่ดินจึงเป็นเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยมุ่งในการค้าหรือกำไรในการคำนวณภาษีเงินได้ดังกล่าวโจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะเลือกเสียภาษีโดยไม่ต้องนำมาคำนวณภาษีในการยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษี เพราะเงินได้ของโจทก์ที่ได้รับมามิใช่เป็นเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไรตามที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากร มาตรา 48(4) และกรณีเช่นนี้โจทก์จะหักค่าใช้จ่ายตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมินจากการขายอสังหาริมทรัพย์ (ฉบับที่ 165)พ.ศ.2529 ตามมาตรา 48(4)(ข) ไม่ได้เช่นกัน อุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่าโจทก์มีสิทธิหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาในอัตราร้อยละ 61 ตาม ประมวลรัษฎากร มาตรา 46 ประกอบด้วยพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน(ฉบับที่ 11) พ.ศ.2502 มาตรา 8(42) นั้น ปัญหาข้อนี้โจทก์มิได้อ้างมาในคำฟ้อง จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคแรกประกอบด้วย พระราชบัญญัติจัดตั้งภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรพ.ศ.2528 มาตรา 29 เมื่อการขายที่ดินของโจทก์เป็นการขายในลักษณะจัดสรรจึงเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ในทางการค้าหรือกำไร ทั้งโจทก์ได้จดทะเบียนการค้าประเภทการค้าอสังหาริมทรัพย์ไว้ด้วยย่อมเข้าลักษณะเป็นผู้ประกอบการค้าอสังหาริมทรัพย์ตามบัญชีอัตราภาษีการค้าประเภทการค้า 11 โจทก์ได้ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีทั้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีการค้าไว้แล้ว แต่เนื่องจากปัญหาของโจทก์เป็นเรื่องเกี่ยวกับข้อกฎหมายซึ่งยุ่งยากต่อการตีความเพราะแม้แต่ความเห็นของเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษีและเจ้าหน้าที่ฝ่ายควบคุมของจำเลยยังขัดกันอยู่ โจทก์ในฐานะราษฎรธรรมดาผู้ไม่มีความรู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย จึงยากต่อการเข้าใจข้อกฎหมายดังกล่าวได้จึงเป็นเหตุให้โจทก์ยื่นเสียภาษีไว้ผิดพลาดไปโดยไม่มีเจตนาที่จะหลีกเลี่ยง อีกทั้งโจทก์ก็ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบมาตั้งแต่ต้น กรณีจึงมีเหตุสมควรให้งดเบี้ยปรับภาษี เงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีการค้าให้แก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้เลขที่ 1038/1/100485 ถึง 100487 หนังสือแจ้งภาษีการค้าเลขที่ 1038/4/101594 ถึง 101596 รวม 6 ฉบับ และคำวินิจฉัยอุทธรณ์เลขที่ 222 ก,ข,ค/2538/1 และ 223 ก,ข,ค/2538/1รวม 6 ฉบับ และงดเบี้ยปรับเงินเพิ่มตามหนังสือแจ้งการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวด้วย
จำเลยให้การว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบแล้วขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้เลขที่ 1038/1/100485 ถึง 100487 หนังสือแจ้งภาษีการค้าเลขที่ 1038/4/101594 ถึง 101596 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์เลขที่ 222 ก,ข,ค/2538/1 และ 223 ก,ข,ค/2538/1 เฉพาะเบี้ยปรับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและเบี้ยปรับภาษีการค้า คำขออื่นให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า เงินได้จากการขายที่ดินโดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไรตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา48(4) ดังกล่าวหรือไม่นั้นมุ่งหมายถึงเจตนาอยู่ก่อนที่จะขาย และขณะที่ขายเป็นส่วนประกอบด้วยปรากฏว่าที่ดินที่โจทก์ได้มาทั้งสามแปลงนั้นเป็นที่ดินแปลงใหญ่ หลังจากนั้นก็ได้แบ่งแยกที่ดินดังกล่าวออกเป็นแปลงย่อยมากกว่า 70 แปลงโดยที่ดินทุกแปลงต่างมีถนนตัดผ่าน ลักษณะที่โจทก์กระทำเช่นนั้นย่อมมิใช่จุดประสงค์ที่จะนำที่ดินที่แบ่งเป็นแปลงย่อยเพื่อไปทำนาแต่อย่างใด ซึ่งโจทก์ก็เบิกความยอมรับว่า เหตุที่กระทำไปก็เพื่อจะนำที่ดินไปขายง่ายขึ้น ทั้งยังได้ความจากคำให้การของโจทก์ที่เคยให้การไว้เมื่อโจทก์ถูกหมายเรียกให้มาตรวจสอบเพื่อประเมินภาษีประจำปี 2523, 2524 และ 2526 ตามเอกสารหมาย ล.5 แผ่นที่ 39 ถึง 42 ว่า นอกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 1122,2022 และที่ 1265 ที่โจทก์ได้มาดังกล่าวแล้ว ในระหว่างนั้นโจทก์ยังได้ซื้อที่ดินเพิ่มอีกหลายแปลงเพื่อนำไปจัดสรรขายและให้ผู้อื่นเช่าทำนา แสดงให้เห็นว่าโจทก์หาได้มีอาชีพทำนาเพียงอย่างเดียวไม่ แต่ได้ประกอบอาชีพเป็นผู้จัดสรรที่ดินไว้เพื่อขายซึ่งสอดคล้องกับคำเบิกความของโจทก์ดังกล่าวด้วยและเมื่อตรวจดูสัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์กับนาวาตรีนุภาพ ขำผิวพรรณ และนางนฤมล ขำผิวพรรณประกอบด้วยคำให้การของนาวาตรีนุภาพต่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 39 ถึง 41 แล้วยังชี้ชัดให้เห็นได้ว่าการขายที่ดินของโจทก์มีลักษณะเป็นเชิงธุรกิจโดยมีการวางเงินมัดจำ ผ่อนชำระเป็นงวดและต้องจ่ายค่าดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อเดือน ของค่าที่ดินที่ค้างชำระจนกว่าจะชำระหมดสำหรับข้ออ้างของโจทก์อีกข้อที่ว่าโจทก์ขายที่ดินเนื่องจากต้องนำเงินไปชำระหนี้นั้นก็เลื่อนลอยเพราะโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานใดที่สนับสนุนให้เห็นเช่นนั้นได้ ส่วนข้อที่โจทก์อ้างว่าปัจจุบันนี้โจทก์ยังถือครองที่ดินอยู่หลายแปลงนั้น เห็นว่าเมื่อโจทก์มีที่ดินจำนวนมากเช่นนี้ ก็เป็นการยากที่จะขายให้หมดในชั่วระยะเวลาอันสั้น ที่ดินแปลงใดอยู่ในที่ทำเลดีกว่าก็ย่อมขายได้ก่อน ที่อยู่ห่างไกลออกไปย่อมขายได้ช้ากว่า ซึ่งเป็นเรื่องปกติ หาได้บ่งชี้ให้เห็นว่าโจทก์เก็บที่ดินดังกล่าวไว้เพื่อทำนาทั้งนี้ได้ความจากคำเบิกความของนายสุรัตน์ ชีวะหงษ์พยานโจทก์ว่า โจทก์เลิกทำนามานานร่วม 20 ปีแล้ว ประกอบกับในระหว่างที่โจทก์ขายที่ดินในปีภาษีที่ถูกประเมินนั้น โจทก์ยังประกอบการค้าโดยจดทะเบียนการค้าประเภทอสังหาริมทรัพย์อยู่ ดังนั้น แม้โจทก์จะเป็นเจ้าของและครอบครองที่ดินดังกล่าวมานานนับสิบปีก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาถึงการได้มาที่ดินทั้งสามแปลงของโจทก์ กับพฤติการณ์ต่าง ๆ ที่โจทก์ดำเนินการเกี่ยวกับที่ดินดังกล่าว และลักษณะในการขายที่ดินเข้าด้วยกันแล้วเงินได้ที่โจทก์ได้มาจากการขายที่ดินตามที่โจทก์อุทธรณ์มานั้นจึงเป็นเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยมุ่งในการค้าหรือกำไรในการคำนวณภาษีเงินได้ดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะเลือกเสียภาษีโดยไม่ต้องนำมาคำนวณภาษีในการยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษี เพราะเงินได้ของโจทก์ที่ได้รับมามิใช่เป็นเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยมิได้มุ่ง>ในทางการค้าหรือหากำไรตามที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากร มาตรา 48(4) และกรณีเช่นนี้โจทก์จะหักค่าใช้จ่ายตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมินจากการขายอสังหาริมทรัพย์ (ฉบับที่ 165) พ.ศ. 2529 ตามมาตรา 48(4)(ข) ไม่ได้เช่นกัน
อุทธรณ์ของโจทก์ประการต่อไปเกี่ยวกับข้อที่ว่าโจทก์มีสิทธิหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาะในอัตราร้อยละ 61 ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 46 ประกอบกับพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2502มาตรา 8(42) หรือไม่นั้น เห็นว่า ปัญหาข้อนี้ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้อ้างมาในคำฟ้อง จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคแรกประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 29
อุทธรณ์ของโจทก์ประการสุดท้ายเกี่ยวกับรายรับจากการขายที่ดินของโจทก์สำหรับเดือนธันวาคม 2530 เดือนกุมภาพันธ์ 2531 และเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมิถุนายน 2532 เข้าลักษณะเป็นการประกอบการค้าตามประเภทการค้า 11 การค้าอสังหาริมทรัพย์แห่งบัญชีอัตราภาษีการค้าหรือไม่นั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่ได้วินิจฉัยมาแล้วว่าการขายที่ดินของโจทก์เป็นการขายในลักษณะจัดสรรจึงเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ในทางการค้าหรือกำไรทั้งโจทก์ได้จดทะเบียนการค้าประเภทการค้าอสังหาริมทรัพย์ไว้ด้วย ย่อมเข้าลักษณะเป็นผู้ประกอบการค้าประเภทการค้าอสังหาริมทรัพย์ และบัญชีอัตราภาษีการค้าประเภทการค้า 11โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องนำรายรับมาเสียภาษีการค้า
สำหรับอุทธรณ์ของจำเลยเกี่ยวกับเรื่องควรงดเบี้ยปรับให้โจทก์หรือไม่นั้น เห็นว่า โจทก์ได้ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีทั้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีการค้าไว้แล้ว แต่เนื่องจากปัญหาของโจทก์เป็นเรื่องเกี่ยวกับข้อกฎหมายซึ่งยุ่งยากต่อการตีความดังจะเห็นได้จากความเห็นของเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษีและเจ้าหน้าที่ฝ่ายควบคุมของจำเลยยังขัดกันอยู่ โจทก์ในฐานะราษฎรธรรมดาผู้ไม่มีความรู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย จึงยากต่อการเข้าใจข้อกฎหมายดังกล่าวได้ จึงเป็นเหตุให้โจทก์ยื่นเสียภาษีไว้ผิดพลาดไปโดยไม่มีเจตนาที่จะหลีกเลี่ยง ทั้งได้ความว่าโจทก์ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบมาตั้งแต่ต้น กรณีจึงมีเหตุสมควรให้งดเบี้ยปรับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีการค้าให้แก่โจทก์
พิพากษายืน

Share