แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
แม้มีข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ให้โจทก์มีสิทธินำเงินตามบัญชีกระแสรายวันของจำเลยที่ 1 หักใช้หนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทที่ถึงกำหนดได้แต่บัญชีกระแสรายวันดังกล่าวไม่มีเงินในบัญชีที่จะหักมาชำระหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีท การที่โจทก์เรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทโดยมิได้หักหนี้ จึงไม่ถือว่าโจทก์กระทำผิดข้อตกลงอันจะมีผลให้จำเลยที่ 1 อยู่ในฐานะเป็นผู้ไม่ผิดนัด โจทก์มีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทได้
ผลประโยชน์ที่โจทก์เรียกเก็บในอัตราร้อยละ 1/8 ต่อระยะเวลา 90 วัน นั้นคำนวณแล้วเท่ากับอัตราร้อยละ 0.125 ต่อระยะเวลา 90 วัน หรือร้อยละ 0.5 ต่อระยะเวลา 360 วัน จึงไม่เกินร้อยละ 7.5 ต่อปี และผลประโยชน์ที่โจทก์เรียกเก็บดังกล่าวก็ระบุว่าเป็นค่าธรรมเนียมมิใช่เรื่องดอกเบี้ย ข้อสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เกี่ยวกับดอกเบี้ยจึงไม่ตกเป็นโมฆะ
สัญญาค้ำประกันระบุว่า เพื่อตอบแทนการที่โจทก์ได้ตกลงยินยอมให้ลูกหนี้(จำเลยที่ 1) ทำนิติกรรมอันเป็นมูลหนี้กับโจทก์ ไม่ว่าจะเป็นมูลหนี้ในนิติกรรมใด ๆ ที่มีอยู่ในขณะทำสัญญานี้หรือที่จะมีขึ้นในภายหน้า ผู้ค้ำประกัน (จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6)ยอมรับเป็นผู้ค้ำประกันและเป็นลูกหนี้ร่วมกับลูกหนี้ในการชำระหนี้ดังกล่าว ซึ่งข้อความดังกล่าวมีความหมายว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ค้ำประกันหนี้ทุกอย่างที่จำเลยที่ 1 มีอยู่แก่โจทก์ จึงต้องรับผิดตามสัญญาทรัสต์รีซีทร่วมกับจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 โต้แย้งว่าคดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ เนื่องจากหนี้สินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นหนี้ตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดไม่ใช่หนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีท แต่เมื่อได้วินิจฉัยแล้วว่าการที่โจทก์เรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทโดยไม่นำไปหักทอนเป็นหนี้ตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดไม่เป็นการปฏิบัติผิดสัญญา จำเลยที่ 1จึงต้องรับผิดตามสัญญาทรัสต์รีซีท ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศจึงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีได้ นอกจากนี้ข้ออ้างตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งหกก็เป็นการกล่าวอ้างข้อเท็จจริงขึ้นใหม่แตกต่างจากเหตุการณ์ที่อ้างไว้ในคำให้การ จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ มาตรา 38ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาทรัสต์รีซีทกับโจทก์ 4 ฉบับ เพื่อรับมอบเอกสารสิทธิในสินค้าที่ส่งมาจากต่างประเทศ ซึ่งโจทก์ได้เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตให้แก่จำเลยที่ 1 ไปรับสินค้านำออกจำหน่ายแล้วนำเงินมาชำระพร้อมดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ แก่โจทก์ โดยตกลงให้คิดอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันครบกำหนดชำระเงินและหากไม่ชำระเงินตามกำหนด จำเลยที่ 1 ยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดที่โจทก์กำหนดตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศธนาคารโจทก์ ปรากฏว่าจำเลยที่ 1ไม่ชำระเงินตามสัญญาทรัสต์รีซีททั้งหมดให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 เป็นผู้ค้ำประกันโดยยอมรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 5 ได้จดทะเบียนจำนองที่ดินตามโฉนดที่ดินรวม 6 ฉบับ พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกัน โจทก์ได้บอกกล่าวทวงถามให้จำเลยทั้งหกชำระหนี้และบอกกล่าวบังคับจำนองแก่จำเลยที่ 5 แล้ว แต่จำเลยทั้งหกเพิกเฉยจึงขอบังคับให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 191,568,502.45 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 174,683,903.01 บาทนับตั้งแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้จำเลยที่ 4และที่ 6 ร่วมรับผิดชำระเงินดังกล่าวจำนวน 155,895,395.53 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงินจำนวน 140,000,000 บาท นับตั้งแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยที่ 5 ร่วมรับผิดชำระเงินดังกล่าวจำนวน 90,831,780.81 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 80,000,000 บาท นับตั้งแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งหกไม่ชำระหรือชำระไม่ครบ ให้ยึดทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 5ออกขายทอดตลาดและยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งหกออกขายทอดตลาดแล้วนำเงินมาชำระแก่โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ 1 มีสัญญาบัญชีเดินสะพัดอยู่กับโจทก์ โจทก์จึงต้องนำหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทเข้าตัดทอนบัญชีแล้วเรียกเก็บเงินตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดซึ่งจะทำให้มูลหนี้เดิมระงับลง โจทก์คิดอัตราแลกเปลี่ยนและดอกเบี้ยในอัตราสูงเกินกว่าความเป็นจริง จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ไม่มีเจตนาค้ำประกันและจำนองเพื่อประกันหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีท คดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง การบอกกล่าวบังคับจำนองไม่ชอบ คดีโจทก์ขาดอายุความ
จำเลยที่ 6 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 191,568,502.45 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 10 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 174,683,903.01 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 4 และที่ 6 ร่วมรับผิดชำระเงินดังกล่าวจำนวน 155,895,395.53 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ10 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 140,000,000 บาท และให้จำเลยที่ 5 ร่วมรับผิดชำระเงินดังกล่าวจำนวน 90,831,780.81 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 10 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 80,000,000 บาท นับตั้งแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยทั้งหกไม่ชำระหรือชำระไม่ครบ ให้ยึดทรัพย์จำนองนำออกขายทอดตลาดและยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งหกออกขายทอดตลาดแล้วนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนกว่าจะครบ กับให้จำเลยทั้งหกร่วมกันชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์
จำเลยทั้งหกอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า”ข้อเท็จจริงรับฟังได้ยุติในเบื้องต้นตามที่โจทก์และจำเลยทั้งหกไม่โต้แย้งกันว่า โจทก์เป็นธนาคารพาณิชย์ จำเลยที่ 1 ทำสัญญาทรัสต์รีซีท กับโจทก์จำนวน 4 ฉบับ โดยโจทก์ได้มอบเอกสารการขนส่งสินค้าให้แก่จำเลยที่ 1 เพื่อนำไปรับสินค้าตามสัญญาดังกล่าวแล้ว สัญญาทรัสต์รีซีทฉบับที่ 1 คือ เอกสารหมาย จ.8 ฉบับที่ 2 คือ เอกสารหมาย จ.11 ฉบับที่ 3 คือ เอกสารหมาย จ.13 และฉบับที่ 4 คือ เอกสารหมาย จ.15การชำระเงินตามสัญญาทรัสต์รีซีท ที่ถึงกำหนดมีข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1ให้โจทก์หักเงินในบัญชีกระแสรายวัน เลขที่ 010 – 19224 – 8046 ของจำเลยที่ 1 ได้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ดังกล่าวของจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย จ.18 ถึง จ.21 จำเลยที่ 4 ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ดังกล่าวของจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย จ.22 และ จ.23 จำเลยที่ 5 ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ดังกล่าวของจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย จ.24 จำเลยที่ 6 ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ดังกล่าวของจำเลยที่ 1ตามเอกสารหมาย จ.25 และจำเลยที่ 5 นำที่ดินมาจดทะเบียนจำนองเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย จ.26 คดีมีปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งหกประการแรก โดยจำเลยทั้งหกอุทธรณ์ในข้อ 2.1 ว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากโจทก์ผิดสัญญาโดยไม่นำหนี้ของจำเลยที่ 1 ตามสัญญาทรัสต์รีซีทมาหักทอนกับหนี้ตามสัญญาบัญชีเดินสะพัด ถือว่าจำเลยที่ 1 ยังไม่ผิดนัด ในข้อนี้ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ เห็นว่า แม้มีข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ให้โจทก์มีสิทธินำเงินตามบัญชีกระแสรายวันของจำเลยที่ 1 หักใช้หนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทที่ถึงกำหนดได้ แต่ก็ได้ความจากจำเลยที่ 2 ซึ่งเบิกความเป็นพยานจำเลยทั้งหกว่า บัญชีกระแสรายวันดังกล่าวมีวงเงินจำนวนเพียง 1,000,000 บาท และจำเลยที่ 1 ไม่มีเงินอยู่ในบัญชีพอที่จะหักมาชำระหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีท ดังนั้น การที่โจทก์เรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทโดยมิได้หักหนี้ จึงไม่ถือว่าโจทก์กระทำผิดข้อตกลงอันจะมีผลให้จำเลยที่ 1 อยู่ในฐานะเป็นผู้ไม่ผิดนัด โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทได้ อุทธรณ์ของจำเลยทั้งหกข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
จำเลยทั้งหกอุทธรณ์ในข้อ 2.2 และข้อ 2.4 ว่าการคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 1/8ต่อระยะเวลา 90 วัน ซึ่งเท่ากับอัตราร้อยละ 25 ต่อปี ผิดกฎหมายและเป็นโมฆะ โจทก์ชอบที่จะคิดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ให้จำเลยทั้งหกรับผิดเต็มตามคำฟ้องจึงไม่ชอบ ในข้อนี้ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ เห็นว่า ผลประโยชน์ที่โจทก์เรียกเก็บในอัตราร้อยละ 1/8 ต่อระยะเวลา 90 วัน นั้น คำนวณแล้วเท่ากับอัตราร้อยละ 0.125ต่อระยะเวลา 90 วัน หรือร้อยละ 0.5 ต่อระยะเวลา 360 วัน เท่านั้น จึงไม่เกินร้อยละ7.5 ต่อปี ดังที่จำเลยทั้งหกอ้าง และที่สำคัญผลประโยชน์ที่โจทก์เรียกเก็บดังกล่าวตามเอกสารหมาย จ.17 ก็ระบุว่าเป็นคาธรรมเนียมมิใช่เรื่องดอกเบี้ยแต่อย่างใด ข้อสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เกี่ยวกับดอกเบี้ยดังกล่าวจึงไม่ตกเป็นโมฆะ อุทธรณ์ของจำเลยทั้งหกข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
จำเลยทั้งหกอุทธรณ์ในข้อ 2.3 ว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ค้ำประกันหนี้ทั่วไปมิได้ค้ำประกันหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีท จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 จึงไม่ต้องรับผิดตามสัญญาทรัสต์รีซีทร่วมกับจำเลยที่ 1 ในข้อนี้ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นว่าสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.18 ถึง จ.25 ระบุในข้อ 1 ว่าเพื่อตอบแทนการที่โจทก์ได้ตกลงยินยอมให้ลูกหนี้ (จำเลยที่ 1) ทำนิติกรรมอันเป็นมูลหนี้กับโจทก์ ไม่ว่าจะเป็นมูลหนี้ในนิติกรรมใด ๆ ที่มีอยู่ในขณะทำสัญญานี้หรือที่จะมีขึ้นในภายหน้า ผู้ค้ำประกัน (จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6) ยอมรับเป็นผู้ค้ำประกันและเป็นลูกหนี้ร่วมกับลูกหนี้ในการชำระหนี้ดังกล่าว ซึ่งข้อความดังกล่าวมีความหมายชัดแจ้งว่า จำเลยที่ 2ถึงที่ 6 ค้ำประกันหนี้ทุกอย่างที่จำเลยที่ 1 มีอยู่แก่โจทก์ ข้ออุทธรณ์ของจำเลยทั้งหกที่อ้างว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 มิได้ค้ำประกันการชำระหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทที่จำเลยที่ 1มีอยู่แก่โจทก์จึงฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยทั้งหกอุทธรณ์ในข้อ 2.5 ว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกค้าโจทก์มานานหนี้สินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ใช้วิธีหักทอนบัญชีกันมาโดยไม่มีการแยกฟ้องบังคับชำระหนี้เป็นราย ๆ ไป การค้ำประกันของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ก็เป็นการค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1ทั้งหมดเป็นจำนวนเดียวกัน การที่โจทก์แยกเป็นหนี้ 2 อย่าง แล้วเอามาฟ้องแยกศาลกันคือ นำหนี้ตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดไปฟ้องที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้และนำหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทมาฟ้องที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางทำให้จำเลยทั้งหกเสียค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น โจทก์ควรฟ้องจำเลยทั้งหกที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้แต่เพียงศาลเดียว คดีนี้จึงไม่อยู่ในอำนาจของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางนั้น ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 โต้แย้งว่าคดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไว้ในคำให้การเพียงว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาบัญชีเดินสะพัดไว้กับโจทก์ โดยตกลงให้นำหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทมาหักทอนเป็นหนี้ตามสัญญาบัญชีเดินสะพัด ทำให้หนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทระงับลงหนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงเป็นหนี้กันตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดไม่ใช่หนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีท คดีจึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งก็ได้วินิจฉัยมาข้างต้นแล้วว่าการที่โจทก์เรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทโดยไม่นำไปหักทอนเป็นหนี้ตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดไม่เป็นการปฏิบัติผิดสัญญา จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดตามสัญญาทรัสต์รีซีท คดีนี้จึงมิได้เป็นเรื่องหนี้ตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดดังที่จำเลยที่ 1ถึงที่ 5 ให้การไว้ดังกล่าวนอกจากนี้ข้ออ้างตามอุทธรณ์ข้อ 2.5 ของจำเลยทั้งหกนี้ก็เป็นการกล่าวอ้างข้อเท็จจริงขึ้นใหม่แตกต่างจากเหตุการณ์ที่อ้างไว้ในคำให้การ จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 38 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง จึงไม่รับวินิจฉัยให้”
พิพากษายืน