คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1768/2549

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้กระทรวงการคลังมีคำสั่งระงับการดำเนินกิจการของจำเลยที่ 1 และสั่งห้ามมิให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทแก่โจทก์ในวันที่ตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทถึงกำหนด แต่จำเลยที่ 1 ยังสามารถที่จะฟื้นฟูกิจการและอาจดำเนินกิจการต่อไปได้ในอนาคตหากแก้ไขฐานะและการดำเนินงานของจำเลยที่ 1 ได้สำเร็จ และกระทรวงการคลังได้แจ้งให้ผู้ถือตั๋วสัญญาใช้เงินของจำเลยที่ 1 ที่มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับอาวัลไปติดต่อเพื่อขอรับชำระเงินจากจำเลยที่ 2 ผ่านจำเลยที่ 1 ได้ตามปกติเมื่อตั๋วสัญญาใช้เงินถึงกำหนด ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 ไม่สามารถที่จะชำระหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทแก่โจทก์ตามกำหนดจึงไม่ใช่กรณีที่การชำระหนี้ตกเป็นอันพ้นวิสัยเนื่องจากจำเลยที่ 1 กลายเป็นคนไม่สามารถชำระหนี้ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 219 วรรคสอง
การที่จำเลยที่ 1 ไม่สามารถชำระหนี้ให้แก่โจทก์ได้ทั้งที่ตั๋วสัญญาใช้เงินถึงกำหนดแล้ว เกิดจากจำเลยที่ 1 ถูกกระทรวงการคลังสั่งระงับการดำเนินกิจการ อันเป็นพฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบตาม ป.พ.พ. มาตรา 205 ดังนั้น ตราบใดที่จำเลยที่ 1 ยังไม่ได้ชำระหนี้เพราะเหตุดังกล่าว จำเลยที่ 1 ยังหาได้ชื่อว่าผิดนัดไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินของดอกเบี้ยตามตั๋วเงิน 3 วัน เป็นเงินจำนวน 291,183.13 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 262,683.74 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 262,683.74 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 9 สิงหาคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลยทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความรวม 10,000 บาท
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า เมื่อระหว่างวันที่ 18 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2540 จำเลยที่ 1 ออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้โจทก์จำนวน 4 ฉบับ สัญญาจะใช้เงินจำนวน 150,000,000 บาท 55,933,127.65 บาท 22,340,647.39 บาท และ 66,626,857.31 บาท ตามลำดับ ให้แก่โจทก์ในวันที่ 5 สิงหาคม 2540 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12.75 ต่อปี โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับอาวัล ต่อมาวันที่ 5 สิงหาคม 2540 โจทก์ได้นำตั๋วสัญญาใช้เงินทั้ง 4 ฉบับ ยื่นต่อจำเลยที่ 1 เพื่อให้ใช้เงินแก่โจทก์ แต่จำเลยที่ 1 ไม่ใช้เงินให้เนื่องจากในวันดังกล่าวได้มีคำสั่งกระทรวงการคลังที่ 182/2540 ให้ระงับการดำเนินกิจการของจำเลยที่ 1 และห้ามจำเลยที่ 1 จ่ายคืนเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงิน จนกระทั่งวันที่ 7 สิงหาคม 2540 จำเลยที่ 1 มีหนังสือถึงจำเลยที่ 2 ขอให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินทั้ง 4 ฉบับ ดังกล่าวแก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรงไปก่อน โดยจำเลยที่ 1 ยินยอมชดใช้เงินที่จำเลยที่ 2 ชำระไปคืนให้พร้อมดอกเบี้ย จำเลยที่ 2 จึงสั่งจ่ายเช็คของธนาคารแห่งประเทศไทย ลงวันที่ 8 สิงหาคม 2540 จำนวนเงิน 303,576,032.57 บาท ให้แก่โจทก์ เพื่อชำระหนี้เงินตามจำนวนในตั๋วสัญญาใช้เงินรวม 4 ฉบับ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12.75 ต่อปี คำนวณถึงวันที่ครบกำหนดใช้เงินตามตั๋ววันที่ 5 สิงหาคม 2540 โดยจำเลยที่ 2 มอบเช็คดังกล่าวซึ่งเป็นเช็คขีดคร่อมเฉพาะสั่งจ่ายในนามของโจทก์ให้จำเลยที่ 1 นำไปมอบแก่โจทก์และโจทก์ได้รับเงินตามเช็คไปแล้วตั้งแต่วันที่ 8 สิงหาคม 2540 มีปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองประการแรกว่า การที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ได้ชำระหนี้ตามกำหนดในตั๋วสัญญาใช้เงินนั้นเกิดจากเหตุพ้นวิสัยอันเป็นผลให้จำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิดในดอกเบี้ยระหว่างวันที่ 6 ถึงวันที่ 8 สิงหาคม 2540 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 219 หรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นที่ยุติแล้วว่า ในวันที่ 5 สิงหาคม 2540 กระทรวงการคลังได้มีคำสั่งที่ 182/2540 ระงับการดำเนินกิจการของจำเลยที่ 1 และห้ามมิให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาท จำเลยที่ 1 จึงไม่สามารถที่จะชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวให้แก่โจทก์ได้ แต่การที่จำเลยที่ 1 ไม่สามารถชำระหนี้ให้แก่โจทก์ได้ในครั้งนี้ กรณีหาใช่เรื่องการชำระหนี้ตกเป็นอันพ้นวิสัยเนื่องจากจำเลยที่ 1 กลายเป็นคนไม่สามารถจะชำระหนี้ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 219 วรรคสอง แต่อย่างใด เพราะการที่จำเลยที่ 1 ไม่สามารถจะชำระหนี้ได้เนื่องจากถูกกระทรวงการคลังระงับการดำเนินกิจการนั้น จำเลยที่ 1 ยังสามารถที่จะฟื้นฟูกิจการและอาจดำเนินกิจการต่อไปได้ในอนาคตหากแก้ไขฐานะและการดำเนินงานสำเร็จตามแนวนโยบายของทางการ และการระงับการดำเนินกิจการของจำเลยที่ 1 ครั้งนี้หาได้เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 หลุดพ้นจากการชำระหนี้ที่มีต่อโจทก์และเจ้าหนี้คนอื่น ๆ ไม่ ดังจะเห็นได้จากแถลงการณ์กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยเรื่องมาตรการเสริมสร้างความเชื่อมั่นในระบบสถาบันการเงิน ลงวันที่ 5 สิงหาคม 2540 ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่จำเลยที่ 1 ถูกระงับการดำเนินกิจการ ที่กำหนดให้ผู้ถือตั๋วสัญญาใช้เงินของจำเลยที่ 1 ที่มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับอาวัล ไปติดต่อเพื่อขอรับชำระเงินจากจำเลยที่ 2 ผ่านจำเลยที่ 1 ได้ตามปกติเมื่อตั๋วสัญญาใช้เงินครบกำหนด ดังนั้น ที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่าการที่จำเลยที่ 1 ไม่ได้ชำระหนี้ตามกำหนดเกิดจากเหตุสุดวิสัยจึงไม่ต้องรับผิดในดอกเบี้ยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 219 นั้นฟังไม่ขึ้น
แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อสาเหตุที่จำเลยที่ 1 ไม่สามารถจะชำระหนี้ให้แก่โจทก์ได้ทั้งที่ตั๋วสัญญาใช้เงินถึงกำหนดแล้วเกิดขึ้นเพราะจำเลยที่ 1 ถูกกระทรวงการคลังสั่งระงับการดำเนินกิจการ อันเป็นพฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 205 ดังนั้น ตราบใดที่จำเลยที่ 1 ยังไม่ได้ชำระหนี้เพราะเหตุนี้ จำเลยที่ 1 ยังหาได้ชื่อว่าผิดนัดไม่ ตามนัยแห่งบทบัญญัติดังกล่าว ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้รีบดำเนินการขอให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้ จำเลยที่ 2 ก็ชำระหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินพร้อมดอกเบี้ยครบถ้วนแล้วในวันที่ 8 สิงหาคม 2540 การดำเนินการของจำเลยที่ 1 เพื่อให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินให้โจทก์ใช้เวลาเพียง 3 วัน เท่านั้น นับว่าเหมาะสมแก่พฤติการณ์ในการดำเนินการของจำเลยที่ 1 เพื่อให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินให้โจทก์แล้ว ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นผู้ผิดนัด โจทก์จึงเรียกดอกเบี้ยระหว่างวันที่ 6 ถึง 8 สิงหาคม 2540 ไม่ได้ จำเลยที่ 2 ผู้รับอาวัลจึงไม่ต้องรับผิดด้วยเช่นกัน อุทธรณ์ข้ออื่นของจำเลยทั้งสองไม่จำเป็นต้องวินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ.

Share