คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5676/2539

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เมื่อโจทก์ยื่นคำฟ้องและศาลรับคำฟ้องแล้วศาลย่อมนัดชี้สองสถานไปได้โดยแจ้งกำหนดวันชี้สองสถานให้คู่ความทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสามสิบวันเท่านั้นไม่ต้องนับจากวันที่จำเลยที่1มีสิทธิยื่นคำให้การซึ่งจะทำให้คดีล่าช้าโดยไม่จำเป็นทั้งก็ไม่ทำให้จำเลยที่1และที่3ต้องเสียเปรียบเพราะจำเลยที่1สามารถแถลงเสนอประเด็นข้อพิพาทหรือตกลงกันกะประเด็นข้อพิพาทต่อศาลได้เมื่อศาลชี้สองสถานแล้วจำเลยที่1และที่3ก็ไม่ได้โต้แย้งว่าการกำหนดประเด็นข้อพิพาทของศาลไม่ถูกต้องอย่างไรการกำหนดวันชี้สองสถานของศาลชั้นต้นจึงชอบแล้ว คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีและให้งดสืบพยานจำเลยที่1เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาจำเลยที่1ไม่ได้โต้แย้งไว้จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์แม้ศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยให้ก็ไม่ชอบถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา249ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันชำระหนี้แก่โจทก์จำนวน 48,536,986.16 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ19 ต่อปี ของต้นเงิน 40,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้แก่โจทก์จำนวน 43,369,862.93 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 40,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยทั้งสามไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วนให้ยึดที่ดินที่จำเลยที่ 3 นำมาจำนองไว้ต่อโจทก์ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้โจทก์ หากได้เงินไม่พอชำระขอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 40,000,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปีนับตั้งแต่วันที่ 27 กันยายน 2534 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้อง (วันที่ 9 พฤศจิกายน 2535)ไม่ให้เกิน 8,536,986.16 บาท หากจำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วนให้ยึดที่ดินที่จำนองรวม 73 โฉนด ตามรายละเอียดในเอกสารหมาย จ.7 พร้อมสิ่งปลูกสร้างที่เป็นของจำเลยที่ 3นำออกขายทอดตลาด หากได้เงินไม่พอชำระให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 1 และที่ 3 นำออกขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้โจทก์จนครบ ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2
จำเลย ที่ 1 และ ที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
จำเลย ที่ 1 และ ที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว จำเลยที่ 1 และที่ 3ฎีกาข้อแรกว่าศาลนัดชี้สองสถานในวันที่ 8 มกราคม 2536 ไม่ชอบเพราะไม่ครบ 30 วัน นับจากวันที่จำเลยที่ 1 มีสิทธิยื่นคำให้การตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 182 การที่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้เลื่อนวันนัดชี้สองสถานไม่ชอบ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 182 บัญญัติว่า “เมื่อได้ยื่นคำฟ้องคำให้การและคำให้การแก้ฟ้องแย้ง ถ้าหากมีแล้ว ให้ศาลทำการชี้สองสถาน โดยแจ้งกำหนดวันชี้สองสถานให้คู่ความทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสามสิบวัน” ฉะนั้นเมื่อโจทก์ยื่นคำฟ้องและศาลรับคำฟ้องแล้วศาลย่อมนัดชี้สองสถานไปได้ โดยแจ้งกำหนดวันชี้สองสถานให้คู่ความทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสามสิบวันเท่านั้นไม่ต้องนับจากวันที่จำเลยที่ 1 มีสิทธิยื่นคำให้การ จะทำให้คดีล่าช้าโดยไม่จำเป็นและวันนัดชี้สองสถานนั้นศาลอาจอนุญาตให้เลื่อนไปได้หากมีเหตุสมควร ทั้งการนัดชี้สองสถานตั้งแต่วันที่ศาลรับคำฟ้องเช่นในคดีนี้ก็ไม่ทำให้จำเลยที่ 1 และที่ 3ต้องเสียเปรียบแต่อย่างใด เพราะจำเลยที่ 1 สามารถแถลงเสนอประเด็นข้อพิพาทหรือตกลงกันกะประเด็นข้อพิพาทต่อศาลได้เมื่อศาลทำการชี้สองสถานแล้ว จำเลยที่ 1 และที่ 3 ก็ไม่ได้โต้แย้งว่าการกำหนดประเด็นข้อพิพาทของศาลไม่ถูกต้องอย่างไรคดีนี้ศาลชั้นต้นแจ้งกำหนดวันชี้สองสถานให้จำเลยที่ 1 และที่ 3ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสามสิบวัน การกำหนดวันชี้สองสถานของศาลชั้นต้นจึงชอบแล้ว และที่จำเลยที่ 1 แถลงขอเลื่อนวันชี้สองสถานโดยอ้างว่ามีเอกสารที่ต้องตรวจสอบมาก ก็ปรากฎว่าในวันชี้สองสถานจำเลยทั้งสามแถลงว่าไม่มีเอกสารส่งศาลส่วนฝ่ายโจทก์ก็ส่งเอกสารเพียง 18 ฉบับเท่านั้น คำแถลงของจำเลยที่ 1 จึงเลื่อนลอย ไม่มีเหตุจะอนุญาตให้เลื่อนวันชี้สองสถานส่วนที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 ยื่นคำให้การในวันที่ 18 ธันวาคม 2535 เมื่อนับถึงวันชี้สองสถานมีเวลาเหลือเพียง 21 วัน จำเลยที่ 1 และที่ 3 จึงไม่มีโอกาสขอแก้คำให้การตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180ได้ เห็นว่า ตามกฎหมายมาตราดังกล่าว หากมีเหตุสมควรที่จำเลยที่ 1และที่ 3 ไม่อาจยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การได้ก่อนนั้นศาลก็อนุญาตได้อยู่แล้ว และคดีนี้ก็ไม่ปรากฎว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3ขอแก้ไขคำให้การแต่อย่างใด จึงไม่ทำให้จำเลยที่ 1 และที่ 3ต้องเสียเปรียบดังที่อ้าง ฎีกาจำเลยที่ 1 และที่ 3 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น จำเลยที่ 1 ฎีกาข้อสุดท้ายว่า การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 1 เลื่อนคดีและมีคำสั่งให้งดสืบพยานไม่ชอบ เพราะไม่ได้ทำการไต่สวนให้ปรากฎแจ้งชัดเสียก่อน เห็นว่าทนายจำเลยที่ 1 มอบฉันทะให้เสมือนทนายนำคำร้องมายื่นขอเลื่อนคดีอ้างเหตุว่าป่วย ศาลชั้นต้นเห็นว่าจำเลยที่ 1 ขอเลื่อนคดีเป็นครั้งที่ 7 จึงเห็นว่าจำเลยที่ 1 ประวิงคดีและได้พิเคราะห์ใบตรวจแพทย์ไม่ปรากฎว่าแพทย์ลงความเห็นว่าทนายจำเลยที่ 1 ป่วยจนกระทั่งไม่สามารถมาศาลได้แต่อย่างใด จึงไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีและให้งดสืบพยานจำเลยที่ 1 คำสั่ง ดังกล่าวเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาไม่ปรากฎว่าจำเลยที่ 1 ได้โต้แย้งไว้จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226แม้ศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยให้ก็ไม่ชอบ ถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้”
พิพากษายืน

Share