คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 567/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การจ่ายเงินบำรุงความสุขเป็นเงินบำเหน็จพิเศษแก่ลูกจ้างตามระเบียบการขนส่งของการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2499 นั้น จะต้องมีคณะกรรมการของจำเลยเป็นผู้พิจารณาและกำหนดจำนวนเงิน แต่การจ่ายเงินบำรุงความสุขเป็นเงินบำเหน็จพิเศษนี้ กฎหมายไม่ได้บังคับให้จำเลยผู้เป็นนายจ้างจะต้องจ่าย จำเลยจะออกระเบียบกำหนดหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขในการจ่ายอย่างไรก็ชอบที่จะทำได้ เมื่อคณะกรรมการของจำเลยได้พิจารณาแล้วกำหนดจำนวนเงินบำเหน็จพิเศษให้แก่โจทก์แต่ละคนรับไปแล้ว จึงถือได้ว่าจำเลยได้จ่ายเงินบำเหน็จพิเศษให้แก่โจทก์ตามระเบียบการขนส่งของจำเลยโดยชอบ โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องเงินบำเหน็จพิเศษจากจำเลยอีก.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสิบเก้า ซึ่งทำงานในตำแหน่งกรรมกรขนส่ง ฐานหมดความจำเป็น และจำเลยได้จ่ายค่าชดเชยให้ตามกฎหมายแล้ว แต่ระหว่างที่โจทก์ทำงานอยู่กับจำเลย จำเลยได้หักค่าจ้างบางส่วนเป็นเงินบำรุงความสุขซึ่งตามระเบียบการขนส่งของจำเลยระบุให้จำเลยจ่ายเงินจำนวนนี้คืนแก่โจทก์เป็นเงินบำเหน็จพิเศษ แต่จำเลยไม่ยอมจ่าย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินบำเหน็จพิเศษให้โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ได้รับค่าจ้างเป็นรายหน่วยจากการขนสินค้าให้แก่จำเลยโดยจำเลยได้จ่ายค่าจ้างให้โจทก์ไม่น้อยกว่าค่าจ้างขั้นต่ำของกฎหมาย ส่วนเงินบำรุงความสุขที่จ่ายให้เป็นบำเหน็จพิเศษเมื่อออกจากงานเป็นเงินรายได้ของจำเลยส่วนหนึ่งต่างหากจากค่าจ้างของโจทก์ เพราะเงินส่วนนี้จำเลยเรียกเก็บจากผู้มาขนส่งสินค้ากับจำเลยตามระเบียบการขนส่งของจำเลย พ.ศ. ๒๔๙๙ แล้ว จัดเป็นกองทุนผลประโยชน์เพื่อจ่ายสงเคราะห์ช่วยเหลือลูกจ้างของจำเลยทุกคน เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ จำเลยได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นเพื่อพิจารณาจ่ายเงินบำรุงความสุขเป็นเงินบำเหน็จพิเศษตามระเบียบ ข้อ ๒๑ และข้อ ๒๒ โดยได้จ่ายเงินเช่นว่านี้ให้แก่โจทก์แต่ละคนไปแล้วส่วนหนึ่งรวมกับค่าชดเชย จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายเงินบำรุงความสุขเป็นเงินบำเหน็จพิเศษให้แก่โจทก์อีก
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จพิเศษแก่โจทก์ทั้งสิบเก้า
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ระเบียบการขนส่งของการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๔๙๙ ตอนที่ ๘ ได้กำหนดเกี่ยวกับเรื่องเงินบำเหน็จพิเศษไว้ในข้อ ๒๑ ว่า ‘กรรมกรประเภทที่ ๑ ซึ่งทำงานติดต่อกันมาด้วยความเรียบร้อยขยันขันแข็งครบ ๕ ปีบริบูรณ์นับแต่วันที่จ้างเข้ามาเป็นกรรมกรประเภทที่ ๓ ประจำในอัตรากำลัง หากถึงแก่กรรมในขณะเป็นกรรมกร หรือ ลาออกหรือถูกให้ออกดังกล่าวในข้อ ๑๙ ค. – จ. ย่อมได้รับการพิจารณาเมื่อเห็นสมควรจ่ายเงินบำเหน็จพิเศษให้เป็นการตอบแทนคุณความดี ในอัตราไม่เกินร้อยละ ๗๕ ของเงินบำรุงความสุขที่หักไว้ตามส่วนเฉลี่ยของแต่ละปีของหน่วยงานนั้น
วิธีคิดเงินบำเหน็จพิเศษให้เอายอดเงินบำรุงความสุขของแต่ละเดือนเริ่มตั้งแต่กรรมกรขนส่งผู้นั้นได้รับการจ้างเข้ามาเป็นกรรมกรประเภทที่ ๓ ประจำในอัตรากำลัง หารด้วยจำนวนกรรมกรทั้งหมดของหน่วยงานนั้น แล้วนำผลลัพธ์แต่ละเดือนมารวมกันเมื่อสิ้นปีงบประมาณแล้วคูณด้วย ๗๕ หารด้วย๑๐๐ ผลลัพธ์เป็นเงินบำเหน็จพิเศษที่กรรมกรพึงจะได้รับ
การจ่ายเงินบำเหน็จพิเศษดังกล่าวในข้อนี้ให้คำนึงถึงรายจ่ายจากกองเงินบำรุงความสุขเป็นสำคัญด้วย ถ้าเงินบำรุงความสุขหักรายจ่ายแล้วมีไม่ถึง ๗๕% ก็ให้ลดลงตามส่วน’
สำหรับกรรมการพิจารณาจ่ายเงินช่วยเหลือได้กำหนดไว้ในข้อ ๒๒ ว่า ‘การจ่ายเงินสงเคราะห์และช่วยเหลือกรรมกรดังกล่าวในข้อ ๒๐ และข้อ ๒๑ ให้จ่ายจากเงินบำรุงความสุขกรรมกรของแต่ละสถานี โดยผ่านคณะกรรมการพิจารณาจ่ายเงินบำรุงความสุขกรรมกร ฯลฯ’
จากระเบียบการขนส่งของจำเลย ข้อ ๒๑ และ ข้อ ๒๒ ดังกล่าวจะเห็นได้ว่า ตามข้อ ๒๑ วรรคแรกนั้น เป็นเรื่องกำหนดหลักเกณฑ์ว่าหากกรรมกรผู้ใดพ้นจากสภาพการเป็นลูกจ้างของจำเลยตามเหตุที่ระบุไว้และเป็นผู้มีสิทธิที่จะได้รับเงินบำเหน็จพิเศษก็ให้จำเลยจ่ายเงินบำรุงความสุขเป็นเงินบำเหน็จพิเศษแก่ลูกจ้างผู้นั้น ซึ่งก็ได้ความว่าโจทก์ทุกคนเป็นลูกจ้างผู้มีสิทธิที่จะได้รับเงินเช่นว่านี้ สำหรับวรรคสองเป็นหลักเกณฑ์ในการคำนวณเงินบำเหน็จพิเศษที่จะจ่ายให้แก่ลูกจ้าง ส่วนวรรคสามนั้นเป็นข้อยกเว้นว่าถ้าเงินบำรุงความสุขหักรายจ่ายแล้วมีไม่ถึง ๗๕ เปอร์เซ็นต์ ก็ให้ลดลงตามส่วน และการที่จำเลยจะจ่ายเงินบำเหน็จพิเศษเช่นว่านี้ก็จะต้องมีคณะกรรมการของจำเลยตามที่ระบุไว้ในข้อ ๒๒ เป็นผู้พิจารณาและกำหนดจำนวนเงิน เมื่อได้ความว่าจำเลยได้ตั้งกรรมการขึ้นพิจารณาเพื่อจ่ายเงินบำรุงความสุขเป็นเงินบำเหน็จพิเศษให้แก่โจทก์ตามระเบียบการขนส่งของจำเลยและเงินเช่นว่านี้กฎหมายไม่ได้บังคับให้จำเลยผู้เป็นนายจ้างจะต้องจ่าย จำเลยจะออกระเบียบกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการจ่ายอย่างไรก็ชอบที่จะทำได้ เมื่อคณะกรรมการของจำเลยได้กำหนดจำนวนเงินบำเหน็จพิเศษให้แก่โจทก์แต่ละคนตามจำนวนที่ระบุไว้ในช่อง ‘เงินบำรุงความสุข’ท้ายคำให้การและโจทก์ทุกคนก็ได้รับเงินจำนวนดังกล่าวไปแล้ว จึงถือได้ว่าจำเลยได้จ่ายเงินบำเหน็จพิเศษให้แก่โจทก์ไปตามระเบียบการขนส่งของจำเลยข้อ ๒๑ และข้อ ๒๒ โดยชอบโจทก์ไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องเงินบำเหน็จพิเศษจากจำเลยอีกได้
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์.

Share