คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5663/2539

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ป. ซื้อรถยนต์บรรทุกจากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แล้ว ป. ขายต่อให้แก่ผู้ร้อง ผู้ร้องได้ยื่นคำขอต่อนายทะเบียนขนส่งจังหวัด เพื่อจดทะเบียนการโอนย้ายและเปลี่ยนทะเบียนใหม่ แต่นายทะเบียนไม่สามารถจดทะเบียนการโอนได้เพราะหมายเลขทะเบียนซ้ำกับทะเบียนรถคันอื่น ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้นายทะเบียนขนส่งจังหวัดจดทะเบียนรถให้แก่ผู้ร้อง กรณีมิใช่เป็นเรื่องที่ผู้ร้องได้รับความเสียหายโดยการกระทำหรือคำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 146 ในอันที่จะยื่นคำร้องเข้ามาในคดีในชั้นรวบรวมและจำหน่ายทรัพย์สินได้ หากผู้ร้องได้รับความเสียหายอย่างไรก็ชอบที่จะไปว่ากล่าวกับผู้เกี่ยวข้องต่างหากจากคดีในชั้นนี้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดและพิพากษาให้จำเลยล้มละลาย ในการรวบรวมและจำหน่ายทรัพย์สินเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้มอบหมายให้เจ้าพนักงานบังคับคดี สำนักงานบังคับคดีและวางทรัพย์ประจำศาลจังหวัดสมุทรปราการยึดและขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลย คือรถกึ่งพ่วงรวม 4 คัน หมายเลขทะเบียน 80-3340 ฉะเชิงเทรา 80-2396 พระนครศรีอยุธยา80-7413 สระบุรี และ 80-0497 กรุงเทพมหานคร โดยนายปรีชาลักขณาภรณ์ เป็นผู้ซื้อได้เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2531
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่าผู้ร้องได้ซื้อรถกึ่งพ่วงคันหมายเลขทะเบียน 80-3340 ฉะเชิงเทรา 80-2396 พระนครศรีอยุธยา80-7413 สระบุรี และ 80-0497 กรุงเทพมหานคร จากนายปรีชาลักขณาภรณ์ ซึ่งเป็นผู้ซื้อได้จากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี สำนักงานบังคดีและวางทรัพย์ประจำศาลจังหวัดสมุทรปราการผู้ร้องได้นำรถทั้งสี่คันของโอนย้ายไปจดทะเบียนที่สำนักงานขนส่งจังหวัดลพบุรี ปรากฏว่านายทะเบียนขนส่งจังหวัดลพบุรีรับจดทะเบียนโอนให้เพียงคันเดียวคือคันหมายเลขทะเบียน 80-7413 สระบุรีซึ่งเปลี่ยนเป็นหมายเลขทะเบียน 80-7675 ลพบุรี ส่วนรถคันอื่นนอกนั้นไม่สามารถจดทะเบียนให้ได้เพราะเลขทะเบียนไปซ้ำกับรถคันอื่นซึ่งมีเจ้าของอยู่แล้ว และนายทะเบียนขนส่งจังหวัดลพบุรีจะรับจดทะเบียนให้แก่ผู้ร้องได้ต่อเมื่อศาลมีคำสั่ง ขอให้ศาลมีคำสั่งให้นายทะเบียนขนส่งจังหวัดลพบุรีรับจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์รถกึ่งพ่วงที่เหลืออีก 3 คัน โดยระบุชนิดว่า ทีเอส-01328-83 หมายเลขดัสซี 1066, 1067, 1068ให้แก่ผู้ร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง ผู้ร้องอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงได้ความเป็นยุติว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดและพิพากษาให้จำเลยล้มละลายในการรวบรวมและจำหน่ายทรัพย์สินของจำเลย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้มอบหมายให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินของจำเลยเฉพาะที่เกี่ยวกับคดีนี้คือ รถกึ่งพ่วงรวม 3 คัน คันแรกหมายเลขทะเบียน80-3340 ฉะเชิงเทรา คันที่ 2 หมายเลขทะเบียน80-2396 พระนครศรีอยุธยา และคันที่ 3 หมายเลขทะเบียน80-0497 กรุงเทพมหานคร ซึ่งได้มีการขายทอดตลอดตามคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ปรากฏว่านายปรีชา ลักขณาภรณ์เป็นผู้ซื้อได้ แล้วนายปรีชาขายรถพ่วงทั้งสามคันให้แก่ผู้ร้องผู้ร้องได้ยื่นคำขอต่อนายทะเบียนขนส่งจังหวัดลพบุรีเพื่อจดทะเบียนการโอนย้ายและเปลี่ยนทะเบียนใหม่ แต่นายทะเบียนขนส่งจังหวัดลพบุรีไม่สามารถจดทะเบียนการโอนได้เพราะรถพ่วงเลขทะเบียนซ้ำกับทะเบียนรถคันอื่น ปัญหาตามที่ผู้ร้องฎีกามีว่า ผู้ร้องมีสิทธิร้องขอให้มีคำสั่งให้นายทะเบียนขนส่งจังหวัดลพบุรีจดทะเบียนรถพ่วงพิพาททั้ง 3 คันได้หรือไม่ เห็นว่ากรณีตามคำร้องของผู้ร้องมิใช่เป็นเรื่องที่ผู้ร้องได้รับความเสียหายโดยการกระทำหรือคำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในอันที่จะยื่นคำร้องเจ้ามาในคดีในชั้นนี้ได้ หากผู้ร้องได้รับความเสียหาย อย่างไรก็ชอบที่จะไปว่ากล่าวกับผู้เกี่ยวข้องต่างหากจากคดีในชั้นนี้ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งและคำพิพากษาให้ยกคำร้องตามกันมานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน

Share