แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
แม้อธิบดีกรมโจทก์จะทราบความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนหาตัวผู้รับผิดชดใช้ทางแพ่งที่ให้จำเลยทั้งสองรับผิดเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2537 ตามที่จำเลยที่ 2 อ้างว่าเป็นวันเริ่มนับอายุความ แต่อธิบดีกรมโจทก์ก็ไม่เห็นด้วยกับความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนหาตัวผู้รับผิดชดใช้ทางแพ่งดังกล่าว จึงยังไม่ถือว่าโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้พึงใช้ค่าสินไหมทดแทนแล้ว และเมื่อต่อมามีการนำเรื่องสู่คณะกรรมการที่ปรึกษาความรับผิดทางแพ่งของกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นหน่วยงานชี้ขาดสุดท้าย และเมื่อคณะกรรมการที่ปรึกษาความรับผิดทางแพ่งของกระทรวงการคลังชี้ขาดให้จำเลยทั้งสองรับผิดและแจ้งคำชี้ขาดให้อธิบดีกรมโจทก์ทราบเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2538 จึงถือว่าเป็นวันที่โจทก์รู้ตัวผู้พึงจะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน โจทก์ฟ้องวันที่ 22 ธันวาคม 2538 ยังไม่เกิน 1 ปี จึงไม่ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย 807,741.25 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน 794,500 บาท นับแต่วันฟ้องจนชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ใช้เงิน 794,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 30 กันยายน 2538 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้จำเลยที่ 1 ร่วมรับผิด 782,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 30 กันยายน 2538 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองชั้นศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เมื่อปี 2526 คณะรัฐมนตรีมีมติให้จัดตั้งวิทยาลัยประมงสงขลาติณสูลานนท์ (เดิมชื่อวิทยาลัยประมงสงขลา) ต่อมาองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา อนุญาตให้สร้างในที่ดินบริเวณชายทะเลสาบสงขลาตามสำเนาหนังสือขอใช้ที่ดินในบริเวณพื้นที่อักษรในที่ดินบริเวณชายทะเลสาบสงขลาตามสำเนาหนังสือขอใช้ที่ดินในบริเวณพื้นที่อักษรไอ (I) ตามสำเนาแผนที่ เมื่อเดือนกันยายน 2527 โจทก์ว่าจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัดมณีรัตน์คอนสทรัคชั่นกับห้างหุ้นส่วนจำกัดประสานมิตรโยธาการให้ทำการปรับปรุงพื้นที่ถมดินถนนสร้างถนนภายในรอบบริเวณและขุดคูระบายน้ำทั้งภายนอกและภายในตามสำเนาสัญญาจ้าง แต่ไม่สามารถดำเนินการในที่ดินพื้นที่อักษรไอ (I) ได้เนื่องจากประชาชนผู้อยู่ในที่ดินคัดค้าน โจทก์จึงเปลี่ยนแปลงที่ตั้งและให้คู่สัญญาทำการก่อสร้างในพื้นที่แปลง เอฟ (F) แทน เมื่อเข้าปรับปรุงพื้นที่เสร็จตามสัญญา ต่อมาวันที่ 30 กันยายน 2528 โจทก์ทำสัญญาจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัดนครธนาสินให้ทำการก่อสร้าง 19 รายการ ตามสัญญาว่าจ้างและรายการก่อสร้างอาคาร โดยมีอาคารทั้งหมด 53 หลัง การก่อสร้างโจทก์แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจการจ้างและผู้ควบคุมงานก่อสร้างโดยมีจำเลยทั้งสองเป็นกรรมการผู้ควบคุมงาน ตามสำเนาคำสั่งแต่งตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัดนครธนาสินทำการก่อสร้างและส่งมอบงาน 19 รายการ ตามใบส่งงวดงานและรายการก่อสร้างตามสัญญาจ้างคณะกรรมการตรวจการจ้างและควบคุมงานตรวจรับมอบงานแล้ว ตามใบตรวจการจ้างและรับรองผลการปฏิบัติงานของผู้รับจ้าง โดยส่งมอบงานครั้งสุดท้ายเมื่อเดือนมีนาคม 2530 หลังจากส่งมอบงานครั้งสุดท้ายประมาณ 3 เดือน ปรากฏว่าสิ่งก่อสร้างทั้ง 19 รายการ เกิดการชำรุดเสียหาย โจทก์แจ้งแก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดนครธนาสินทำการซ่อมแซมให้เรียบร้อยตามสัญญาแค่เพิกเฉย โจทก์ตรวจสอบรายการที่ชำรุดบกพร่องและประเมินค่าเสียหายทั้งหมด 1,190,069 บาท ตามสำเนาบันทึกข้อความการประมาณราคาค่าซ่อมแซมอาคาร โจทก์จึงฟ้องห้างหุ้นส่วนจำกัดนครธนาสินต่อศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นคดีแพ่งหมายเลขที่ 486/2531 ห้างหุ้นส่วนจำกัดนครธนาสินยอมซ่อมแซมอาคารที่ชำรุดบกพร่องแก่โจทก์ ศาลพิพากษาตามยอมเป็นคดีหมายเลขแดงที่ 507/2531 ห้างหุ้นส่วนจำกัดนครธนาสินซ่อมแซมอาคารที่ชำรุดบกพร่องจนแล้วเสร็จและส่งมอบงานเมื่อเดือนธันวาคม 2531 ต่อมาปี 2533 ปรากฏว่าอาคารที่ก่อสร้างเกิดชำรุดเสียหายขึ้นอีก โจทก์ได้มอบหมายให้ฝ่ายพัสดุอาคารสถานที่กับผู้เชี่ยวชาญของวิทยาลัยเทคนิคหาดใหญ่ร่วมกันสำรวจและพบความเสียหายทั้งหมด 12 รายการ เป็นอาคาร 44 หลัง ตามบัญชีรายการความชำรุดเสียหายอาคารและสิ่งปลูกสร้างและประมาณราคาในการซ่อมแซม แผนผังแสดงที่ตั้งอาคารและสรุปจำนวนและรายชื่ออาคารที่ชำรุดทั้งสองครั้ง หนังสือการสำรวจอาคารที่ชำรุดบกพร่อง ภาพถ่ายความชำรุดเสียหายของอาคารสถานที่ และบัญชีสรุปอาคารที่ได้รับความเสียหาย ต่อมาเดือนพฤศจิกายน 2534 โจทก์แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อสอบสวนหาผู้กระทำความผิดและต้องรับผิดทางแพ่งตามคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนหาผู้กระทำความผิดและต้องรับผิดทางแพ่งเอกสารหมาย จ.18 และ จ.19 คณะกรรมการสอบสวนสรุปความเห็นให้จำเลยทั้งสองและห้างหุ้นส่วนจำกัดนครธนาสินต้องรับผิดชดใช้ทางแพ่ง ตามรายงานการสอบสวนหาตัวผู้รับผิดชดใช้ทางแพ่ง เอกสารหมาย จ.39 และบันทึกคำให้การของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 เอกสารหมาย จ.41 และ จ.42 แต่กองการเจ้าหน้าที่ของโจทก์เสนอความเห็นต่ออธิบดีของโจทก์ว่าไม่ควรต้องมีผู้รับผิดชดใช้ทางแพ่ง ตามบันทึกรายงานการสอบสวนทางแพ่งเอกสารหมาย จ.40 โจทก์จึงรายงานให้กระทรวงการคลังทราบตามระเบียบคณะกรรมการที่ปรึกษาความรับผิดทางแพ่งได้ประชุมแล้วเห็นว่าจำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย ตามสำเนารายงานการประชุม กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง จึงมอบหมายให้โจทก์เป็นผู้ดำเนินการแก่จำเลยทั้งสองให้รับผิดชดใช้ทางแพ่งตามเอกสารหมาย จ.44 กองการเจ้าหน้าที่ของโจทก์มีบันทึกถึงอธิบดีของโจทก์เพื่อรายงานให้ทราบผลการพิจารณาของกรมบัญชีกลาง อธิบดีของโจทก์รับทราบเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2538 ปรากฏตามบันทึกข้อความเอกสารหมาย จ.48 โจทก์จึงมีหนังสือแจ้งให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 794,500 บาท ตามสำเนาหนังสือและใบตอบรับ แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสองกระทำละเมิดต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า การออกแบบถมดินดังกล่าวกระทำโดยฝ่ายวิศวกรรมออกแบบโครงสร้างของโจทก์ย่อมกระทำตามหลักวิชาการ แม้จะมีปัญหาเกี่ยวกับสภาพพื้นดินที่ก่อสร้างก็เชื่อได้ว่าหากถมดินตามแบบในสัญญาจ้าง สภาพดินย่อมหนาแน่นพอจะป้องกันการทรุดตัวโดยธรรมชาติได้ในระดับหนึ่ง แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่า หลังจากผู้รับจ้างส่งมอบงานก่อสร้างได้ 3 เดือน พื้นอาคารที่ก่อสร้างแบบพื้นวางบนดินหลายอาคารได้เกิดทรุดตัวและเมื่อผู้รับจ้างได้ทำการซ่อมแซมแก้ไขแล้ว ต่อมาประมาณปีเศษก็ปรากฏว่าพื้นอาคารดังกล่าวได้เกิดทรุดตัวซ้ำอีก ซึ่งการทรุดตัวทั้งสองครั้งมีลักษณะเดียวกัน คือทรุดตัวเป็นแอ่งกระทะ ลักษณะการทรุดตัวดังกล่าวต่างจากการทรุดตัวตามธรรมชาติซึ่งจะทรุดตัวเป็นแผงและค่อยเป็นค่อยไป และจากรายงานการสอบสวนหาตัวผู้รับผิดชดใช้ทางแพ่งของคณะกรรมการสอบสวนหาตัวผู้รับผิดชดใช้ทางแพ่งที่โจทก์แต่งตั้งตามเอกสารหมาย จ..39 ว่า สาเหตุทรุดตัวเป็นแอ่งกระทะ เชื่อว่าน่าจะมาจากดินใต้อาคารไม่ยึดเกาะกันแน่นหนา ไม่จับตัวกันทำให้เกิดโพรงดิน เมื่อมีน้ำฝนจากข้างบนลงไปหรือมีน้ำจากข้างล่างระเหยขึ้นมา และเมื่อดินเกิดการเลื่อนตัวทำให้ดินที่อยู่ข้างบนเกิดการยุบตัวในแนวดิ่งเป็นโพรงทำให้พื้นอาคารที่ออกแบบให้วางบนดินทรุดตัวแตกร้าวเป็นแอ่งกระทะซึ่งน่าเชื่อว่าเป็นเหตุผลให้เกิดการทรุดตัวลักษณะเป็นแอ่งกระทะดังกล่าว ดังนี้ ที่พื้นอาคารทรุดเสียหายจึงมีสาเหตุจากการถมดิน ซึ่งหากผู้รับจ้างกระทำการถมดินตามแบบในสัญญาตามที่จำเลยทั้งสองเบิกความก็ไม่น่าจะทำให้พื้นอาคารทรุดตัวในลักษณะดังกล่าวในเวลาอันรวดเร็วไม่ถึงปีนับแต่ก่อสร้างอาคารเสร็จข้อเท็จจริงจึงน่าเชื่อว่าผู้รับจ้างไม่ได้ถมดินตามแบบในสัญญาจ้างตามที่จำเลยทั้งสองให้การไว้ต่อคณะกรรมการสอบสวนหาตัวผู้รับผิดชดใช้ทางแพ่งตามบันทึกคำให้การของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เอกสารหมาย จ.41 และ จ.42 ซึ่งให้การในทำนองเดียวกันระบุได้ว่า ผู้รับจ้างได้ถมและบดอัดดินเพียง 2 ครั้งก่อนเทพื้นอาคาร ซึ่งเมื่อพิเคราะห์ประกอบถึงการทรุดตัวที่เกิดจากความไม่หนาแน่นของดินแล้ว เชื่อว่าน่าจะเป็นจริงดังที่จำเลยทั้งสองให้การมา ที่จำเลยทั้งสองอ้างว่าเป็นการให้การแบบรวบรัดไม่ได้ให้รายละเอียด ทั้งที่ความจริงจำเลยทั้งสองได้ควบคุมให้ผู้รับจ้างกระทำกาตามสัญญาจ้าง เห็นว่า จำเลยทั้งสองมีความรู้และมีประสบการณ์การควบคุมงานก่อสร้าง ย่อมทราบดีว่าคำให้การต่อคณะกรรมการสอบสวนหาตัวผู้รับผิดชดใช้ทางแพ่งมีความสำคัญและมีผลผูกมัดจำเลยทั้งสองซึ่งรู้เห็นและอยู่ใกล้ชิดกับความเสียหายที่เกิดขึ้น จึงน่าเชื่อว่าจำเลยทั้งสองให้การตามความจริงดังนี้ จึงเป็นการที่จำเลยทั้งสองไม่ระมัดระวังหรือจงใจปล่อยให้ผู้รับจ้างไม่ถมดินตามแบบในสัญญาจ้างจนเกิดความเสียหายแก่โจทก์ เป็นการกระทำละเมิดและต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ และศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยกับจำนวนค่าเสียหายที่ศาลชั้นต้นให้จำเลยทั้งสองชดใช้แก่โจทก์ ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามคำแก้ฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า คดีโจทก์ขาดอายุความแล้วหรือไม่ เห็นว่า แม้อธิบดีกรมโจทก์จะทราบความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนหาตัวผู้รับผิดชดใช้ทางแพ่งที่ให้จำเลยทั้งสองรับผิดเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2537 ตามที่จำเลยที่ 2 อ้างว่าเป็นวันเริ่มนับอายุความ แต่อธิบดีกรมโจทก์ก็ไม่เห็นด้วยกับความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนหาตัวผู้รับผิดชดใช้ทางแพ่งดังกล่าวจึงยังไม่ถือว่าโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้พึงใช้ค่าสินไหมทดแทนแล้ว และเมื่อต่อมามีการนำเรื่องสู่คณะกรรมการที่ปรึกษาความรับผิดทางแพ่งของกระทรวงการคลังซึ่งเป็นหน่วยงานชี้ขาดสุดท้าย และเมื่อคณะกรรมการที่ปรึกษาความรับผิดทางแพ่งของกระทรวงการคลังชี้ขาดให้จำเลยทั้งสองรับผิดและแจ้งคำชี้ขาดให้อธิบดีกรมโจทก์ทราบเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2538 จึงถือว่าเป็นวันที่โจทก์รู้ตัวผู้พึงจะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน โจทก์ฟ้องวันที่ 22 ธันวาคม 2538 ยังไม่เกิน 1 ปี จึงไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่ง”
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และฎีกาให้เป็นพับ