คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5573/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ตามสัญญาระบุว่า จำเลยที่ 3 ยินดีที่จะให้การช่วยเหลือโจทก์ที่ได้เสียค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาสุขภาพและอาการป่วยจากการติดเชื้อเอชไอวีในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาประมาณ 5 ปี เป็นเงินจำนวนหนึ่งไม่เกิน 500,000 บาท โดยจำเลยที่ 3 จะนำเรื่องนี้ไปปรึกษาคณะกรรมการบริหารของจำเลยที่ 1 ก่อนและจะแจ้งผลให้ทราบภายใน 15 วัน นับแต่วันทำสัญญาฉบับนี้ แสดงว่าข้อตกลงดังกล่าวเป็นสัญญาที่มีเงื่อนไขว่าต้องให้จำเลยที่ 3 นำไปปรึกษาคณะกรรมการบริหารของจำเลยที่ 1 ก่อน ซึ่งยังไม่แน่ว่าคณะกรรมการบริหารของจำเลยที่ 1 จะเห็นชอบและตกลงทำสัญญาดังกล่าวหรือไม่ ข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 3 จึงยังไม่ระงับไปตามสัญญา สัญญาดังกล่าวจึงมิใช่สัญญาประนีประนอมยอมความตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 อันมีผลเป็นการรับสภาพความรับผิดต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/35 การใช้สิทธิเรียกร้องในค่าเสียหายแต่ละมูลละเมิดของโจทก์จึงต้องใช้ภายใน 1 ปี นับแต่โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนคือเดือนพฤษภาคม 2539 โจทก์นำคดีมาฟ้องวันที่ 26 กรกฎาคม 2543 จึงล่วงพ้นเวลา 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องโดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 5,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งห้าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งห้าให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตและให้จำหน่ายคดีเฉพาะในส่วนของจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ออกจารสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกาโดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติโดยคู่ความไม่โต้แย้งฎีกาว่า เมื่อประมาณเดือนพฤศจิกายน 2536 โจทก์มีอาการปวดท้อง ท้องอืดและคลื่นไส้ จึงไปพบนายแพทย์อัสนี ที่โรงพยาบาลพญาไท 2 เพื่อตรวจรักษา ผลการตรวจพบว่ามีก้อนเนื้ออยู่ในตับซีกซ้าย ซึ่งผลจากการตรวจก้อนเนื้อที่ตับด้วยเครื่องซีทีคอมพิวเตอร์ แพทย์มีความเห็นว่า ก้อนเนื้อดังกล่าวน่าจะเป็นปานในตับ รายละเอียดตามบัตรคนไข้ รายงานการตรวจสุขภาพและรายงานผลการตรวจคนไข้ของศาลแพ่ง แพทย์ให้รอดูอาการ 3 เดือน ต่อมาเดือนธันวาคม 2536 นายธนกฤต บุตรของโจทก์พาโจทก์ไปพบจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นแพทย์ประจำโรงพยาบาลแม่กลอง 2 เพื่อตรวจรักษา จำเลยที่ 3 ตรวจร่างกายโจทก์ประกอบผลการตรวจเลือดและผลการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ของโรงพยาบาลพญาไท 2 แล้ว ได้ทำการรักษาโจทก์โดยการผ่าตัดซึ่งต้องให้เลือดระหว่างผ่าตัดโดยใช้เลือดที่รับบริจาคจากสภากาชาดไทย หลังผ่าตัดโจทก์มีอาการปกติ สำหรับชิ้นเนื้อตับที่ผ่าตัดได้ส่งไปตรวจพิสูจน์พบว่าไม่ใช่มะเร็งแต่เกิดจากเส้นเลือดโป่งพองในตับ หลังจากนั้นโจทก์มีสุขภาพไม่ดี จึงไปส่งตรวจร่างกายเพื่อจะทำประกันชีวิตจึงทราบว่าโจทก์ติดเชื่อเอชไอวี ต่อมาเดือนมกราคม 2539 โจทก์ได้ไปตรวจร่างกายที่โรงพยาบาลพญาไท 2 อีกครั้ง และได้รับการยืนยันเมื่อเดือนพฤษภาคม 2539 ว่า โจทก์ติดเชื้อเอชไอวีจริง โจทก์ไปพบจำเลยที่ 3 และขอให้จำเลยที่ 3 รับผิดชอบ จำเลยที่ 3 ชี้แจงว่า การติดเชื้อเอชไอวีอาจติดได้หลายสาเหตุ จึงไม่แน่ชัดว่าโจทก์จะติดเชื้อจากเลือดที่โจทก์รับจากสภากาชาดไทยระหว่างผ่าตัดหรือไม่ ต่อมาจำเลยที่ 1 กุมภาพันธ์ 2542 โจทก์ได้ร้องเรียนต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ตามหนังสือร้องเรียนจนกระทั่งวันที่ 25 มกราคม 2543 โจทก์ จำเลยที่ 3 ผู้แทนสภากาชาดไทยและตัวแทนสภาทนายความได้ร่วมกันทำข้อตกลงกันตามสัญญาเอกสารหมาย จ.8
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันกระทำละเมิดและต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้องหรือไม่ ซึ่งศาลฎีกาจะได้วินิจฉัยในประเด็นว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ก่อน ในข้อนี้โจทก์และนายธนกฤต บุตรชายโจทก์เบิกความว่า หลังผ่าตัดโจทก์มีสุขภาพไม่ดี จึงคิดจะทำประกันชีวิต เมื่อมีการตรวจร่างกายจึงทราบว่าโจทก์ติดเชื้อเอดส์หรือเอชไอวี ต่อมาเดือนมกราคม 2539 นายธนกฤตพาโจทก์ไปตรวจร่างกายที่โรงพยาบาลพญาไท 2 จากนั้นประมาณเดือนพฤษภาคม 2539 โจทก์ได้รับการยืนยันว่าโจทก์ติดเชื้อเอดส์หรือเอชไอวี โจทก์จึงเดินทางไปพบจำเลยที่ 3 เพื่อให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมรับผิดชอบต่อโจทก์แสดงว่าโจทก์ได้รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2539 ซึ่งสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดท่านว่าขาดอายุความเมื่อพ้นปีหนึ่งนับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน แต่โจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 3 นำสืบรับกันว่าเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2543 โจทก์ จำเลยที่ 3 กับผู้แทนสภากาชาดไทยได้เจรจากันและตกลงทำสัญญาตามเอกสารหมาย จ.8 จึงมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า ข้อความตามสัญญาดังกล่าวเป็นการที่ลูกหนี้รับสภาพความรับผิดโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/35 ซึ่งมีอายุความสองปีนับแต่วันที่ได้รับสภาพความรับผิดหรือไม่ โจทก์เบิกความว่าโจทก์ จำเลยที่ 3 กับผู้แทนสภากาชาดไทยได้ร่วมกันทำสัญญาดังกล่าว โดยจำเลยที่ 3 ยอมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์แต่ตามสัญญาเอกสารหมาย จ.8 ข้อ 3 ระบุว่า จำเลยที่ 3 ยินดีที่จะให้การช่วยเหลือโจทก์ที่ได้เสียค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาสุขภาพและอาการป่วยจากการติดเชื้อเอชไอวีในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาประมาณ 5 ปี เป็นเงินจำนวนหนึ่งไม่เกิน 500,000 บาท โดยจำเลยที่ 3 จะนำเรื่องนี้ไปปรึกษาคณะกรรมการบริหารของจำเลยที่ 1 ก่อน และจะแจ้งผลให้ทราบภายใน 15 วัน นับแต่วันทำสัญญาฉบับนี้ แสดงว่าข้อตกลงดังกล่าวเป็นสัญญาที่มีเงื่อนไขว่าต้องให้จำเลยที่ 3 นำไปปรึกษาคณะกรรมการบริหารของจำเลยที่ 1 ก่อน ซึ่งยังไม่แน่ว่าคณะกรรมการบริหารของจำเลยที่ 1 จะเห็นชอบและตกลงตามสัญญาเอกสารหมาย จ.8 หรือไม่ ข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 3 จึงยังไม่ระงับไปตามสัญญา สัญญาเอกสารหมาย จ.8 จึงมิใช่สัญญาประนีประนอมยอมความตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850 อันมีผลเป็นการรับสภาพความรับผิดต่อโจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/35 การใช้สิทธิเรียกร้องในค่าเสียหายแต่มูลละเมิดของโจทก์จึงต้องใช้ภายใน 1 ปี นับแต่โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทนคือเดือนพฤษภาคม 2539 โจทก์นำคดีมาฟ้องวันที่ 26 กรกฎาคม 2543 จึงล่วงพ้นเวลา 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของโจทก์อีก ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายกฟ้องนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share