แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 ไม่สามารถจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามสัญญาจะซื้อจะขายให้โจทก์ภายในกำหนดเพราะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ โครงการของจำเลยที่ 1 หยุดชะงักไม่มีเงินหมุนเวียนที่จะนำไปไถ่ถอนจำนองจากธนาคารได้ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นฝ่ายที่รับมัดจำละเมิดไม่ชำระหนี้ จำเลยที่ 1 จึงต้องคืนเงินมัดจำให้แก่โจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 378 (3) พร้อมดอกเบี้ยระหว่างผิดนัด
โจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกลงโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามสัญญาจะซื้อจะขายภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2540 เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้โจทก์ตามนัด จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัด และต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2541 เป็นต้นไป ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 20 มีนาคม 2540 เป็นต้นไปเป็นการให้จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยมากกว่าที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดตามกฎหมาย ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาก็ยกขึ้นปรับแก่คดีได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อปี 2533 โจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างกับจำเลยทั้งสามจำนวน 11 แปลง ในโครงการบ้านจัดสรร หมู่บ้านเจริญเฮาส์ โจทก์ชำระค่ามัดจำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างแก่จำเลยทั้งสามเรียบร้อยแล้ว จำเลยทั้งสามโอนกรรมสิทธิ์ให้โจทก์รวม 9 แปลง ส่วนที่เหลืออีก 2 แปลง จำลยทั้งสามผิดสัญญาไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ให้โจทก์ได้ โดยจำเลยทั้งสามนำบ้านพร้อมที่ดินพิพาททั้งสองแปลงไปโอนขายให้แก่กรรมการคนอื่นของจำเลยที่ 1 พร้อมกับจดทะเบียนจำนองไว้แก่ธนาคาร จนกระทั่งถูกธนาคารบังคับจำนองและนำยึดทรัพย์ นอกจากนี้เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2540 จำเลยทั้งสามได้ร่วมกันกู้ยืมเงินโจทก์ 860,000 บาท แต่ชำระต้นเงินคืนให้โจทก์เพียง 80,000 บาท ยังคงค้างชำระต้นเงิน 780,000 บาท ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยทั้งสองต้องร่วมกันคืนเงินมัดจำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง 2 แปลง เป็นเงิน 843,875 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2540 ถึงวันฟ้องเป็นเงินดอกเบี้ย 138,719 บาท รวมเป็นเงิน 982,594 บาท และต้องชำระเงินกู้ยืม 780,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 20 มีนาคม 2540 ถึงวันที่ 19 มีนาคม 2541 เป็นเงินดอกเบี้ย 117,000 บาท และดอกเบี้ยทบต้นอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงิน 897,000 บาท นับตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2541 ถึงวันฟ้องเป็นเงินดอกเบี้ย 160,354 บาท รวมต้นเงินและดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน 1,057,354 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันใช้เงิน 2,039,948 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 843,875 บาท และดอกเบี้ยทบต้นอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 1,057,354 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การทำนองเดียวกันว่า จำเลยทั้งสามไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมบ้านพิพาทจำนวน 2 แปลง ตามที่โจทก์ฟ้อง จำเลยทั้งสามก่อสร้างบ้านพิพาทเสร็จแล้ว และมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ไปรับโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเมื่อปี 2539 แต่โจทก์เพิกเฉย จำเลยจึงริบเงินมัดจำที่โจทก์ชำระแก่จำเลย สำหรับหนี้เงินกู้ยืม โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้น ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้เงินจำนวน 780,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 20 มีนาคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยที่ 1 ใช้เงินจำนวน 843,875 บาท แก่โจทก์พร้อมดกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 20 มีนาคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาต้องวินิจฉัยในชั้นนี้มีว่า จำเลยที่ 1 ต้องคืนเงินมัดจำแก่โจทก์หรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า เมื่อปี 2533 โจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจากจำเลยที่ 1 จำนวน 11 แปลง เป็นที่ดินอยู่ในโครงการบ้านจัดสรร หมู่บ้านเจริญเฮาส์ จำเลยที่ โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์แล้ว 9 แปลง ยังคงเหลือ 2 แปลง คือที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างแปลงที่ 63 และแปลงที่ 190 ตามสัญญาจะซื้อขายเอกสารหมาย จ.4 และ จ.6 ซึ่งโจทก์ชำระเงินมัดจำให้แก่จำเลยที่ 1 แล้วเป็นเงิน 843,875 บาท ต่อมาวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2539 จำเลยที่ 1 มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ไปรับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2539 ณ สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาบางเขน แต่ปรากฏว่าไม่มีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามกำหนดนัด วันที่ 20 มีนาคม 2540 โจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำสัญญาตามเอกสารหมาย จ.19 ขึ้น โดยจำเลยที่ 1 สัญญาว่าจะโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามสัญญาจะซื้อจะขาย เอกสารหมาย จ.4 และ จ.6 ให้แก่โจทก์ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2540 แต่ไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ได้ ต่อมาที่ดินดังกล่าวถูกธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เจ้าหนี้ผู้รับจำนองนำยึด เห็นว่า แม้จำเลยที่ 1 จะมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ไปรับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามสัญญาจะซื้อจะขายในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2539 แล้วก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงที่ปรากฏเป็นยุติข้างต้น แสดงชัดอยู่ว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่ถือเอากำหนดเวลาดังกล่าวเป็นสาระสำคัญอีกต่อไป โดยโจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกลงกำหนดระยะเวลาการชำระหนี้ใหม่เป็นภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2540 ตามหนังสือสัญญาจะโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเอกสารหมาย จ.19 ซึ่งมีข้อความระบุว่าหากจำเลยที่ 1 ผิดสัญญา จำเลยที่ 1 ยินดีรับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่เกิดมีขึ้นอันเนื่องมาจากการที่จำเลยที่ 1 มิได้โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้โจทก์ภายในกำหนดเวลาดังกล่าวแล้วทุกประการ เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่สามารถจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามสัญญาจะซื้อขายให้โจทก์ได้ภายในกำหนดเวลาดังกล่าว โดยจำเลยที่ 3 เบิกความรับว่า ในช่วงเวลานั้นเกิดวิกฤติเศรษฐกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ โครงการของจำเลยที่ 1 หยุดชะงักไม่มีเงินทุนหมุนเวียนที่จะนำไปไถ่ถอนจำนองจากธนาคารได้ กรณีย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นฝ่ายที่รับมัดจำละเลยไม่ชำระหนี้ จำเลยที่ 1 จึงต้องคืนเงินมัดจำให้แก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 378 (3) พร้อมดอกเบี้ยระหว่างผิดนัด ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิดชำระดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 20 มีนาคม 2540 นั้น เห็นว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกลงโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2540 เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้โจทก์ตามนัด จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัด และต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2541 เป็นต้นไป ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 20 มีนาคม 2540 เป็นต้นไป เป็นการให้จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยมากกว่าที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดตามกฎหมาย ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นปรับแก่คดีได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 843,875 บาท นับแต่วันที่ 1 มกราคม 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ