คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 566/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ในการยื่นบัญชีระบุพยานจำเลยจำเลยต้องกระทำตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะยื่นบัญชีระบุพยานมิใช่กระทำตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ใช้บังคับในภายหลังบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะจำเลยยื่นบัญชีระบุพยานคือบทบัญญัติมาตรา88วรรคแรกและวรรคสี่แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง(ฉบับที่13)พ.ศ.2535ดังนั้นเมื่อศาลชั้นต้นกำหนดวันชี้สองสถานในวันที่7กรกฎาคม2537จำเลยจึงต้องยื่นบัญชีระบุพยานก่อนวันที่7กรกฎาคมไม่น้อยกว่าสิบห้าวันที่จำเลยยื่นบัญชีระบุพยานเมื่อวันที่22มิถุนายน2537นั้นเป็นการยื่นก่อนวันชี้สองสถานเพียง14วันจึงเป็นการยื่นบัญชีระบุพยานไม่ชอบด้วยบทบัญญัติมาตรา88วรรคแรกดังกล่าวแม้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในบัญชีระบุพยานจำเลยว่า”สำเนาให้คู่ความอีกฝ่ายรวมสำนวน16อันดับ”ก็ตามแต่เมื่อต่อมาความปรากฎแก่ศาลชั้นต้นว่าการยื่นบัญชีระบุพยานของจำเลยไม่ชอบด้วยกฎหมายศาลชั้นต้นก็ย่อมมีอำนาจเพิกถอนคำสั่งที่ได้สั่งรับบัญชีระบุพยานของจำเลยไว้โดยไม่ถูกต้องนั้นได้ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในรายงานกระบวนพิจารณาว่า”ปรากฎว่าคดีนี้จำเลยมิได้ยื่นบัญชีระบุพยานคดีไม่มีประเด็นที่สืบพยานจำเลย”นั้นถือได้ว่าศาลชั้นต้นได้เพิกถอนคำสั่งรับบัญชีระบุพยานของจำเลยซึ่งสั่งโดยไม่ถูกต้องไว้แต่เดิมนั้นโดยปริยายแล้วต้องถือว่าจำเลยไม่ได้ยื่นบัญชีระบุพยานก่อนวันชี้สองสถานไม่น้อยกว่าสิบห้าวันและไม่ปรากฎว่าจำเลยได้ยื่นคำร้องขออ้างพยานหลักฐานเช่นนั้นว่าต่อศาลพร้อมกับบัญชีระบุพยานโดยแสดงเหตุอันสมควรที่ไม่สามารถยื่นบัญชีระบุพยานตามกำหนดเวลาดังกล่าวได้ตามมาตรา88วรรคสี่แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งทั้งกรณีไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นที่ให้ศาลมีอำนาจรับฟังพยานหลักฐานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา87(2)จำเลยจึงไม่มีสิทธินำพยานหลักฐานมาสืบแต่อย่างใดที่ศาลชั้นต้นให้งดสืบพยานจำเลยหรือไม่อนุญาตให้จำเลยนำพยานหลักฐานเข้าสืบนั้นจึงชอบแล้ว

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระค่าสินค้าเครื่องส่งโทรทัศน์สีพร้อมอุปกรณ์ส่วนควบที่จำเลยซื้อจากโจทก์และชำระเงินที่จำเลยขอให้โจทก์ออกทดรองชำระค่าอุปกรณ์เครื่องส่งโทรทัศน์สีที่จำเลยสั่งซื้อจากผู้อื่นกับชำระค่าช่างเทคนิคและเครื่องอุปกรณ์ทดสอบเพื่อทดสอบการติดตั้งเครื่องส่งโทรทัศน์สีพร้อมอุปกรณ์ส่วนควบรวมเป็นเงินต้นจำนวน 340,678.51 ดอลลาร์สหรัฐกับดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2536 จนถึงวันก่อนฟ้องเป็นเงิน 41,540.80 ดอลลาร์สหรัฐ รวมเป็นเงินต้นและดอกเบี้ยทั้งสิ้น382,219.31 ดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทยในอัตราแลกเปลี่ยนในวันก่อนฟ้องในอัตรา 1 ดอลล่าร์สหรัฐ ต่อ 25.62 บาท เป็นเงินไทยจำนวน 9,788,636.53 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 14 ต่อปีในต้นเงินจำนวน8,724,776.64 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่ามิได้เป็นหนี้โจทก์ตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นชี้สองสถานและกำหนดให้โจทก์นำสืบก่อน
เมื่อสืบพยานโจทก์เสร็จ จำเลยแถลงว่าประสงค์จะอ้างตัวจำเลยเบิกความเป็นพยานและขอให้เลื่อนไปสืบในนัดหน้า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 26 มิถุนายน 2538 ว่าคดีนี้จำเลยยื่นคำให้การ กรณีจึงไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 199 วรรคสอง ที่จะให้สืบจำเลยอ้างตนเองเป็นพยานกรณีปรากฎว่าคดีนี้จำเลยไม่ได้ยื่นบัญชีระบุพยาน คดีไม่มีประเด็นที่จะสืบพยานจำเลยไม่มีเหตุที่จะสืบพยานจำเลยไม่ว่าจะด้วยการที่จำเลยจะขอเบิกความอ้างตนเองเป็นพยานก็ตาม ยกคำแถลงคดีเสร็จการพิจารณาให้นัดฟังคำพิพากษาและพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 341,000 ดอลลาร์สหรัฐ โดยให้คิดเป็นเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนโดยเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ในกรุงเทพมหานครในวันที่ศาลชั้นต้นพิพากษา ถ้าอัตราแลกเปลี่ยนในวันดังกล่าวไม่มีก็ให้ถือเอาวันสุดท้ายที่มีอัตราแลกเปลี่ยนเช่นว่านั้นก่อนวันพิพากษา แต่ให้คิดในอัตราไม่เกิน 1 ดอลลาร์สหรัฐต่อ 25.61 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2536จนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลย อุทธรณ์ คำสั่งศาล ชั้นต้น ที่ สั่ง งดสืบพยาน จำเลย
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
จำเลย ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่า ศาลชั้นต้นนัดชี้สองสถานในวันที่ 7 กรกฎาคม 2537 เวลา 9 นาฬิกา ต่อมาวันที่ 22 มิถุนายน 2537 จำเลยยื่นบัญชีระบุพยานลงวันที่22 มิถุนายน 2537 ระบุพยานจำเลยทั้งหมด 16 อันดับ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า “สำเนาให้คู่ความอีกฝ่าย รวมสำเนาไว้ 16 อันดับ”ทนายโจทก์ได้ลงชื่อรับสำเนาบัญชีระบุพยานจำเลยไปจากศาลแล้วศาลชั้นต้นชี้สองสถานในวันที่ 7 กรกฎาคม 2537 โจทก์สืบพยานนัดแรกในวันที่ 26 สิงหาคม 2537 ต่อมาวันที่ 26 มิถุนายน 2538โจทก์สืบพยาน 2 ปาก แล้วแถลงหมดพยานที่จะสืบ จำเลยแถลงประสงค์จะอ้างตัวจำเลยเบิกความเป็นพยานเองและขอเลื่อนไปสืบในนัดหน้าศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีนี้จำเลยยื่นคำให้การกรณีจึงไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 199 วรรคสอง ที่จะให้สืบจำเลยอ้างตนเองเบิกความเป็นพยาน และปรากฎว่าคดีนี้จำเลยมิได้ยื่นบัญชีระบุพยาน คดีไม่มีประเด็นที่จะสืบพยานจำเลย ไม่มีเหตุที่จะสืบพยานจำเลย ยกคำแถลง คดีเสร็จการพิจารณา ให้นัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 28 สิงหาคม 2538 เวลา 13.30 นาฬิกาแล้วศาลชั้นต้นพิพากษาคดีตามวันและเวลาดังกล่าว
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเพียงข้อเดียวว่าการที่ศาลชั้นต้นให้งดสืบพยานจำเลยเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ในปัญหานี้ที่จำเลยฎีกาว่าจำเลยได้ยื่นบัญชีระบุพยานตามบัญชีระบุพยานตามบัญชีระบุพยาน ลงวันที่ 22 มิถุนายน 2537โดยระบุพยานจำเลยทั้งหมด 16 อันดับ ไว้เป็นเวลาสิบห้าวันพอดีก่อนมีการชี้สองสถาน และศาลชั้นต้นได้รับบัญชีระบุพยานจำเลยไว้แล้วโดยมีคำสั่งว่า “สำเนาให้คู่ความอีกฝ่ายรวมสำเนาไว้16 อันดับ” ทั้งทนายโจทก์ก็ได้ลงชื่อรับสำเนาบัญชีระบุพยานจำเลยไปจากศาลแล้ว ประกอบกับขณะนี้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2538มาตรา 3 ให้ยกเลิกความในมาตรา 88 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งฉบับแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2535 จำเลยจึงมีสิทธิที่จะนำพยานจำเลยทุกปากรวมทั้งตัวจำเลยเองเบิกความเป็นพยานได้นั้นเห็นว่า ในการยื่นระบุพยานของจำเลย จำเลยต้องกระทำตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะยื่นบัญชีระบุพยาน มิใช่กระทำตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ใช้บังคับในภายหลัง บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะจำเลยยื่นบัญชีระบุพยาน คือบทบัญญัติ มาตรา 885 วรรคแรกและวรรคสี่แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง(ฉบับที่ 13) พ.ศ.2535 ซึ่งวรรคแรกบัญญัติว่า “ในกรณีที่มีการชี้สองสถานเมื่อคู่ความฝ่ายใดมีความจำนงที่จะอ้างอิงเอกสารฉบับใดหรือคำเบิกความของพยานคนใด เพื่อเป็นพยานหลักฐานสนับสนุนข้ออ้างหรือข้อเถียงของตน ให้คู่ความฝ่ายนั้นยื่นต่อศาลก่อนวันชี้สองสถานไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน ซึ่งบัญชีระบุพยานโดยแสดงเอกสารหรือสภาพของเอกสารที่จะอ้างและรายชื่อที่อยู่ ของบุคคล ซึ่งคู่ความฝ่ายนั้นระบุอ้างเป็นพยาน” และวรรคสี่บัญญัติว่า “เมื่อระยะเวลาที่กำหนดให้ยื่นบัญชีระบุพยานตามวรรคหนึ่ง ได้สิ้นสุดลงแล้ว ถ้าคู่ความฝ่ายใดซึ่งมิได้ยื่นบัญชีระบุพยานแสดงให้เป็นที่พอใจแก่ศาลได้ว่า มีเหตุอันสมควรที่ไม่สามารถยื่นบัญชีระบุพยานตามกำหนดเวลาดังกล่าวได้คู่ความฝ่ายนั้นอาจยื่นคำร้องขออนุญาตอ้างพยานหลักฐานเช่นว่านั้นต่อศาลพร้อมกับบัญชีระบุพยาน และสำเนาบัญชีระบุพยานดังกล่าวไม่ว่าเวลาใด ๆ ก่อนพิพากษาคดีและถ้าศาลเห็นว่า เพื่อให้การวินิจฉัยชี้ขาดข้อสำคัญแห่งประเด็น เป็นไปโดยเที่ยงธรรมจำเป็นจะต้องสืบพยานหลักฐานเช่นว่านั้น ก็ให้ศาลอนุญาตตามคำร้อง”ดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นกำหนดวันชี้สองสถานคดีนี้ในวัน 7กรกฎาคม 2537 จำเลยจึงต้องยื่นบัญชีระบุพยานก่อนวันที่ 7กรกฎาคม 2537 ไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน ที่จำเลยยื่นบัญชีระบุพยานเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2537 นั้น เป็นการยื่นบัญชีระบุพยานก่อนวันชี้สองสถานเพียง วัน จึงเป็นการยื่นบัญชีระบุพยานก่อนวันชี้สองสถานน้อยกว่าสิบห้าวัน ไม่ชอบด้วยบทบัญญัติมาตรา 88 วรรคแรกดังกล่าวที่ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งรับบัญชีระบุพยานของจำเลยนั้นไว้ได้ ฉะนั้น แม้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในบัญชีระบุพยานจำเลยดังกล่าวว่า “สำเนาให้คู่ความอีกฝ่ายรวมสำนวน 16 อันดับ” อันถือได้ว่าศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งรับบัญชีระบุพยานของจำเลยดังกล่าวไว้แล้วก็ตาม แต่เมื่อต่อมาความปรากฎแก่ศาลชั้นต้นว่าการยื่นบัญชีระบุพยานของจำเลยดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะจำเลยยื่นบัญชีระบุพยานไม่ครบตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ศาลชั้นต้นก็ย่อมมีอำนาจเพิกถอนคำสั่งที่ได้สั่งรับบัญชีระบุพยานของจำเลยไว้โดยไม่ถูกต้องนั้นได้ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 26มิถุนายน 2538 ว่า “ปรากฎว่าคดีนี้จำเลยมิได้ยื่นบัญชีระบุพยานคดีไม่เป็นประเด็นที่จะสืบพยานจำเลย” นั้น ถือได้ว่าศาลชั้นต้นได้เพิกถอนคำสั่งรับบัญชีระบุพยานของจำเลยซึ่งสั่งโดยไม่ถูกต้องไว้แต่เดิมนั้นโดยปริยายแล้วกรณีจึงต้องถือว่าจำเลยไม่ได้ยื่นบัญชีระบุพยานก่อนวันชี้สองสถานไม่น้อยกว่าสิบห้าวันตามมาตรา 88 วรรคแรกแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งซึ่งเมื่อจำเลยมิได้ยื่นบัญชีระบุพยานภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดดังกล่าว และไม่ปรากฎว่าจำเลยได้ยื่นคำร้องขออ้างพยานหลักฐานเช่นว่านั้นต่อศาลพร้อมกับบัญชีระบุพยานและสำเนาบัญชีระบุพยานดังกล่าวโดยแสดงเหตุอันสมควรที่ไม่สามารถยื่นบัญชีระบุพยานดังกล่าวโดยแสดงเหตุอันสมควรที่ไม่สามารถยื่นบัญชีระบุพยานตามกำหนดเวลาดังกล่าวได้ตามบทบัญญัติมาตรา 88 วรรคสี่แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ทั้งกรณีไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นที่ให้ศาลมีอำนาจรับฟังพยานหลักฐานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87 (2) จำเลยจึงไม่มีสิทธินำพยานหลักฐานมาสืบแต่อย่างใด ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ไม่มีเหตุที่จะสืบพยานจำเลย คดีเสร็จการพิจารณา ให้นัดฟังคำพิพากษาอันเป็นการที่ศาลชั้นต้นให้งดสืบพยานจำเลยหรือไม่อนุญาตให้จำเลยนำพยานหลักฐานเข้าสืบนั้น จึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share