คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 566/2527

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ไม่มีกฎหมายบังคับว่าถ้าผู้มอบอำนาจให้ฟ้องคดีอายุ 80 ปีเศษต้องให้เจ้าหน้าที่อำเภอรับรองสติสัมปชัญญะของผู้มอบอำนาจ
โจทก์ฟ้องเรียกร้องเอามรดกของบิดาในฐานะที่ตนเป็นทายาทและทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรสโดยการรับมรดกเป็นสินส่วนตัวตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1471(3) จึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสินส่วนตัว มิใช่เป็นเรื่องการจัดการสินสมรสโจทก์มีอำนาจฟ้องโดยไม่ต้องได้รับความยินยอมของคู่สมรสพ. กับโจทก์ที่ 1 เป็นสามีภริยากันตลอดมาถึงวันใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 แม้ภายหลัง พ. จะแยกไปอยู่กินกับจำเลยที่ 1 และต่อมาได้จดทะเบียนสมรสกันโดยแจ้งต่อนายทะเบียนว่าเคยมีภริยามาก่อน แต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส และได้เลิกกันไปแล้ว ก็ไม่ทำให้การสมรสระหว่าง พ. กับโจทก์ที่ 1 ขาดจากกัน เพราะการสมรสจะขาดจากกันก็ด้วยความตาย การหย่า หรือศาลพิพากษาให้เพิกถอนเท่านั้น การจดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 1 ในขณะที่ พ.มีโจทก์ที่ 1 เป็นคู่สมรสอยู่แล้ว จึงเป็นการฝ่าฝืนเงื่อนไขแห่งการสมรส และเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1452 และ มาตรา 1496จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิรับบำเหน็จตกทอดและบำนาญค้างจ่ายของพ. กับไม่มีสิทธิรับมรดกด้วย

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนการสมรสระหว่างนาวาเอกหลวงพินิจกลไกกับจำเลยที่ 1 ตามใบสำคัญการสมรสเลขทะเบียนที่ จ. 8/8 ให้โจทก์ที่ 1 มีสิทธิรับเงินบำเหน็จตกทอดและเงินบำนาญค้างจ่ายแต่ผู้เดียวให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบโฉนดเลขที่ 66686 แก่โจทก์ เพื่อใส่ชื่อโจทก์ทั้งห้าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์โดยครึ่งหนึ่งเป็นของโจทก์ที่ 1 ส่วนที่เหลือเป็นมรดกตกได้แก่โจทก์ทั้งห้าและทายาทของนาวาเอกหลวงพินิจกลไก ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยทั้งสี่ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ทางพิจารณาข้อเท็จจริงในเบื้องต้นได้ความว่า โจทก์ที่ 1 เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนาวาเอกหลวงพินิจกลไกก่อนใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 5 มีบุตรด้วยกัน 7 คน แต่มีชีวิตอยู่ในขณะฟ้องเพียง 5 คน คือโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5 และนายอนุวัตร สุวรรณสโรช ประมาณปี พ.ศ. 2490 นาวาเอกหลวงพินิจกลไก และจำเลยที่ 1 อยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา และได้จดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2520 ก่อนอยู่กินกับนาวาเอกหลวงพินิจกลไก จำเลยที่ 1 มีบุตรกับนายเปรม 1 คน คือจำเลยที่ 2 สำหรับจำเลยที่ 3 และที่ 4 ไม่ปรากฏว่าเป็นบุตรของผู้ใด นาวาเอกหลวงพินิจกลไกมิได้จดทะเบียนรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นบุตรบุญธรรม นาวาเอกหลวงพินิจกลไกถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2521 ก่อนถึงแก่กรรมนาวาเอกหลวงพินิจกลไกเป็นข้าราชการบำนาญสังกัดกองทัพเรือและมีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 66686 ทายาทของนาวาเอกหลวงพินิจกลไกมีสิทธิได้รับบำเหน็จตกทอดจำนวน 96,954.90 บาท และบำนาญค้างจ่ายอีก 2,814.80 บาท จากกองทัพเรือ โจทก์ที่ 1 เคยฟ้องจำเลยที่ 1 ขอให้เพิกถอนการสมรสระหว่างนาวาเอกหลวงพินิจกลไกกับจำเลยที่ 1 ตามคดีหมายเลขแดงที่ 1615/2522 ของศาลแพ่ง ศาลพิพากษายกฟ้อง คดีถึงที่สุดแล้ว

พิเคราะห์แล้ว ปัญหาข้อแรกที่จำเลยฎีกาว่าหนังสือมอบอำนาจที่โจทก์ที่ 1 มอบให้โจทก์ที่ 3 ฟ้องคดีไม่สมบูรณ์ และข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าได้มีการมอบอำนาจกันนั้น โจทก์ที่ 3 เบิกความว่าพยานเป็นผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ที่ 1 ตามหนังสือมอบอำนาจท้ายฟ้อง โจทก์ที่ 1 มอบอำนาจด้วยความเต็มใจและมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ โดยมีนายประยูรสวัสดิ์เอกภูม ซึ่งเป็นพยานในหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวเบิกความสนับสนุนส่วนจำเลยทั้งสี่เบิกความเพียงว่าพยานไม่รับรองความถูกต้องของหนังสือมอบอำนาจท้ายฟ้องที่มอบให้โจทก์ที่ 3 ฟ้องคดี เพราะโจทก์ที่ 1 อายุ 80 ปีเศษ ไม่มีเจ้าหน้าที่อำเภอรับรองสติสัมปชัญญะของโจทก์ที่ 1 ศาลฎีกาเห็นว่าพยานโจทก์เบิกความสอดคล้องต้องกัน และจำเลยมิได้คัดค้านลายมือชื่อผู้มอบอำนาจในหนังสือมอบอำนาจท้ายฟ้อง ข้อเท็จจริงเชื่อว่าโจทก์ที่ 1 มอบอำนาจให้โจทก์ที่ 3 ฟ้องคดีนี้ ทั้งไม่มีกฎหมายบังคับว่าถ้าผู้มอบอำนาจอายุ 80 ปีเศษต้องให้เจ้าหน้าที่อำเภอรับรองสติสัมปัชัญญะของผู้มอบอำนาจ หนังสือมอบอำนาจท้ายฟ้องจึงสมบูรณ์ข้อที่จำเลยฎีกาว่า คู่สมรสของโจทก์ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ไม่ได้ให้ความยินยอมในการฟ้องคดีนี้ โจทก์ทั้งสามดังกล่าวจึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่าโจทก์ทั้งสามดังกล่าวฟ้องเรียกร้องเอามรดกของนาวาเอกหลวงพินิจกลไกในฐานะที่ตนเป็นทายาท และทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรสโดยการรับมรดกเป็นสินส่วนตัวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระใหม่มาตรา 1471(3) การฟ้องคดีของโจทก์ทั้งสามจึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสินส่วนตัว มิใช่เป็นเรื่องการจัดการสินสมรส โจทก์ทั้งสามมีอำนาจฟ้องโดยไม่ต้องได้รับความยินยอมของคู่สมรส จึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่าโจทก์ทั้งสามได้รับความยินยอมในการฟ้องคดีจากคู่สมรสหรือไม่

ปัญหาข้อต่อไปจำเลยฎีกาว่า โจทก์ที่ 1 เคยฟ้องจำเลยที่ 1 ขอให้เพิกถอนการสมรสระหว่างนาวาเอกหลวงพินิจกลไกกับจำเลยที่ 1 ตามคดีหมายเลขแดงที่ 1615/2522 ของศาลแพ่ง การที่โจทก์นำคดีนี้มาฟ้องในประเด็นเดียวกันจึงเป็นฟ้องซ้ำนั้น แม้คดีหมายเลขแดงที่ 1615/2522 ดังกล่าว โจทก์ที่ 1 จะฟ้องว่าการที่นายทะเบียนรับจดทะเบียนสมรสให้นาวาเอกหลวงพินิจกลไกกับจำเลยที่ 1 ในขณะที่นาวาเอกหลวงพินิจกลไก ยังเป็นคู่สมรสของโจทก์ที่ 1 อยู่ การจดทะเบียนสมรสย่อมตกเป็นโมฆะขอให้ศาลเพิกถอนการจดทะเบียนสมรส แต่ศาลชั้นต้นก็มิได้ทำการสืบพยานโจทก์จำเลย และมิได้วินิจฉัยประเด็นที่ว่าการจดทะเบียนสมรสระหว่างนาวาเอกหลวงพินิจกลไกกับจำเลยที่ 1 เป็นโมฆะหรือไม่ โดยศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดชี้สองสถานแล้วพิพากษาในวันนั้นให้ยกฟ้องโจทก์โดยวินิจฉัยว่าเมื่อนาวาเอกหลวงพินิจกลไกถึงแก่กรรมแล้วการสมรสระหว่างนาวาเอกหลวงพินิจกลไกกับจำเลยที่ 1 ก็ย่อมสิ้นสุดไม่มีอะไรที่จะต้องเพิกถอนอีกการที่โจทก์นำคดีนี้มาฟ้องในประเด็นที่ศาลยังไม่ได้วินิจฉัยดังกล่าวจึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ

ปัญหาข้อต่อไปที่ต้องวินิจฉัยมีว่า การจดทะเบียนสมรสระหว่างนาวาเอกหลวงพินิจกลไกกับจำเลยที่ 1 เป็นโมฆะหรือไม่ โจทก์ที่ 3 ซึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ที่ 1 ให้ฟ้องคดีนี้เบิกความว่านาวาเอกหลวงพินิจกลไกกับโจทก์ที่ 1 เป็นสามีภริยากันตลอดมาจนถึงแก่กรรม ไม่เคยทิ้งร้างหรือหย่ากัน ปี พ.ศ. 2499 นาวาเอกหลวงพินิจกลไกนำโจทก์ที่ 1 ไปสมัครเป็นสมาชิกฌาปนกิจแห่งราชนาวีสำหรับภริยาข้าราชการสัญญาบัตรของกองทัพเรือ และนาวาเอกหลวงพินิจกลไกยื่นภาษีเงินได้ประจำปี พ.ศ. 2516 โดยระบุว่าโจทก์ที่ 1 เป็นภริยา ตามเอกสารหมาย จ.6 และ จ.8 ในคดีหมายเลขดำที่ 823/2422 ของศาลแพ่งตามลำดับ คำของโจทก์ที่ 3 ดังกล่าวมีโจทก์ที่ 2 และที่ 4 เบิกความสนับสนุน ทั้งโจทก์ที่ 2 และที่ 4 เบิกความด้วยว่าโจทก์ที่ 5 เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2479 แสดงว่าในวันที่ 1 ตุลาคม 2478 ซึ่งเป็นวันใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 นาวาเอกหลวงพินิจกลไกกับโจทก์ที่ 1 ยังเป็นสามีภริยากันอยู่ ส่วนจำเลยที่ 1 เบิกความเพียงว่า นาวาเอกหลวงพินิจกลไกเลิกร้างกับโจทก์ที่ 1 มา 40 กว่าปี และนาวาเอกหลวงพินิจกลไกแต่งงานกับจำเลยที่ 1 มาประมาณ 30 กว่าปีก่อนเบิกความพยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักดีกว่าจำเลย ข้อเท็จจริงเชื่อว่านาวาเอกหลวงพินิจกลไกกับโจทก์ที่ 1 เป็นสามีภริยากันตลอดมาถึงวันใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 5 แม้ภายหลังจากนั้นนาวาเอกหลวงพินิจกลไกจะแยกไปอยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลยที่ 1 และต่อมาได้จดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 1 โดยแจ้งต่อนายทะเบียนว่าเคยมีภริยามาก่อนแต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันและได้เลิกกันไปแล้ว ก็ไม่ทำให้การสมรสระหว่างนาวาเอกหลวงพินิจกลไกกับโจทก์ที่ 1 ขาดจากกัน เพราะหลังจากใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 แล้ว การสมรสจะขาดจากกันก็ด้วยความตาย การหย่า หรือศาลพิพากษาให้เพิกถอนเท่านั้น การที่นาวาเอกหลวงพินิจกลไกจดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 1 ในขณะที่นาวาเอกหลวงพินิจกลไกมีโจทก์ที่ 1 เป็นคู่สมรสอยู่แล้วจึงเป็นการฝ่าฝืนเงื่อนไขแห่งการสมรสและเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ มาตรา 1452 และมาตรา 1496 จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิรับบำเหน็จตกทอดและบำนาญค้างจ่ายของนาวาเอกหลวงพินิจกลไก กับไม่มีสิทธิรับมรดกที่ดินโฉนดเลขที่ 66686 ด้วย สำหรับจำเลยที่ 2 มิใช่เป็นบุตรของนาวาเอกหลวงพินิจกลไก จำเลยที่ 3 และที่ 4 ไม่ปรากฏว่าเป็นบุตรของผู้ใด และนาวาเอกหลวงพินิจกลไกมิได้จดทะเบียนรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นบุตรบุญธรรม จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จึงมิใช่ทายาทไม่มีสิทธิได้รับมรดกของนาวาเอกหลวงพินิจกลไก ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 5,000บาท แทนโจทก์ทั้งห้า

Share