คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5644/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

สิทธิของจำเลยในการขอรับบำนาญจากโจทก์เมื่อกลับเข้า รับราชการใหม่จะต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติ บำเหน็จบำนาญ ข้าราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2500 มาตรา 34 ที่กำหนดว่า ถ้าเงินเดือนที่ได้รับในขณะที่เข้ารับราชการครั้งใหม่น้อยกว่า เงินเดือนเดิมเมื่อก่อนออกจากราชการจะขอรับบำนาญรวมกัน ไปด้วยก็ได้ แต่ถ้าเงินเดือนรวมกับบำนาญสูงกว่าเงินเดือนเดิม ต้องลดบำนาญลงในระหว่างที่รับราชการครั้งหลังจนเงินเดือน ใหม่รวมกับบำนาญไม่สูงกว่าเงินเดือนเดิม ถ้าเงินเดือนใหม่ เท่าหรือสูงกว่าเงินเดือนเดิมก็ให้งดบำนาญในระหว่างนั้น ดังนั้น เมื่อจำเลยได้รับเงินเดือนใหม่ในอัตราเดือนละ 750 บาท จำเลยมีสิทธิได้รับบำนาญเพียงเดือนละ 250 บาท ซึ่งเมื่อรวม กับเงินเดือนแล้วไม่สูงกว่าเงินเดือนก่อนลาออกจากราชการ ที่รับอยู่ในอัตราเดือนละ 1,000 บาท และเมื่อเงินเดือนใหม่ ของจำเลยสูงขึ้น สิทธิในการรับบำนาญของจำเลยก็จะต้องลดลง จนเมื่อเงินเดือนใหม่เป็นอัตราเดือนละ 1,000 บาท ขึ้นไป จึงให้งดบำนาญเสียทั้งหมด สิทธิในการรับบำนาญของจำเลยในกรณีที่กลับเข้ารับราชการใหม่กับไม่เข้ารับราชการใหม่ จึงไม่ เหมือนกันและเป็นหน้าที่ของจำเลยในอันที่จะต้องแจ้งให้โจทก์ ทราบว่าจำเลยกลับเข้ารับราชการใหม่ในหน่วยราชการอื่น เพื่อ โจทก์จะได้จ่ายเงินบำนาญให้แก่จำเลยได้ถูกต้องตามสิทธิของ ของจำเลย การที่จำเลยไม่แจ้งให้โจทก์ทราบถึงการกลับ เข้ารับราชการใหม่ทำให้โจทก์จ่ายเงินบำนาญแก่จำเลยไปเกินกว่า สิทธิที่จำเลยจะได้รับนั้นเป็นการปิดบังโจทก์ทำให้โจทก์เสียหาย โจทก์ในฐานะเจ้าของเงินย่อมมีสิทธิฟ้องเรียกเงินจำนวนนี้ คืนจากจำเลยอันเป็นการใช้สิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์ ของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 ซึ่งไม่มีกำหนดอายุความ กรณีไม่อยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 คดีโจทก์ยังไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 227,544.73 บาทให้โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน 136,356.47 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยรับบำนาญไปจากโจทก์โดยไม่มีสิทธิตามจำนวนที่โจทก์ฟ้อง แต่คดีขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 419 แล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงิน 136,356.47บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 1 กันยายน 2528 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแต่ดอกเบี้ยก่อนวันฟ้องต้องไม่เกิน 91,188.26 บาท
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่าเดิมจำเลยรับราชการเป็นครูโรงเรียนวัดบางทวด อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราชตั้งแต่ พ.ศ. 2488 ต่อมาวันที่ 10 กรกฎาคม 2511 จำเลยลาออกจากราชการโดยได้รับเงินเดือนของเดือนสุดท้ายในอัตราเดือนละ 1,000 บาทต่อมาวันที่ 15 เดือนเดียวกัน จำเลยกลับเข้ารับราชการใหม่ในตำแหน่งครูโรงเรียนเทศบาลเมืองปากพนัง สังกัดเทศบาลเมืองปากพนังได้รับเงินเดือนในอัตราเดือนละ 750 บาท และได้รับบำนาญจากโจทก์นับแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2511 ตลอดมาจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2527 ซึ่งเป็นการรับบำนาญไปเกินกว่าสิทธิของจำเลยรวมเป็นเงิน 136,356.47 บาท รายละเอียดตรงตามที่โจทก์ฟ้อง โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยคืนเงินดังกล่าวแก่โจทก์แล้วแต่จำเลยไม่คืน คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า เงินบำนาญที่จำเลยรับไปจากโจทก์เกินกว่าสิทธิของจำเลยนั้นเป็นลาภมิควรได้ซึ่งโจทก์ต้องฟ้องคดีภายในกำหนดอายุความ 1 ปีนับจากวันที่โจทก์ทราบว่าโจทก์มีสิทธิเรียกคืนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 419 หรือไม่ เห็นว่าสิทธิของจำเลยในการขอรับบำนาญจากโจทก์เมื่อกลับเข้ารับราชการใหม่จะต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2500 มาตรา 34 ที่บัญญัติว่า ข้าราชการส่วนท้องถิ่นผู้ซึ่งได้รับหรือมีสิทธิในบำนาญตามปกติแล้วภายหลังกลับเข้ารับราชการใหม่ ถ้าเงินเดือนที่ได้รับในขณะที่เข้ารับราชการครั้งใหม่น้อยกว่าเงินเดือนเดิมเมื่อก่อนออกจากราชการจะขอรับบำนาญรวมกันไปด้วยก็ได้ แต่ถ้าเงินเดือนรวมกับบำนาญสูงกว่าเงินเดือนเดิมต้องลดบำนาญลง ในระหว่างที่รับราชการครั้งหลังจนเงินเดือนใหม่รวมกับบำนาญไม่สูงกว่าเงินเดือนเดิมถ้าเงินเดือนใหม่เท่าหรือสูงกว่าเงินเดือนเดิมก็ให้งดบำนาญในระหว่างนั้น” ดังนั้นเมื่อจำเลยได้รับเงินเดือนใหม่ในอัตราเดือนละ 750 บาท จำเลยมีสิทธิได้รับบำนาญเพียงเดือนละ250 บาท ซึ่งเมื่อรวมกับเงินเดือนแล้วไม่สูงกว่าเงินเดือนเดิมก่อนลาออกจากราชการที่รับอยู่ในอัตราเดือนละ 1,000 บาทและเมื่อเงินเดือนใหม่ของจำเลยสูงขึ้น สิทธิในการรับบำนาญของจำเลยก็จะต้องลดลงจนเมื่อเงินเดือนใหม่เป็นอัตราเดือนละ1,000 บาท ขึ้นไป จึงให้งดบำนาญเสียทั้งหมด สิทธิในการรับบำนาญของจำเลยในกรณีที่กลับเข้ารับราชการใหม่กับไม่เข้ารับราชการใหม่จึงไม่เหมือนกันและเป็นหน้าที่ของจำเลยในอันที่จะต้องแจ้งให้โจทก์ทราบว่าจำเลยกลับเข้ารับราชการใหม่ในหน่วยราชการอื่น เพื่อโจทก์จะได้จ่ายเงินบำนาญให้แก่จำเลยได้ถูกต้องตามสิทธิของจำเลย การที่จำเลยไม่แจ้งให้โจทก์ทราบถึงการกลับเข้ารับราชการใหม่ทำให้โจทก์จ่ายเงินบำนาญแก่จำเลยไปเกินกว่าสิทธิที่จำเลยจะได้รับนั้นเป็นการปิดบังโจทก์ทำให้โจทก์เสียหาย โจทก์ในฐานะเจ้าของเงินย่อมมีสิทธิฟ้องเรียกเงินจำนวนนี้คืนจากจำเลยอันเป็นการใช้สิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์ของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 ซึ่งไม่มีกำหนดอายุความ กรณีไม่อยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/30 คดีของโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาให้จำเลยชำระเงินบำนาญแก่โจทก์ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share