คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5644/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 ร่วมรับผิดชำระค่าเสียหายจำนวน 31,500 บาท ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1โจทก์อุทธรณ์ ดังนี้ ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์โจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 จึงไม่เกิน 50,000 บาท ต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง โจทก์อุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคหนึ่งการที่ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการไม่ชอบ คดีสำหรับจำเลยที่ 1จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิฎีกาแม้ผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นจะรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้ก็ตาม ศาลฎีกาก็ไม่อาจพิจารณาฎีกาของจำเลยที่ 1 ได้ สัญญาจ้างเหมาก่อสร้างฉบับพิพาท ข้อ 20 ระบุว่าถ้าผู้ว่าจ้างบอกเลิกสัญญาแล้ว ผู้รับจ้างยอมให้ผู้ว่าจ้างริบหลักประกันในสัญญาข้อ 3 ปรากฏว่าเมื่อจำเลยที่ 1 ทำงานแล้วเสร็จเรียบร้อยและโจทก์ได้รับมอบงานจากจำเลยที่ 1 ตามสัญญาแล้วถือว่าจำเลยที่ 1 ทำงานครบถ้วนตามสัญญาแล้วโจทก์ย่อมหมดสิทธิบอกเลิกสัญญา จำเลยที่ 1 ยังคงต้องรับผิดชอบต่องานที่โจทก์ได้รับมอบไปแล้วถ้ามีเหตุชำรุดเสียหายนั้นเกิดจากความบกพร่องของจำเลยที่ 1 ตามสัญญาข้อ 6 วรรคหนึ่งซึ่งหากจำเลยที่ 1 บิดพลิ้วเพิกเฉย โจทก์มีสิทธิว่าจ้างผู้อื่นทำงานนั้นหรือทำการแก้ไขเองโดยจำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดต่อค่าแก้ไขซ่อมแซมเท่านั้น ดังนี้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิริบหลักประกันตามสัญญาข้อ 20

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายจำนวน 31,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินหลักประกันตามสัญญาค้ำประกันทั้งสองฉบับจำนวน 398,310 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า ความเสียหายเกิดขึ้นหลังจากโจทก์ได้ใช้งานจากฝายน้ำล้นแล้ว จึงเป็นกรณีเสื่อมสภาพเพราะการใช้งานของโจทก์อีกส่วนหนึ่ง โจทก์ไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญา เพราะจำเลยที่ 1ได้ปฏิบัติการชำระหนี้ตามสัญญาโดยได้ก่อสร้างฝายน้ำล้นแล้วเสร็จ และโจทก์ได้รับมอบงานไปแล้วตั้งแต่วันที่ 21 กันยายน 2532 จึงไม่มีข้อสัญญาใดที่จะให้โจทก์บอกเลิกสัญญาอีก
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายเป็นเงิน 31,500 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จ
โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 ร่วมรับผิดชำระค่าเสียหายจำนวน 31,500 บาท ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1 โจทก์อุทธรณ์ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์โจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 จึงไม่เกิน 50,000 บาท ต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง โจทก์อุทธรณ์ว่าโจทก์สำรวจออกแบบได้มาตรฐานถูกต้องตามหลักวิชาการและหลักวิชาชีพวิศวกรรมทุกประการดังนั้น ความชำรุดเสียหายของฝายน้ำล้นที่เกิดขึ้นจากการก่อสร้างไม่ดีไม่ได้มาตรฐานของจำเลยที่ 1 จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการไม่ชอบ คดีสำหรับจำเลยที่ 1 จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิฎีกา แม้ผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นจะรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้ก็ตาม ศาลฎีกาก็ไม่อาจพิจารณาฎีกาของจำเลยที่ 1ได้ ส่วนจำเลยที่ 2 ไม่ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1ที่ให้จำเลยที่ 2 ชำระค่าเสียหายเป็นเงิน 31,500 บาท แก่โจทก์นั้นคดีสำหรับจำเลยที่ 2 ในส่วนนี้จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1
ที่โจทก์ฎีกาว่า แม้โจทก์รับมอบงานก่อสร้างเสร็จแล้วแต่เมื่อจำเลยที่ 1 ยังต้องรับผิดชอบต่อความชำรุดเสียหายภายในกำหนด 1 ปี นับแต่วันรับมอบ ตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างเอกสารหมาย จ.1 ข้อ 6 สัญญาจ้างยังมีผลผูกพันคู่สัญญา เมื่อจำเลยที่ 1เพิกเฉยไม่ซ่อมแซมความชำรุดเสียหายดังกล่าวย่อมถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญา โจทก์จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและริบหลักประกันอีก 398,310 บาท จากจำเลยที่ 2 ได้นั้น เห็นว่าสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างเอกสารหมาย จ.1 ข้อ 5 วรรคหนึ่งระบุว่า “ผู้รับจ้างสัญญาว่าจะเริ่มลงมือทำงาน ณ สถานที่ที่กำหนดภายในวันที่ 15 เมษายน พ.ศ.2531 และให้แล้วเสร็จบริบูรณ์ภายในวันที่ 8กุมภาพันธ์ พ.ศ.2532 ถ้าผู้รับจ้างมิได้ลงมือทำงานภายในกำหนดเวลาดังกล่าวก็ดี หรือมีเหตุให้ผู้ว่าจ้างเชื่อได้ว่า ผู้รับจ้างไม่สามารถทำงานให้แล้วเสร็จบริบูรณ์ภายในกำหนดเวลาก็ดี หรือล่วงเลยกำหนดเวลาแล้วเสร็จบริบูรณ์ไปแล้วก็ดี หรือผู้รับจ้างทำผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใดก็ดีผู้ว่าจ้างมีสิทธิจะบอกเลิกสัญญานี้ได้ และมีอำนาจจ้างผู้อื่นทำงานจ้างนี้ต่อจากผู้รับจ้างได้ด้วย”
ข้อ 6 วรรคหนึ่ง ระบุว่า “เมื่องานแล้วเสร็จเรียบร้อย และผู้ว่าจ้างได้รับมอบงานจากผู้รับจ้าง ถ้ามีเหตุชำรุดเสียหายเกิดขึ้นแก่งานจ้างนี้ภายในกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่ได้รับมอบงานโดยให้นับวันที่ได้รับมอบงานเป็นวันเริ่มต้น ซึ่งเหตุชำรุดเสียหายนั้นเกิดจากความบกพร่องของผู้รับจ้างจะเป็นโดยทำไว้ไม่เรียบร้อยหรือใช้สิ่งของที่ไม่ดี หรือทำไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการก็ตามผู้รับจ้างต้องรีบทำการแก้ไขให้เป็นที่เรียบร้อยภายในระยะเวลาที่ผู้ว่าจ้างจะกำหนด โดยไม่คิดเอาค่าสิ่งของ ค่าแรงงานหรือค่าใช้จ่ายอื่นใดจากผู้ว่าจ้างอีกถ้าผู้รับจ้างบิดพริ้วไมแ่ก้ไขซ่อมแซมภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งเป็นหนังสือจากผู้ว่าจ้าง โดยให้นับวันที่ได้รับแจ้งเป็นวันเริ่มต้นหรือแก้ไขซ่อมแซมไม่แล้วเสร็จเรียบร้อยภายในวันที่ผู้ว่าจ้างกำหนดผู้ว่าจ้างมีสิทธิจ้างผู้อื่นให้ทำงานนั้นแทนผู้รับจ้างได้”
ข้อ 20 ระบุว่า “ถ้าผู้ว่าจ้างบอกเลิกสัญญาแล้ว ผู้รับจ้างยอมให้ผู้ว่าจ้างดำเนินการดังต่อไปนี้
(1) ริบหลักประกันสัญญาดังกล่าวในสัญญาข้อ 3 ฯลฯ”
เมื่อจำเลยที่ 1 ทำงานแล้วเสร็จเรียบร้อยและโจทก์ได้รับมอบงานจากจำเลยที่ 1 แล้วเช่นนี้ ถือได้ว่าจำเลยที่ 1ทำงานครบถ้วนตามสัญญาแล้ว โจทก์ย่อมหมดสิทธิบอกเลิกสัญญาแต่จำเลยที่ 1 ยังคงต้องรับผิดชอบต่องานที่โจทก์ได้รับมอบไปแล้วเท่านั้นกล่าวคือ ถ้าฝายน้ำล้นนั้นเกิดชำรุดเสียหายภายในกำหนด1 ปี นับแต่วันวันที่ได้รับมอบงาน โจทก์มีสิทธิแจ้งให้จำเลยที่ 1ทำการแก้ไขซ่อมแซมส่วนที่ชำรุดเสียหาย ถ้าเหตุชำรุดเสียหายนั้นเกิดจากความบกพร่องของจำเลยที่ 1 ตามสัญญาข้อ 6 วรรคหนึ่งหากจำเลยที่ 1 บิดพลิ้วเพิกเฉย โจทก์มีสิทธิว่าจ้างผู้อื่นทำงานนั้นหรือทำการแก้ไขเองโดยจำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดต่อค่าแก้ไขซ่อมแซมเท่านั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิริบหลักประกันจากจำเลยที่ 2
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ทั้งหมดและยกฎีกาจำเลยที่ 1 คืนค่าธรรมเนียมศาลชั้นฎีกาทั้งหมดแก่จำเลยที่ 1 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share