แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2552 ที่ประชุมใหญ่สหกรณ์ออมทรัพย์กรมชลประทาน จำกัด มีมติเลือกจำเลยเป็นกรรมการดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์ดังกล่าว ต่อมาสหกรณ์ออมทรัพย์กรมชลประทาน จำกัด ได้แต่งตั้งจำเลยเป็นผู้แทนของสหกรณ์เพื่อเข้าร่วมประชุมใหญ่ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย จำกัด โจทก์และที่ประชุมใหญ่ของโจทก์มีมติเลือกจำเลยเป็นกรรมการดำเนินการชุมนุมสหกรณ์โจทก์ กรณีการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยเป็นไปตามคำสั่งที่ได้รับมอบหมายหรือมติคณะกรรมการดำเนินการชุมนุมสหกรณ์โจทก์ การที่โจทก์จ่ายเงินค่าเบี้ยประชุมและผลประโยชน์ตอบแทนอื่นให้แก่จำเลยเป็นการปฏิบัติตามระเบียบของโจทก์ซึ่งเป็นสิทธิโดยชอบธรรมของจำเลยที่จะได้รับจากการทำงานของตน ขณะเดียวกันโจทก์ก็ได้ผลแห่งการงานที่จำเลยได้กระทำในระหว่างที่เป็นกรรมการดำเนินการชุมนุมสหกรณ์โจทก์เป็นการตอบแทนด้วย แม้ภายหลังรองนายทะเบียนสหกรณ์ซึ่งควบคุมและกำกับการดำเนินกิจการสหกรณ์ออมทรัพย์กรมชลประทาน จำกัด มีหนังสือแจ้งเพิกถอนมติการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2552 เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2552 ของสหกรณ์ออมทรัพย์กรมชลประทาน จำกัด เรื่องการสรรหากรรมการดำเนินการ ก็เป็นเพียงเรื่องที่จำเลยขาดคุณสมบัติการเป็นกรรมการดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์กรมชลประทาน จำกัด เป็นเหตุให้จำเลยพ้นจากตำแหน่งกรรมการดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์กรมชลประทาน จำกัด และกรรมการดำเนินการชุมนุมสหกรณ์โจทก์เท่านั้น หาเป็นเหตุให้โจทก์มีสิทธิเรียกเงินและผลประโยชน์ตอบแทนอื่นที่จำเลยมีสิทธิได้รับโดยชอบด้วยกฎหมายในระหว่างที่ยังเป็นกรรมการดำเนินการชุมนุมสหกรณ์โจทก์คืนจากจำเลยไม่ เงินค่าเบี้ยประชุมและผลประโยชน์ตอบแทนอื่นที่จำเลยได้รับ จึงไม่ใช่กรณีที่จำเลยได้รับมาโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้และต้องคืนเงินนั้นให้แก่โจทก์ฐานลาภมิควรได้ ส่วนเงินโบนัสประจำปี 2553 ซึ่งเป็นบำเหน็จรางวัลแก่กรรมการดำเนินการและไม่ถือเป็นผลประโยชน์ตอบแทนการทำงานโดยตรง เมื่อที่ประชุมชุมนุมสหกรณ์โจทก์มีมติให้จ่ายโบนัสดังกล่าวแก่กรรมการดำเนินการรวมทั้งจำเลย หลังจากที่รองนายทะเบียนสหกรณ์มีคำสั่งเพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2552 ของสหกรณ์ออมทรัพย์กรมชลประทาน จำกัด การที่จำเลยได้รับเงินโบนัสดังกล่าวไปจากโจทก์จึงเป็นการได้รับไปโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ซึ่งเป็นลาภมิควรได้ การที่โจทก์จ่ายเงินโบนัสดังกล่าวให้แก่จำเลยไปย่อมเป็นกรณีที่โจทก์ได้กระทำการชำระหนี้ตามอำเภอใจโดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 407 โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกเงินโบนัสดังกล่าวคืนจากจำเลยได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 1,406,148.07 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยโดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 411,093.07 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันที่ 26 ตุลาคม 2555 อันเป็นวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่โจทก์และจำเลยไม่ได้โต้แย้งกันในชั้นฎีกาว่า สหกรณ์ออมทรัพย์กรมชลประทาน จำกัด เป็นสมาชิกชุมนุมสหกรณ์โจทก์ เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2552 ที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2552 ของสหกรณ์ออมทรัพย์กรมชลประทาน จำกัด เลือกจำเลยเป็นกรรมการดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์กรมชลประทาน จำกัด ต่อมาวันที่ 12 เมษายน 2553 สหกรณ์ออมทรัพย์กรมชลประทาน จำกัด ได้ออกหนังสือตั้งจำเลยเป็นผู้แทนสหกรณ์ออมทรัพย์กรมชลประทาน จำกัด ให้มีอำนาจเข้าประชุมใหญ่และใช้สิทธิต่าง ๆ ตามที่กำหนดในข้อบังคับของโจทก์ และเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2553 จำเลยได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่สามัญสมาชิกของโจทก์ให้เป็นกรรมการดำเนินการชุมนุมสหกรณ์โจทก์ ตามรายงานการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2553 แต่ต่อมา รองนายทะเบียนสหกรณ์อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542 มาตรา 20 มีคำสั่งที่ กษ 1106/2666 ลงวันที่ 8 กรกฎาคม 2553 เพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2552 เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2552 ของสหกรณ์ออมทรัพย์กรมชลประทาน จำกัด ในวาระเกี่ยวกับการเลือกตั้งกรรมการดำเนินการ เพราะการประชุมในวาระดังกล่าวมีสมาชิกมาประชุมไม่ครบองค์ประชุม ซึ่งสหกรณ์ออมทรัพย์กรมชลประทาน จำกัด ได้อุทธรณ์คำสั่งของนายทะเบียนสหกรณ์ ตามข้อบังคับของโจทก์ข้อที่ 30 ให้คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์สมาชิกแต่ละสหกรณ์เลือกผู้แทนจากกรรมการดำเนินการของตนสหกรณ์ละ 1 คน เป็นผู้แทนเพื่อเข้าประชุมใหญ่และใช้สิทธิต่าง ๆ ในชุมนุมสหกรณ์ และข้อที่ 38 กำหนดให้ที่ประชุมใหญ่ของโจทก์เลือกคณะกรรมการดำเนินการชุมนุมสหกรณ์โจทก์จากผู้แทนสหกรณ์สมาชิกตามข้อบังคับของโจทก์ ผลการพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งรองนายทะเบียนสหกรณ์ปรากฏว่าคณะอนุกรรมการพิจารณาเรื่องข้ออุทธรณ์ฯ ของคณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติ เห็นว่า คำสั่งของรองนายทะเบียนสหกรณ์ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ประกอบกับสหกรณ์ออมทรัพย์กรมชลประทาน จำกัด รับโดยปริยายว่าคำสั่งของนายทะเบียนสหกรณ์ชอบด้วยกฎหมายแล้ว เหตุแห่งการโต้แย้งสิทธิระงับสิ้นไป จึงเห็นควรจำหน่ายอุทธรณ์ของสหกรณ์ออมทรัพย์กรมชลประทาน จำกัด ซึ่งคณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติเห็นชอบด้วย ตามระเบียบวาระการประชุมคณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติ และหนังสือแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ลงวันที่ 1 มิถุนายน 2555 ซึ่งผู้มีส่วนได้เสียสามารถโต้แย้งได้โดยฟ้องต่อศาลปกครองกลาง นายทะเบียนสหกรณ์ได้เคยแจ้งโจทก์ว่า จำเลยต้องพ้นจากตำแหน่งการเป็นกรรมการดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์กรมชลประทาน จำกัด ตามคำสั่งของรองนายทะเบียนสหกรณ์ จึงไม่มีคุณสมบัติในการเป็นผู้แทนสหกรณ์สมาชิก ตามข้อบังคับของโจทก์ข้อที่ 30 มาตั้งแต่แรกและไม่สามารถรับเลือกตั้งเป็นกรรมการดำเนินการชุมนุมสหกรณ์โจทก์ตามข้อบังคับข้อที่ 38 ระหว่างที่จำเลยทำหน้าที่กรรมการดำเนินการชุมนุมสหกรณ์โจทก์ตั้งแต่วันที่ 12 มิถุนายน 2553 ถึงวันที่ 26 มีนาคม 2555 ได้รับเงินและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ของโจทก์ เช่น ค่าเบี้ยประชุม ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าพาหนะ ค่าวิทยากร ค่าลงทะเบียน ค่าทัวร์ และอื่น ๆ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,358,638.07 บาท ตามเอกสารเกี่ยวกับการจ่ายเงิน ซึ่งได้เบิกจ่ายตามระเบียบของโจทก์ว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปปฏิบัติงานภายในประเทศ พ.ศ.2553 และว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปปฏิบัติงานในต่างประเทศ พ.ศ.2553 จำเลยปฏิบัติหน้าที่เป็นกรรมการดำเนินการและเลขานุการชุมนุมสหกรณ์โจทก์ตามที่โจทก์มอบหมายและไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ โจทก์ทวงถามแล้ว แต่จำเลยปฏิเสธที่จะคืนเงินให้แก่โจทก์
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยต้องคืนเงินและผลประโยชน์อื่นที่จำเลยได้รับให้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 หรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า การที่จำเลยได้รับเงินค่าเบี้ยประชุมและเงินอื่น ๆ จากโจทก์ในขณะที่ทำงานเป็นกรรมการดำเนินการและเลขานุการชุมนุมสหกรณ์โจทก์นั้น มิใช่เรื่องลาภมิควรได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 406 เพราะว่าเงินค่าตอบแทนดังกล่าวเป็นค่าใช้จ่ายที่โจทก์จ่ายให้แก่จำเลยก็เนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ปรากฏว่ามีค่าใช้จ่ายนอกเหนือจากการปฏิบัติหน้าที่หรือนอกขอบวัตถุประสงค์ของโจทก์ หรือปฏิบัติหน้าที่ส่อไปในทางทุจริตหรือก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ จึงมิใช่กรณีที่ปราศจากมูลอันจะอ้างได้ตามกฎหมายนั้น เห็นว่า เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2552 มีการประชุมใหญ่สหกรณ์ออมทรัพย์กรมชลประทาน จำกัด ซึ่งที่ประชุมใหญ่ได้มีมติเลือกจำเลยเป็นกรรมการดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์ดังกล่าว ต่อมาสหกรณ์ออมทรัพย์กรมชลประทาน จำกัด ได้แต่งตั้งจำเลยเป็นผู้แทนสหกรณ์ออมทรัพย์กรมชลประทาน จำกัด เพื่อเข้าร่วมประชุมใหญ่ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย จำกัด โจทก์ ในวันที่ 12 มิถุนายน 2553 โดยให้ผู้แทนสหกรณ์มีอำนาจเข้าประชุมใหญ่และใช้สิทธิต่าง ๆ ตามที่กำหนดในข้อบังคับของโจทก์ซึ่งรวมถึงการเข้าสมัครรับเลือกตั้งเป็นกรรมการดำเนินการชุมนุมสหกรณ์โจทก์ และในวันประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2553 ของโจทก์เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2553 เพื่อเลือกตั้งกรรมการดำเนินการชุมนุมสหกรณ์โจทก์ชุดใหม่ ปรากฏว่าที่ประชุมใหญ่ของโจทก์มีมติเลือกจำเลยเป็นกรรมการดำเนินการชุมนุมสหกรณ์โจทก์ กรณีไม่ใช่ความผูกพันกันตามกฎหมายว่าด้วยนิติกรรมสัญญา จึงไม่อาจนำบทบัญญัติเกี่ยวกับการเลิกสัญญาและกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับแก่กรณีนี้ได้ การปฏิบัติหน้าที่ของจำเลย ก็เป็นไปตามคำสั่งที่ได้รับมอบหมายหรือมติคณะกรรมการดำเนินการชุมนุมสหกรณ์โจทก์ การที่โจทก์จ่ายเงินค่าเบี้ยประชุมและผลประโยชน์ตอบแทนอื่นให้แก่จำเลย เป็นการปฏิบัติตามระเบียบของโจทก์ ซึ่งจ่ายให้แก่กรรมการดำเนินการหรือบุคคลที่ปฏิบัติหน้าที่ให้แก่โจทก์ตามระเบียบของโจทก์ว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปปฏิบัติงานภายในประเทศ พ.ศ.2553 ซึ่งเป็นสิทธิโดยชอบธรรมของจำเลยที่จะได้รับจากการทำงานของตน ขณะเดียวกันโจทก์ก็ได้ผลแห่งการงานที่จำเลยได้กระทำในระหว่างที่เป็นกรรมการดำเนินการชุมนุมสหกรณ์โจทก์เป็นการตอบแทนด้วย แม้ภายหลังรองนายทะเบียนสหกรณ์ซึ่งควบคุมและกำกับการดำเนินกิจการสหกรณ์ออมทรัพย์กรมชลประทาน จำกัด มีหนังสือลงวันที่ 8 กรกฎาคม 2553 แจ้งเพิกถอนมติการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2552 ของสหกรณ์ออมทรัพย์กรมชลประทาน จำกัด เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2552 เรื่องการสรรหากรรมการดำเนินการ ก็เป็นเพียงเรื่องที่จำเลยขาดคุณสมบัติการเป็นกรรมการดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์กรมชลประทาน จำกัด ไม่สามารถเป็นผู้แทนสมาชิกสหกรณ์และรับเลือกตั้งเป็นกรรมการดำเนินการชุมนุมสหกรณ์โจทก์ได้ เป็นเหตุให้จำเลยพ้นจากตำแหน่งกรรมการดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์กรมชลประทาน จำกัด และกรรมการดำเนินการชุมนุมสหกรณ์โจทก์เท่านั้น หาเป็นเหตุให้โจทก์มีสิทธิเรียกเงินและผลประโยชน์ตอบแทนอื่นที่จำเลยมีสิทธิได้รับโดยชอบด้วยกฎหมายในระหว่างที่ยังเป็นกรรมการดำเนินการชุมนุมสหกรณ์โจทก์คืนจากจำเลยไม่ เงินค่าเบี้ยประชุมและผลประโยชน์ตอบแทนอื่นที่จำเลยได้รับ จึงไม่ใช่กรณีที่จำเลยได้รับมาโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้และต้องคืนเงินนั้นให้แก่โจทก์ฐานลาภมิควรได้ ส่วนเงินโบนัสประจำปี 2553 จำนวน 342,693.07 บาท ซึ่งเป็นบำเหน็จรางวัลแก่กรรมการดำเนินการและไม่ถือว่าเป็นผลประโยชน์ตอบแทนการทำงานโดยตรง เมื่อที่ประชุมชุมนุมสหกรณ์โจทก์มีมติให้จ่ายโบนัสดังกล่าวแก่กรรมการดำเนินการรวมทั้งจำเลย หลังจากที่รองนายทะเบียนสหกรณ์ได้มีคำสั่งเพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2552 เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2552 ของสหกรณ์ออมทรัพย์กรมชลประทาน จำกัด การที่จำเลยได้รับเงินโบนัสจำนวนดังกล่าวไปจากโจทก์จึงเป็นการได้รับไปโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ ซึ่งเป็นลาภมิควรได้ การที่โจทก์จ่ายเงินโบนัสจำนวนดังกล่าวให้แก่จำเลยไปย่อมเป็นกรณีที่โจทก์ได้กระทำการชำระหนี้ตามอำเภอใจโดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 407 โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกเงินโบนัสจำนวนดังกล่าวคืนจากจำเลยได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ