คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3010/2532

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาซื้อขายรถยนต์มีข้อความว่า ผู้ร้องสัญญาจะโอนรถยนต์ให้ ด. เมื่อได้รับเงินที่ค้างเรียบร้อยแล้ว แสดงว่าคู่สัญญาตกลงจะโอนกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ที่ซื้อขายเมื่อ ด. ผู้ซื้อชำระราคาส่วนที่เหลือแล้ว เป็นสัญญาซื้อขายมีเงื่อนไขตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 459 เมื่อ ด. ยังไม่ได้ชำระราคาที่ค้างแก่ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ขาย กรรมสิทธิ์ในรถยนต์จึงยังเป็นของผู้ร้อง จำเลยนำรถยนต์ไปกระทำผิดและถูกศาลสั่งริบเมื่อผู้ร้องพิสูจน์ได้ว่าผู้ร้องเป็นเจ้าของรถยนต์ของกลางที่แท้จริง และมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำผิดของจำเลยจึงต้องคืนรถยนต์ของกลางแก่ผู้ร้อง

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องจากศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ ฐานรับของโจรคนละ ๒ ปี และสั่งริบรถยนต์หมายเลขทะเบียน ๓ ก-๔๔๒๙ กรุงเทพมหานคร ของกลาง ยกฟ้องจำเลยที่ ๔ จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ อุทธรณ์ คดีอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า รถยนต์ที่ศาลสั่งริบเป็นของผู้ร้อง ผู้ร้องมิได้รู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิด ขอให้ศาลสั่งคืนรถยนต์คันดังกล่าวแก่ผู้ร้อง
โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องมิใช่เจ้าของรถยนต์ของกลางผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจกับพวกจำเลยในการกระทำผิดคดีนี้ กรรมสิทธิ์ในรถยนต์ของกลางได้โอนเป็นของนายดุษฎี บุญพลอย ตั้งแต่วันที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๒๘ แล้ว ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว มีคำสั่งให้คืนรถยนต์โฟล์คสวาเกนหมายเลขทะเบียน ๓ ก-๔๔๒๙ กรุงเทพมหานคร ของกลาง ให้แก่ผู้ร้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องของผู้ร้อง
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เดิมผู้ร้องเป็นเจ้าของรถยนต์ของกลางตามสำเนารายการของรถที่จดทะเบียนเอกสารหมาย ร.๑ เมื่อวันที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๒๘ ผู้ร้องได้ขายรถยนต์ของกลางให้แก่นายดุษฎี บุญพลอยไปในราคา ๒๗,๐๐๐ บาท นายดุษฎีชำระเงิน ๑๙,๐๐๐ บาท ในวันทำสัญญาและรับรถยนต์ไปแล้วตามเอกสารหมาย ร.๒ ผู้ร้องฎีกาอ้างว่า สัญญาดังกล่าวมีข้อความว่าผู้ขายจะโอนรถยนต์ให้ต่อเมื่อได้รับเงินที่ค้างเรียบร้อยแล้ว การซื้อขายรถยนต์ระหว่างผู้ร้องกับนายดุษฎีจึงเป็นสัญญาซื้อขายมีเงื่อนไข กรรมสิทธิ์ในรถยนต์ยังเป็นของผู้ร้องจนกว่าจะได้มีการโอนทะเบียน เมื่อนายดุษฎีไม่ชำระเงินส่วนที่เหลือจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา และผู้ร้องไม่จำต้องโอนทะเบียนรถยนต์ให้ผู้ร้องจึงมีสิทธิมาร้องขอคืนรถยนต์คันดังกล่าวนั้น เห็นว่า สัญญาซื้อขายตามเอกสารหมาย ร.๒ มีข้อความว่า ผู้ขายสัญญาจะโอนรถยนต์๓ ก-๔๔๒๙ เมื่อรับเงินที่ค้างเรียบร้อยแล้ว แสดงว่าคู่สัญญาตกลงจะโอนกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ที่ซื้อขายกันต่อเมื่อนายดุษฎีผู้ซื้อได้ชำระราคาส่วนที่เหลืออีก ๘,๐๐๐ บาทแล้ว สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาซื้อขายมีเงื่อนไขตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๕๙ ฉะนั้นกรรมสิทธิ์ในรถยนต์คันพิพาทจึงยังคงเป็นของผู้ร้อง ที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่ากรรมสิทธิ์รถยนต์คันพิพาทโอนไปยังนายดุษฎีผู้ซื้อแล้วนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาผู้ร้องฟังขึ้น สำหรับปัญหาว่าผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจในการกระทำผิดของจำเลยหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาข้อนี้ไปทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอีก ผู้ร้องนำสืบว่าตั้งแต่ส่งมอบรถยนต์ของกลางให้นายดุษฎีผู้ซื้อไป นายดุษฎีก็หายหน้าไป และผู้ร้องไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับรถยนต์คันดังกล่าวอีก จนเจ้าพนักงานตำรวจแจ้งให้ไปรับรถคืน ผู้ร้องจึงไปขอรับรถยนต์ของกลางคืน ซึ่งพันตำรวจโทปรีชาจินดาวัฒน์ พนักงานสอบสวนได้มาเบิกความยืนยันว่า ผู้ร้องได้นำหลักฐานภาพถ่ายทะเบียนรถและสัญญาจะซื้อจะขายไปแสดงต่อพยาน และพยานได้สอบถามนายดุษฎีแล้ว นายดุษฎีไม่โต้แย้งกรรมสิทธิ์รถยนต์ของกลาง พยานจึงคืนรถยนต์ให้ผู้ร้องไปเก็บรักษาไว้ เพราะที่สถานีตำรวจนครบาลสุทธิสารไม่มีที่เก็บ โดยพยานได้ลงบันทึกประจำวันไว้ปรากฏตามเอกสารหมาย ร.๓ ประกอบกับโจทก์มิได้สืบพยานให้เห็นเป็นอย่างอื่น พยานหลักฐานของผู้ร้องที่นำสืบมาจึงฟังได้ว่า ผู้ร้องมิได้รู้เห็นเป็นใจในการกระทำผิดของจำเลย เมื่อผู้ร้องสามารถพิสูจนได้ว่าผู้ร้องเป็นเจ้าของรถยนต์ของกลางที่แท้จริงและมิได้รู้เห็นเป็นใจในการกระทำผิดของจำเลย จึงต้องคืนรถยนต์ของกลางให้แก่ผู้ร้อง
พิพากษากลับ ให้คืนรถยนต์ของกลางคันหมายเลขทะเบียน ๓ ก-๔๔๒๙ กรุงเทพมหานคร ให้แก่ผู้ร้อง.

Share