คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 564/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยรู้จักผู้เสียหายมาก่อนเกิดเหตุประมาณ 1 เดือนและได้พบพูดคุยกันทุกวันแสดงว่าจำเลยย่อมมีความสนิทสนมกับผู้เสียหายเป็นพิเศษ ดังนั้น เมื่อพี่ชายผู้เสียหาย มาพบเห็นเข้า ผู้เสียหายกลัวบิดาและยาย จะตี จำเลยจึง ถือโอกาสนั้นพาผู้เสียหายหลบหนีโดยปราศจากเหตุอันสมควรและหลังจากพาผู้เสียหายหลบหนีแล้ว จำเลยได้กระทำชำเราผู้เสียหายด้วย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการพรากผู้เสียหายไปเสียจากบิดาเพื่อการอนาจาร จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสาม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยพรากเด็กหญิง ข. ผู้เสียหายอายุ 13 ปีเศษ ไปเสียจากนายเกียรติศักดิ์ ทิมอรุณ บิดาโดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจาร และจำเลยได้กระทำชำเราผู้เสียหายซึ่งมิใช่ภริยาของจำเลย โดยผู้เสียหายยินยอมจนจำเลยสำเร็จความใคร่ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277, 317, 91
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรก 317 วรรคสามเป็นการกระทำต่างกรรมให้เรียงกระทงลงโทษทุกกระทงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปี จำคุก 6 ปี ฐานพรากเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปีเพื่อการอนาจาร จำคุก 9 ปี รวมจำคุก 15 ปีจำเลยรับสารภาพในชั้นสอบสวน เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาอยู่บ้างมีเหตุบรรเทาโทษ จึงลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุก 10 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรก มาตรา 317 วรรคสามมาตรา 91 ลงโทษฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปีจำคุก 4 ปี ฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีเพื่อการอนาจารจำคุก 5 ปี รวมจำคุก 9 ปี จำเลยรับสารภาพชั้นสอบสวน เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลย 6 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกาโดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่าขณะเกิดเหตุผู้เสียหายมีอายุ 13 ปีเศษ เป็นบุตรอยู่ในความปกครองดูแลของนายเกียรติศักดิ์ ทิมอรุณ บิดาเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2538 เวลาประมาณ 20 นาฬิกา จำเลยได้พาผู้เสียหายไปที่บ้านเพื่อนจำเลยที่เขตสำโรงและพักด้วยกัน1 คืน รุ่งขึ้นจำเลยจึงพาผู้เสียหายไปพักที่บ้านของพี่ชายจำเลยที่เขตมีนบุรีตลอดมาจนถึงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2538เจ้าพนักงานตำรวจได้พาจำเลยไปรับผู้เสียหายกลับบ้านปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ในข้อหากระทำชำเรานั้นโจทก์มีผู้เสียหายเบิกความว่า จำเลยได้กระทำชำเราผู้เสียหายที่บ้านของพี่ชายจำเลย2 ครั้ง กรณีน่าเชื่อตามคำเบิกความของผู้เสียหาย เพราะได้ความจากคำเบิกความของจำเลยเองว่า จำเลยกับผู้เสียหายได้พบกันทุกวันระหว่างเวลา 17 ถึง 18 นาฬิกา แสดงว่าผู้เสียหายกับจำเลยมีความสัมพันธ์พิเศษในทางชู้สาว เมื่อจำเลยมีโอกาสอยู่ตามลำพังกับผู้เสียหายที่บ้านของพี่ชายจำเลยเช่นนั้น จำเลยย่อมถือโอกาสนั้นกระทำชำเราผู้เสียหายได้ พันตำรวจเอกนายแพทย์อมร ธนาอภินันท์พยานโจทก์ ซึ่งเป็นแพทย์ผู้ตรวจอวัยวะเพศของผู้เสียหายก็เบิกความว่า เยื่อพรหมจารีของผู้เสียหายมีแผลฉีกเก่าที่บริเวณ 6 นาฬิกา ซึ่งแผลนั้นเกิดขึ้นไม่น้อยกว่า 7 วันอันเป็นเวลาไล่เลี่ยกับที่ผู้เสียหายเบิกความว่าจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหาย ยิ่งกว่านั้นจำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและสอบสวนตามบันทึกการจับกุมเอกสารหมาย จ.4และบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาเอกสารหมาย จ.5 เมื่อพิเคราะห์คำให้การของจำเลยตามเอกสารหมาย จ.5 แล้วเห็นว่า มีรายละเอียดต่าง ๆ เชื่อมโยงกัน และดำเนินการโดยเจ้าพนักงานต่างคนกันยากที่พนักงานสอบสวนจะจดบันทึกเสริมแต่งปรักปรำจำเลยได้ ดังนั้นที่จำเลยนำสืบว่าจำเลยลงลายมือชื่อในบันทึกดังกล่าวโดยจำเลยไม่ทราบข้อความนั้น จึงเป็นข้ออ้างที่ไม่มีน้ำหนักไม่อาจรับฟังหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ จำเลยจึงต้องมีความผิดตามข้อหานี้ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น สำหรับข้อหาความผิดฐานพรากผู้เยาว์นั้น โจทก์มีผู้เสียหายเบิกความว่าวันเกิดเหตุพี่ชายผู้เสียหายพบผู้เสียหายขณะที่ผู้เสียหายคุยอยู่กับจำเลยจำเลยบอกพี่ชายผู้เสียหายว่าจะพาผู้เสียหายไปส่งบ้านเองพี่ชายผู้เสียหายจึงกลับบ้าน ซึ่งต่อมาพี่ชายผู้เสียหายก็ได้พาน้าและอาผู้เสียหายตามหาผู้เสียหายอีกแต่ไม่พบ จำเลยจึงพาผู้เสียหายไปพักที่บ้านเพื่อนจำเลยที่เขตสำโรงและบ้านพี่ชายที่เขตมีนบุรีจนถึงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2538 บิดาผู้เสียหายจึงได้พาเจ้าพนักงานตำรวจมารับตัวผู้เสียหายไป นายเชษฐา ทิมอรุณพยานโจทก์เบิกความว่า พยานเป็นพี่ชายผู้เสียหายได้ทราบจากนายอุบล เขียนงาม เพื่อนบ้านว่าเห็นผู้เสียหายเดินไปกับชายผู้หนึ่ง เมื่อพยานตามไปพบและกวักมือเรียกผู้เสียหายผู้เสียหายก็วิ่งหนีไป ส่วนจำเลยนำสืบว่า หลังจากที่จำเลยรับประทานกับผู้เสียหายแล้ว จำเลยได้ไปส่งผู้เสียหายที่บ้านและพบพี่ชายผู้เสียหาย พี่ชายผู้เสียหายให้ผู้เสียหายกลับบ้านแต่ผู้เสียหายไม่ยอมกลับโดยผู้เสียหายจะขอส่งจำเลยก่อนเมื่อพี่ชายผู้เสียหายพาพวก 2 ถึง 3 คนมาตามผู้เสียหายอีกจำเลยก็พาผู้เสียหายหลบหนีไปพักที่บ้านของเพื่อนและพี่ชายจำเลยเห็นว่ากรณีน่าเชื่อตามข้อนำสืบของโจทก์ เพราะหากจำเลยไม่ประสงค์จะพาผู้เสียหายไปแล้วจำเลยย่อมจะไม่พาผู้เสียหายไปยังสถานที่ต่าง ๆ ตามที่จำเลยนำสืบ และน่าจะแจ้งให้ญาติผู้เสียหายทราบเพื่อให้ญาติผู้เสียหายมารับไป เมื่อพิเคราะห์คำเบิกความของจำเลยข้อที่ว่า จำเลยรู้จักผู้เสียหายมาก่อนถูกดำเนินคดีนี้ประมาณ 1 เดือน และได้พบพูดคุยกันทุกวันแสดงว่าจำเลยย่อมมีความสนิทสนมกับผู้เสียหายเป็นพิเศษดังนั้นเมื่อพี่ชายผู้เสียหายมาพบเห็นเข้า ผู้เสียหายจึงย่อมกลัวบิดาและยาย จะตี จำเลยได้ถือโอกาสนั้นพาผู้เสียหายหลบหนีโดยปราศจากเหตุอันสมควร อันเป็นการพรากผู้เสียหายไปเสียจากบิดาเพื่อการอนาจาร จึงต้องมีความผิดตามข้อหานี้ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน”
พิพากษายืน

Share