คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5630/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ที่จะเป็นคู่ความได้ต้องเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลหรือนิติบุคคลตามกฎหมายพิเศษ แม้กรมกำลังพลทหารบก จำเลยที่ 3กรมการแพทย์ทหารบก จำเลยที่ 4 และโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า จำเลยที่ 5จะเป็นหน่วยงานในสังกัดของจำเลยที่ 1 และที่ 2 แต่ตามพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการและกำหนดหน้าที่ของส่วนราชการกองทัพบก กองบัญชาการทหารสูงสุด กระทรวงกลาโหม (ฉบับที่ 2)พ.ศ. 2512 มาตรา 4 ซึ่งออกตามความในมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2503 ก็มิได้กำหนดให้จำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 มีฐานะเป็นนิติบุคคล จึงไม่อาจเป็นคู่ความที่จะถูกฟ้องร้องเป็นจำเลยได้ ตามข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยการสั่งให้ทหารประจำการพักราชการ พ.ศ. 2500 ข้อ 6(2) กำหนดให้ผู้บังคับบัญชาสั่งให้ผู้ถูกสั่งพักราชการออกจากราชการได้ แม้ไม่ได้กระทำความผิด แต่หากมีมลทินหรือมัวหมอง ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2ผู้บังคับบัญชาของโจทก์มีคำสั่งให้โจทก์ซึ่งถูกสั่งให้พักราชการออกจากราชการประจำการเป็นนายทหารกองหนุน มีเบี้ยหวัด เพราะเหตุมลทินหรือมัวหมอง จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เคยรับราชการทหารตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายการเงินของจำเลยที่ 5 ระหว่างนั้นมีแพทย์ฝึกหัดมารับการอบรมที่โรงพยาบาลจำเลยที่ 5 จำเลยจึงทำใบยืมเงินจากจำเลยที่ 5 มาสำรองจ่ายแก่แพทย์ฝึกหัด เมื่อกระทรวงสาธารณสุขจ่ายให้แพทย์ฝึกหัดจึงนำไปใช้คืนแก่จำเลยที่ 5 ต่อมาเจ้าหน้าที่ตรวจบัญชีของกองทัพบกมาตรวจสอบบัญชีพบว่าโจทก์ยังส่งคืนเงินให้จำเลยที่ 5 ไม่ครบ จำเลยที่ 4และที่ 5 จึงตั้งคณะกรรมการสอบสวนโจทก์ และมีคำสั่งให้โจทก์พักราชการ ภายหลังโจทก์ชำระหนี้เงินยืมคืนแก่จำเลยที่ 5 ครบถ้วนแล้วคณะกรรมการดังกล่าวได้เสนอความเห็นว่าควรเพิกถอนคำสั่งให้โจทก์พักราชการจำนวน 4 นำเรื่องนี้เสนอต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น แต่จำเลยที่ 3 กลับทำเรื่องเสนอให้จำเลยที่ 2 มีคำสั่งให้สอบสวนให้โจทก์ใหม่ จำเลยที่ 2 ส่งเรื่องให้อัยการศาลทหารพิจารณาสั่งฟ้องโจทก์ฐานยักยอก แต่อัยการศาลทหารสั่งไม่ฟ้อง จำเลยที่ 3ตั้งคณะกรรมการขึ้นใหม่เพื่อพิจารณาเรื่องมลทินมัวหมองของโจทก์คณะกรรมการเห็นว่าโจทก์มีมลทิน จำเลยที่ 3 ทำรายงานเสนอจำเลยที่ 2และที่ 1 ซึ่งจำเลยทั้งสองมีคำสั่งให้โจทก์ออกจากราชการอันเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งให้โจทก์ออกจากราชการประจำ กับให้มีคำสั่งบรรจุโจทก์เข้ารับราชการในชั้นยศพันโทดังเดิมตำแหน่งเดิม หรือเทียบเท่า ให้จำเลยที่ 5 รับโจทก์เข้าทำงานในตำแหน่งเดิมหรือเทียบเท่าให้จำเลยที่ 3 ทำรายงานที่ถูกต้อง หากจำเลยทั้งห้าไม่ดำเนินการภายใน 7 วันนับแต่ศาลมีคำพิพากษา ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งห้า
ศาลชั้นต้นพิเคราะห์คำฟ้องแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลชั้นต้นพิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 1(11) บัญญัติว่า “คู่ความ” หมายความว่า บุคคลผู้ยื่นคำฟ้องหรือถูกฟ้องต่อศาล และเพื่อประโยชน์แห่งการดำเนินกระบวนพิจารณาให้รวมถึงบุคคลผู้มีสิทธิกระทำการแทนบุคคลนั้น ๆ ตามกฎหมายหรือในฐานะทนายความ ตามบทบัญญัติดังกล่าวผู้ที่จะเป็นคู่ความได้จึงต้องเป็นบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 1 ลักษณะ 2 อันได้แก่บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลหรือเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายพิเศษเฉพาะเรื่อง สำหรับกระทรวงกลาโหมมีส่วนราชการในสังกัดที่เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2503มาตรา 17 ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2528 มาตรา 4 คือสำนักงานปลัดกระทรวง กองบัญชาการทหารสูงสุด กองทัพบกกองทัพเรือ และกองทัพอากาศ แต่ตามพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการและกำหนดหน้าที่ของส่วนราชการกองทัพบก กองบัญชาการทหารสูงสุดกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2512 มาตรา 4 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2503 มิได้กำหนดให้ กรมกำลังพลทหารบก จำเลยที่ 3 กรมการแพทย์ทหารบก จำเลยที่ 4 และโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า จำเลยที่ 5 มีฐานะเป็นนิติบุคคล เพียงแต่เป็นหน่วยงานในสังกัดของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เท่านั้น ดังนี้ จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 จึงมิได้เป็นนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 1 ลักษณะ 2 หรือตามกฎหมายพิเศษเฉพาะเรื่องแต่อย่างใด จึงไม่อาจเป็นคู่ความที่จะถูกฟ้องเป็นจำเลยในศาลได้ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5
ที่โจทก์ฎีกาว่า การที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ไม่เพิกถอนคำสั่งที่ให้โจทก์ออกจากราชการ และไม่สั่งให้โจทก์กลับคืนสู่ตำแหน่งเดิมตามฟ้องเป็นการละเมิดต่อโจทก์นั้น เห็นว่า ตามข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยการสั่งให้ทหารประจำการพักราชการ พ.ศ. 2500ข้อ 6(2) ระบุว่า “แม้ไม่ได้ความว่าผู้ถูกสั่งให้พักราชการได้กระทำความผิด แต่ก็มีมลทินหรือมัวหมองอยู่ผู้บังคับบัญชาที่สั่งพักราชการจะสั่งให้กลับเข้ารับราชการหรือให้ออกจากราชการก็ได้ แต่ต้องสั่งให้กลับเข้ารับราชการหรือออกจากราชการตั้งแต่วันที่ออกคำสั่งนั้น” จะเห็นได้ว่าตามข้อบังคับดังกล่าวข้อ 6(2) แม้ไม่ได้ความว่าผู้ถูกสั่งพักราชการได้กระทำความผิด แต่มีมลทินหรือมัวหมองผู้บังคับบัญชามีอำนาจสั่งให้ผู้ถูกสั่งพักราชการกลับเข้ารับราชการหรือให้ออกจากราชการได้ คำสั่งของจำเลยที่ 1 และที่ 2ซึ่งให้โจทก์ออกจากราชการประจำการเป็นนายทหารกองหนุน มีเบี้ยหวัดจึงชอบด้วยกฎหมาย ไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์
พิพากษายืน.

Share