แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ยาทุกชนิดตามข้อ 3(1) ของบัญชีอัตรากำไรมาตรฐานของสินค้านำเข้าหมายถึงยาที่ใช้กับมนุษย์เท่านั้น สำหรับยาป้องกันกำจัดศัตรูและโรคพืชสัตว์ตาม ข้อ 3(4) หมายถึงยาป้องกันกำจัดศัตรูและโรคพืชอย่างหนึ่งกับยาป้องกันกำจัดศัตรูและโรคสัตว์อีกอย่างหนึ่ง สินค้าของโจทก์เป็นยารักษาโรคสัตว์ทั่วไป จึงเป็นยากำจัดโรคสัตว์ตามข้อ 3(4) อัตรากำไรมาตรฐานกำหนดไว้ร้อยละ 11.5
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยใช้เงินภาษีการค้าที่เรียกเก็บเกินไปจากการที่โจทก์นำเข้ายารักษาโรคสัตว์ จำพวกสัตว์เกษตร ที่จำเลยเรียกเก็บในอัตราร้อยละ 7 แทนที่จะเก็บในอัตราร้อยละ 1.5 นอกจากนี้ยังใช้อัตรากำไรมาตรฐานร้อยละ 21 แทนที่จะใช้อัตราร้อยละ 11.5ที่ถูกต้องเป็นเหตุให้ภาษีผิดไป 1,206,274.02 บาท และถ้าศาลเห็นว่ายาที่โจทก์นำเข้าเป็นยาสัตว์ทั่วไป ก็เก็บภาษีผิดไป 118,830.27 บาทจำเลยให้การว่า ได้เรียกเก็บภาษีสินค้าพิพาทโดยคิดกำไรมาตรฐานและภาษีการค้าถูกต้องแล้ว
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยคืนเงิน 118,830.27 บาท พร้อมดอกเบี้ยจำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติในชั้นนี้โดยคู่ความไม่โต้แย้งกันว่าโจทก์สั่งและนำเข้าสินค้ายารักษาโรคสัตว์ทั่วไปจากต่างประเทศเข้ามาจำหน่ายในราชอาณาจักรรวม 94 ใบขนจำเลยที่ 2 เรียกเก็บภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลแทนจำเลยที่ 1โดยคำนวณรายรับจากอัตรากำไรมาตรฐานร้อยละ 21 ปัญหาในชั้นนี้มีว่า การที่จำเลยเรียกเก็บภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลจากโจทก์โดยคำนวณรายรับจากอัตรากำไรมาตรฐานร้อยละ 21 ของราคา ซี.ไอ.เอฟ.บวกอากรขาเข้านั้นชอบหรือไม่
ตามบัญชีอัตรากำไรมาตรฐานของสินค้านำเข้าท้ายประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีการค้า(ฉบับที่ 7) เรื่องให้ใช้เกณฑ์คำนวณเพื่อกำหนดมูลค่าของสินค้าที่นำเข้าในราชอาณาจักรเป็นรายรับหมวด 1 ประเภท 1 ชนิด 1(ก)(ข) และ (ค) นั้น สินค้าตามข้อ 3 ยาและเคมีภัณฑ์ (1) ระบุยาทุกชนิด รวมทั้งที่ใช้บำรุงหรือรักษาอนามัยซึ่งแพทย์หรือประชาชนนำไปใช้โดยตรงร้อยละ 21 ส่วน(4) ระบุ ปุ๋ย ยาป้องกันกำจัดศัตรูและโรคพืชสัตว์ร้อยละ 11.5โจทก์อ้างว่า สินค้ารายพิพาทของโจทก์นั้นเป็นสินค้าตามข้อ 3(4)อัตรากำไรมาตรฐานร้อยละ 11.5 แต่จำเลยโต้แย้งว่าสินค้าของโจทก์เป็นสินค้าตามข้อ 3(1) อัตรากำไรมาตรฐานร้อยละ 21 ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ยาทุกชนิดตามข้อ 3(1) นั้นน่าจะหมายถึงยาที่ใช้กับมนุษย์เท่านั้น เพราะคำว่า อนามัยน่าจะหมายถึงอนามัยของมนุษย์ ส่วนคำว่าแพทย์หรือประชาชนนำไปใช้ได้โดยตรงนั้นชี้ชัดยิ่งขึ้นว่าเป็นยาที่มนุษย์ใช้โดยตรง หากยาทุกชนิดหมายความรวมถึงยาที่ใช้กับสัตว์และพืชด้วยแล้วก็ไม่จำเป็นต้องมีข้อ 3(4)ให้ซ้ำซ้อนกัน สำหรับยาป้องกันกำจัดศัตรูและโรคพืชสัตว์ ตามข้อ 3(4)นั้นหมายถึงยาป้องกันกำจัดศัตรูและโรคพืชอย่างหนึ่งกับยาป้องกันกำจัดศัตรูและโรคสัตว์อีกอย่างหนึ่ง สินค้าของโจทก์เป็นยารักษาโรคสัตว์ทั่วไปจึงเป็นยากำจัดโรคสัตว์ตามข้อ 3(4) ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว”
พิพากษายืน