คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 563/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยโฆษณาหลอกลวงนักศึกษาของมหาวิทยาลัยรามคำแหงเพื่อขายข้อสอบที่จำเลยเขียนขึ้นเองเพื่อให้นักศึกษาที่ซื้อข้อสอบจากจำเลยหลงเชื่อว่าเป็นข้อสอบจริงที่จะออกสอบ การกระทำของจำเลยไม่เป็นการหลอกลวงประชาชนทั่วไป จำเลยจึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 คงมีความผิดตามมาตรา 341 เท่านั้น
จำเลยกำลังศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงคณะนิติศาสตร์ยังไม่สำเร็จการศึกษาชั้นปริญญาตรี จำเลยย่อมไม่มีสิทธิที่จะสวมครุยวิทยฐานะเพื่อแสดงให้ผู้พบเห็นเชื่อว่าจำเลยสำเร็จการศึกษาชั้นปริญญาตรีคณะนิติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยรามคำแหงแล้ว การที่จำเลยสวมเสื้อครุยปริญญาตรีคณะนิติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยรามคำแหงถ่ายภาพแล้วนำภาพถ่ายดังกล่าวมาตั้งไว้บนโต๊ะที่จำเลยขายข้อสอบ จึงเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ. 2514 มาตรา 48.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 343,385, 91 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6)พ.ศ. 2526 มาตรา 4 พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ. 2514 มาตรา48 และให้นับโทษจำเลยต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่5505/2526 ของศาลชั้นต้น และริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา343, 345, 91 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4 พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ. 2514มาตรา 48 เรียงกระทงลงโทษโดยลงโทษฐานฉ้อโกงประชาชน ตามมาตรา 343จำคุก 4 ปี ลงโทษฐานใช้ครุยวิทยฐานะปริญญาโดยไม่มีสิทธิตามมาตรา 48 แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ. 2514 จำคุก 6 เดือนลงโทษฐานกีดขวางทางสาธารณะโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 385 ปรับ 500 บาท ไม่ชำระค่าปรับ จัดการตามมาตรา 29, 30
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ข้อหาฐานฉ้อโกงประชาชนและฐานใช้ครุยวิทยฐานะของมหาวิทยาลัยรามคำแหงโดยไม่มีสิทธิ ของกลางทั้งหมดคืนจำเลย นอกจากที่แห้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาว่าจำเลยกระทำผิดฐานฉ้อโกงประชาชนและใช้ครุยวิทยฐานะปริญญาตรีนิติศาสตร์บัณฑิตของมหาวิทยาลัยรามคำแหงโดยไม่มีสิทธิจะใช้หรือไม่นั้น โจทก์มีนางสาวมิตตาศรีพอ เบิกความว่า พบจำเลยอยู่ที่หน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหงกำลังขายข้อสอบซึ่งเป็นข้อสอบคณะนิติศาสตร์ จำเลยบอกพยานว่าเป็นข้อสอบที่ได้มาจากรุ่นน้องที่ทำงานอยู่กับมหาวิทยาลัยรามคำแหงจำเลยมีกระเป๋าหนังวางไว้บนโต๊ะ 1 ใบ เห็นมีรูปถ่ายของจำเลยสอดอยู่ที่กระเป๋าโดยรูปถ่ายของจำเลยสวมเสื้อครุยปริญญาตรีนิติศาสตร์บันฑิตของมหาวิทยาลัยรามคำแหง นายวิชัยวงศ์ทอง ลูกจ้างของมหาวิทยาลัยรามคำแหงเบิกความว่า ขณะที่ช่วยเจ้าพนักงานตำรวจดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยภายในมหาวิทยาลัยเพื่อนร่วมงานมาบอกว่ามีคนขายข้อสอบอยู่หน้ามหาวิทยาลัยพยานไปที่บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยเห็นจำเลยกำลังขายข้อสอบชุดวิชา แอลเอ 331 กับแอลเอ 408 จำเลยพูดประกาศโฆษณาว่าเป็นข้อสอบที่จะออกสอบในภาค 2 แน่นอน พลตำรวจสุรัตน์ ศรีเรืองกับพลตำรวจสมเกียรติ ผ่องเกศ เบิกความว่า ร้อยตำรวจโทสุทธินาท สุดยอดสั่งให้ไปสังเกตการณ์หน้ามหาวิทยาลับรามคำแหงเพราะอาจารย์ชูศักดิ์แจ้งว่ามีคนขายข้อสอบอ้างว่าเป็นข้อสอบที่จะใช้ออกสอบในภาค 2ของปี พ.ศ. 2525 (น่าจะเป็น 2526) พยานทั้งสองไปพบจำเลยโฆษณาขายข้อสอบอยู่ 2 วิชา จำเลยว่าข้อสอบที่ขายนั้นจำเลยได้มาจากอาจารย์ซึ่งอยู่ในมหาวิทยาลัยรามคำแหงนี้ เป็นข้อสอบที่จะออกสอบในภาค 2 ไม่กี่วันข้างหน้านั้น พยานซื้อข้อสอบมาคนละ 1 ชุด ระหว่างสังเกตการณ์อยู่มีนักศึกษาซื้อข้อสอบจากจำเลย 3 – 4รายแล้ว และเห็นภาพถ่ายของจำเลยในชุดสวมเสื้อครุยติดอยู่ที่กระเป๋าวางอยู่บนโต๊ะ ร้อยตำรวจโทสุทธินาท สุดยอด และนายชูศักดิ์ ศิรินิล ก็เบิกความว่า นายชูศักดิ์เป็นรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง และสอนวิชากฎหมายด้วย มีนักศึกษามาแจ้งนายชูศักดิ์ว่าข้อสอบวิชาประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 1 หรือแอลเอ 331 รั่วเสียแล้ว มีคนเอาไปประกาศจำหน่ายอยู่หน้ามหาวิทยาลัย นายชูศักดิ์จึงให้นายวิชัยกับพวกไปสังเกตการณ์ประมาณ 10นาที นายวิชัยกับพวกมารายงานว่ามีผู้จำหน่ายข้อสอบวิชาดังกล่าวจริง นายชูศักดิ์จึงร้องเรียนต่อร้อยตำรวจโทสุทธินาทว่ามีบุคคลจำหน่ายข้อสอบ ซึ่งจะใช้สอบในปีการศึกษา 2526 ภาค 2เห็นว่าพยานโจทก์ส่วนมากไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยจึงน่าเชื่อว่าพยานโจทก์เบิกความตามความจริง โดยเฉพาะนางสาวมิตตาซึ่งช่วยจำเลยขายข้อสอบด้วย ก็เบิกความไว้อย่างชัดเจนว่าจำเลยบอกว่าเป็นข้อสอบที่ได้มาจากรุ่นน้อง จำเลยไม่ได้บอกว่าเป็นเอกสารหรือคำถามที่เคยออกเป็นข้อสอบมาก่อนดังที่จำเลยเบิกความ และเอกสารหมาย จ.1 กับ จ.2 ที่จำเลยรับว่าจำเลยเขียนและเจ้าพนักงานตำรวจยึดจากจำเลยก็มีลักษณะเป็นคำถามคล้ายข้อสอบ โดยเฉพาะเอกสารหมาย จ.2 ยังเขียนไว้ที่หัวกระดาษว่าข้อสอบประจำปี 2526 ภาค 2 มีการเปลี่ยนแนวคำถามนิดหน่อย โดยจำเลยเขียนด้วยลายมือของจำเลยเองเพื่อให้นักศึกษาซื้อข้อสอบจากจำเลยหลงเชื่อว่าเป็นข้อสอบจริงที่จำเลยได้มาจากรุ่นน้องดังที่จำเลยบอกนางสาวมิตตา แม้นายปิ่น ดีปานแก้ว พยานโจทก์อีกปากหนึ่งจะเบิกความว่า ขณะที่ไปซื้อข้อสอบตามที่นายวิชัยให้ไปซื้อ จำเลยไม่ได้โฆษณาขายข้อสอบดังกล่าว แต่พยานปากนี้ก็ไปพบจำเลยคนละเวลากับนายวิชัย จึงไม่เป็นการหักล้างพยานอื่นของโจทก์ ข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานของโจทก์สอดคล้องต้องกันฟังได้แน่ชัดว่า จำเลยโฆษณาหลอกลวงแก่นักศึกษาของมหาวิทยาลัยรามคำแหงเพื่อขายข้อสอบที่จำเลยเขียนขึ้นเองว่าเป็นข้อสอบที่จะออกสอบในภาค 2 ของปีการศึกษา 2526 แต่การกระทำของจำเลยไม่เป็นการหลอกลวงประชาชนทั่วไป จำเลยจึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 คงมีความผิดตามมาตรา 341เท่านั้น และภาพถ่ายหมาย จ.3 ที่จำเลยเบิกความรับว่าเป็นภาพถ่ายของจำเลยใส่ครุยปริญญาตรีของมหาวิทยาลัยรามคำแหงจำเลยก็เบิกความรับว่า จำเลยศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงคณะนิติศาสตร์แสดงว่า จำเลยยังไม่สำเร็จการศึกษาชั้นปริญญาตรีจำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะสวมครุยวิทยฐานะเพื่อแสดงให้แก่ผู้พบเห็นเชื่อว่าจำเลยสำเร็จปริญญาตรีคณะนิติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยรามคำแหงแล้ว พยานจำเลยไม่พอหักล้างพยานโจทก์ได้ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 จำคุก 1 ปี ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ. 2514 มาตรา 48จำคุก 6 เดือน เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว จำคุก 1 ปี 6 เดือน และปรับ 500 บาท ของกลางริบ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share