คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5629/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความผิดฐานฉ้อโกง ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เฉพาะบทมาตราโดยศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 วรรคแรกแต่ยังคงลงโทษจำเลยเท่ากับศาลชั้นต้น ดังนี้ เป็นการแก้บทโดยไม่ได้แก้โทษ ถือได้ว่าเป็นการแก้ไขเพียงเล็กน้อย และศาลอุทธรณ์ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 5 ปี ซึ่งต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคแรก จำเลยฎีกาว่า จำเลยไม่ได้กระทำความผิดฐานฉ้อโกง เป็นการโต้แย้งดุลพินิจของศาลที่รับฟังว่าจำเลยกระทำความผิดฐานฉ้อโกงถือได้ว่าเป็นการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ซึ่งต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว ตามพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบ ไม่ปรากฏว่าจำเลยมีความสามารถที่จะจัดส่งคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ สำนักงานของจำเลยเป็นบ้านสองชั้น จำเลยอยู่ชั้นล่างเป็นห้องเล็ก ๆมีประตูเลื่อน ที่หน้าสำนักงานไม่ได้เขียนหนังสือไว้ว่ารับจัดหางาน ซึ่งจำเลยเพียงแต่อาศัยห้องเล็ก ๆ ดังกล่าวเป็นสำนักงานที่หลอกลวงคนหางานเพื่อให้ได้เงินโดยจำเลยไม่มีเจตนาจัดหางานอย่างจริงจัง พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 4 ซึ่งใช้บังคับในขณะนั้นบัญญัติคำว่า “จัดหางาน” หมายความว่า ประกอบธุรกิจจัดหางานให้แก่คนหางานหรือหาลูกจ้างให้แก่นายจ้าง โดยจะเรียกหรือรับค่าบริการตอบแทนหรือไม่ก็ตาม ดังนี้ จำเลยจะต้องมีเจตนาจัดหางาน มิใช่เพียงแต่อ้างการจัดหางานเพื่อเป็นเหตุหลอกลวงเอาเงินจากคนหางาน เมื่อจำเลยไม่มีเจตนาจัดหางานแล้ว จำเลยก็ย่อมไม่มีความผิดฐานจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาต

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างปลายเดือนพฤษภาคม 2533 ถึงวันที่ 8 มิถุนายน 2533 ทั้งเวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกันจำเลยกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายบทหลายกรรมต่างกัน คือ
ก. จำเลยจัดหางานโดยประกอบธุรกิจจัดหางานให้แก่คนงานทั่วไปรวมทั้งนางนวล จาดศรี ผู้เสียหายกับพวกรวม 5 คนตามบัญชีรายชื่อท้ายฟ้องซึ่งประสงค์จะไปทำงานที่ประเทศนิวซีแลนด์ โดยจำเลยเรียกและรับเงินค่าบริการเป็นการตอบแทนจากคนหางานทั่วไปและจากผู้เสียหายทั้งห้าคน เป็นการจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศ โดยจำเลยไม่ได้รับอนุญาต
ข. จำเลยโดยเจตนาทุจริตหลอกลวงประชาชนทั่วไปรวมทั้งผู้เสียหายทั้งห้าคน ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ ปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งว่าจำเลยได้รับอนุญาตจัดหางานให้คนหางานไปทำงานในต่างประเทศโดยบอกกล่าวและให้ถ้อยคำรับรองแก่ผู้เสียหายทั้งห้าคนว่าจำเลยสามารถจัดหางานและส่งผู้เสียหายทั้งห้าคนไปทำงานที่ประเทศนิวซีแลนด์ และจะได้รับเงินเดือนสูงมากโดยผู้เสียหายทั้งห้าจะต้องเสียเงินค่าบริการจัดหางานให้แก่จำเลยตามจำนวนที่จำเลยกำหนดไว้ อันเป็นความเท็จ ซึ่งความจริงแล้วจำเลยเพียงแต่นำผู้เสียหายทั้งห้าคนไปยังประเทศสิงคโปร์ แต่ไม่สามารถนำผู้เสียหายทั้งห้าคนไปทำงานยังประเทศนิวซีแลนด์ โดยการหลอกลวงของจำเลยทำให้ผู้เสียหายทั้งห้าคนหลงเชื่อว่าเป็นความจริง จึงพากันไปสมัครงานเพื่อจะไปทำงานในต่างประเทศ และชำระเงินค่าบริการจัดหางานตามจำนวนที่จำเลยเรียกร้องให้แก่จำเลย และโดยการหลอกลวงดังกล่าวเป็นเหตุให้จำเลยได้ไปซึ่งเงินอันเป็นทรัพย์สินจากผู้เสียหายทั้งห้าคนรวมเป็นเงิน 267,000 บาท ตามบัญชีรายชื่อผู้เสียหายและจำนวนเงินที่ถูกฉ้อโกงท้ายฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 343, 91 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 4,30, 82 ให้จำเลยคืนหรือใช้เงินรวม 267,000 บาท แก่ผู้เสียหายตามบัญชีรายชื่อท้ายฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เกี่ยวกับความผิดฐานฉ้อโกงตามฎีกาของจำเลยปรากฏว่า ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เฉพาะบทมาตรา โดยศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 วรรคแรก แต่ยังคงลงโทษจำเลยเท่ากับศาลชั้นต้น ดังนี้ เป็นการแก้บทโดยไม่ได้แก้โทษถือได้ว่าเป็นการแก้ไขเพียงเล็กน้อย และศาลอุทธรณ์ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 5 ปี ซึ่งต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคแรกจำเลยฎีกาว่า จำเลยไม่ได้กระทำความผิดฐานฉ้อโกง เป็นการโต้แย้งดุลพินิจของศาลที่รับฟังว่าจำเลยกระทำความผิดฐานฉ้อโกงถือได้ว่าเป็นการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ซึ่งต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ปัญหาต่อไปคือโจทก์ฎีกาว่า จำเลยจะต้องมีความผิดฐานจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาตอีกกระทงหนึ่งเกี่ยวกับปัญหานี้ตามพยานหลักฐานโจทก์นำสืบ ไม่ปรากฏว่าจำเลยมีความสามารถที่จะจัดส่งคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ ได้ความจากนายทองหล่อ รักทรัพย์ผู้เสียหายซึ่งเป็นพยานโจทก์เบิกความว่าสำนักงานของจำเลยเป็นบ้านสองชั้นจำเลยอยู่ชั้นล่างเป็นห้องเล็ก ๆ มีประตูเลื่อน ที่หน้าสำนักงานไม่ได้เขียนหนังสือไว้ว่ารับจัดหางาน เหตุที่ทราบว่าเป็นสำนักงานจัดหางาน เพราะเห็นมีคนเดินเข้าออกบ่อยเหมือนกับที่พยานเห็นมาหลายที่ มีคนเดินเข้าออกสำนักงานประมาณ 4-5 คนส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ดังนี้ ตามพฤติการณ์เชื่อได้ว่าจำเลยเพียงแต่อาศัยห้องเล็ก ๆ ดังกล่าวเป็นสำนักงานที่หลอกลวงคนหางานเพื่อให้ได้เงินโดยจำเลยไม่มีเจตนาจัดหางานอย่างจริงจังพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 4ซึ่งใช้บังคับในขณะนั้น บัญญัติคำว่า “จัดหางาน” หมายความว่าประกอบธุรกิจจัดหางานให้แก่คนหางานหรือหาลูกจ้างให้แก่นายจ้างโดยจะเรียกหรือรับค่าบริการตอบแทนหรือไม่ก็ตาม ดังนี้ เห็นได้ว่าจะต้องมีเจตนาจัดหางาน มิใช่เพียงแต่อ้างการจัดหางานเพื่อเป็นเหตุหลอกลวงเอาเงินจากคนหางาน เมื่อพฤติการณ์เชื่อได้ว่า จำเลยไม่มีเจตนาจัดหางานแล้ว จำเลยก็ย่อมไม่มีความผิดฐานจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาต
พิพากษายืน

Share