คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5629/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามสัญญาค้ำประกันและสัญญาจำนองระบุว่าจำเลยที่ 3ผู้ค้ำประกันและผู้จำนอง ค้ำประกันและจำนองที่ดินเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ในวงเงิน 1,000,000 บาท จำเลยที่ 3 จึงมีความรับผิดตามสัญญาดังกล่าวในต้นเงิน 1,000,000 บาท เท่านั้นข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองที่ว่า การกำหนดจำนวนต้นเงินตามสัญญาจำนองไม่ตัดสิทธิผู้รับจำนองที่จะบังคับจำนองสำหรับต้นเงินที่เกินวงเงินที่กำหนดไว้เพราะมี ดอกเบี้ย หรือหนี้อุปกรณ์รวมกันเกินวงเงินที่กำหนดไว้ เป็นข้อตกลงที่ใช้ได้เพราะจำเลยที่ 3ผู้จำนองต้องรับผิดดอกเบี้ยและหนี้อุปกรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 715 อยู่แล้ว แต่ข้อตกลงที่กำหนดให้จำเลยที่ 3 ผู้จำนองต้องรับผิดสำหรับต้นเงินที่เกินวงเงินตามสัญญาจำนองเพราะเหตุใด ๆ นั้น เป็นข้อตกลงที่ทำให้สัญญาจำนองไม่มีจำนวนเงินที่แน่นอน หรือไม่มีจำนวนขึ้นสูงสุดที่ได้เอาทรัพย์จำนองตราไว้เป็นประกันเป็นการฝ่าฝืนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 708 และเป็นช่องทางให้หลีกเลี่ยงการเสียค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนจำนอง จึงตกเป็นโมฆะไม่มีผลใช้บังคับ ส่วนที่จำเลยที่ 3 ตกลงยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ก็มีผลเพียงว่าจำเลยที่ 3 ผู้ค้ำประกันจะอ้างสิทธิพิเศษ เช่น การยกข้อต่อสู้ซึ่งลูกหนี้มีต่อเจ้าหนี้ขึ้นต่อสู้หรือเกี่ยงให้ลูกหนี้ชำระหนี้ก่อนไม่ได้เท่านั้น มิได้หมายความว่าจำเลยที่ 3 จะต้องรับผิดในจำนวนหนี้เท่ากับตัวลูกหนี้ด้วย ตามสัญญาต่อท้ายสัญญาจำนองระบุว่า กรณีผิดนัดไม่ส่งดอกเบี้ยตามบัญชีเดินสะพัด ให้โจทก์คิดดอกเบี้ยทบต้นได้ตามประเพณีการค้าของธนาคารพาณิชย์ โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นจากจำเลยที่ 3 ได้ตามสัญญา นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์เต็มตามวงเงินที่จำเลยที่ 3 ทำสัญญาจำนองจนถึงวันที่สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เลิกกันซึ่งปรากฏว่ามีรายการหักทอนบัญชีครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 27เมษายน 2528 หลังจากนั้นไม่ปรากฏว่าโจทก์ยอมให้จำเลยที่ 1เบิกเงินเกินบัญชีอีกต่อไป ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 นำเงินเข้าบัญชีเพื่อหักทอนหนี้ พฤติการณ์แสดงว่าคู่กรณีทั้งสองฝ่ายถือว่าสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีเป็นอันสิ้นสุดลงในวันดังกล่าวหลังจากนั้นโจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นจากจำเลยที่ 3

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2523 จำเลยที่ 1เปิดบัญชีกระแสรายวันกับโจทก์ และขอกู้เบิกเงินเกินบัญชีดังกล่าววงเงิน 1,000,000 บาท ยอมเสียดอกเบี้ยทบต้นให้โจทก์ในอัตราร้อยละ18 ต่อปี จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกัน โดยจำเลยที่ 3จดทะเบียนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันเป็นเงิน1,000,000 บาท ต่อมาวันที่ 7 กรกฎาคม 2525 จำเลยที่ 1 ขอเพิ่มวงเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีอีก 600,000 บาท เป็นวงเงิน 1,600,000บาท คิดดอกเบี้ยทบต้นในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์จำนวนมาก โจทก์ได้บอกกล่าวให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้ และบอกกล่าวบังคับจำนอง แต่จำเลยทั้งสามไม่ชำระ ขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 6,135,102.47 บาท พร้อมดอกเบี้ยหากจำเลยทั้งสามไม่ชำระให้บังคับจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ตลอดทั้งทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยทั้งสามให้การว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีตามฟ้องจริง จำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันและจดทะเบียนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจริง แต่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องร่วมรับผิดเพียงวงเงินไม่เกิน 1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยเท่านั้นฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงิน5,298,950.20 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ทบต้นนับแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2530 จนถึงวันที่ 30 มีนาคม 2530 ซึ่งเป็นวันที่สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเลิกกัน หลังจากนั้นให้คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีไม่ทบต้น จากยอดเงินที่ทบถึงวันดังกล่าวจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดจำนวนเงิน1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่30 มีนาคม 2530 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยที่ 3 ไม่ชำระหรือชำระไม่ครบให้ยึดทรัพย์จำนองขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ส่วนที่จำเลยที่ 3 ต้องรับผิดจนครบหากได้เงินไม่พอให้ยึดทรัพย์อื่นของจำเลยชำระจนครบ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 3ร่วมรับผิดชำระดอกเบี้ยทบต้นจากต้นเงิน 1,000,000 บาท ในอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน 2528 ถึงวันที่27 พฤษภาคม 2528 อัตราดอกเบี้ยทบต้นร้อยละ 19 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2528 ถึงวันที่ 4 มีนาคม 2529 อัตราดอกเบี้ยทบต้นร้อยละ 15 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 5 มีนาคม 2529 ถึงวันที่30 มีนาคม 2530 และดอกเบี้ยแบบไม่ทบต้นจากต้นเงิน 1,000,000 บาทในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2530 เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ด้วย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 3 จะต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์เพียงใด ตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.4 สัญญาจำนอง เอกสารหมายจ.5 และสัญญาต่อท้ายสัญญาจำนองเอกสารหมาย จ.6 ระบุว่า จำเลยที่ 3ผู้ค้ำประกันและผู้จำนองค้ำประกันและจดทะเบียนจำนองที่ดินเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ในวงเงิน 1,000,000 บาท ดังนั้น จำเลยที่ 3จึงมีความรับผิดตามสัญญาดังกล่าวในต้นเงิน 1,000,000 บาทเท่านั้น ข้อตกลงตามสัญญาต่อท้ายสัญญาจำนองที่ระบุว่า “ทั้งนี้ให้เป็นที่เข้าใจกันอย่างแจ้งชัดว่า การกำหนดจำนวนต้นเงินไว้ในวรรคก่อนเพียงเพื่อจำกัดสิทธิของผู้จำนองหรือลูกหนี้ที่กล่าวนามแล้วในอันที่จะก่อหนี้เกินวงเงินที่กำหนดไว้นั้น การกำหนดจำนวนต้นเงินดังกล่าวไม่เป็นการตัดสิทธิของผู้รับจำนองที่จะบังคับจำนองสำหรับต้นเงินเกินวงเงินที่กำหนดไว้เพราะมีดอกเบี้ยสมทบเข้าตาม ข้อ 2 หรือสำหรับหนี้ต้นเงินกับหนี้อุปกรณ์รวมกันมีจำนวนเกินวงเงินที่กำหนดไว้นั้น หรือสำหรับหนี้ต้นเงินที่เกินวงเงินไปไม่ว่าเพราะเหตุใด ๆ” ข้อตกลงตอนต้นเรื่องดอกเบี้ยและหนี้อุปกรณ์เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 3 ผู้จำนองจะต้องรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 715 จึงมีผลบังคับได้ แต่ข้อตกลงตอนท้ายที่กำหนดว่าจำเลยที่ 3 จะต้องรับผิดสำหรับต้นเงินที่เกินวงเงินไปไม่ว่าเพราะเหตุใด ๆ นั้น เป็นข้อตกลงที่ทำให้สัญญาจำนองไม่มีจำนวนเงินที่แน่นอน หรือไม่มีจำนวนขั้นสูงสุดที่ได้เอาทรัพย์จำนองตราไว้เป็นประกันเป็นการฝ่าฝืนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 708 และเป็นช่องทางให้หลีกเลี่ยงการเสียค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนจำนอง จึงตกเป็นโมฆะ ไม่มีผลใช้บังคับ ส่วนการที่จำเลยที่ 3 ตกลงยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ก็มีผลเพียงว่าจำเลยที่ 3ผู้ค้ำประกันจะอ้างอิงสิทธิพิเศษ เช่น การยกข้อต่อสู้ซึ่งลูกหนี้มีต่อเจ้าหนี้ขึ้นต่อสู้ หรือเกี่ยงให้ลูกหนี้ชำระหนี้ก่อนไม่ได้เท่านั้น มิได้หมายความว่าจำเลยที่ 3 จะต้องรับผิดในจำนวนหนี้เท่ากับตัวลูกหนี้ด้วย
ปัญหาต่อไปมีว่าจำเลยที่ 3 จะต้องรับผิดดอกเบี้ยเพียงใดตามสัญญาต่อท้ายสัญญาจำนองข้อ 2 ระบุว่า จำเลยที่ 3 ยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในจำนวนต้นเงินในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี กับในกรณีมีการผิดนัดไม่ส่งดอกเบี้ยตามบัญชีเดินสะพัด ให้โจทก์คิดดอกเบี้ยทบต้นได้ตามประเพณีการค้าของธนาคารพาณิชย์ โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นจากจำเลยที่ 3 ได้ตามสัญญา โดยถือเอารายการบัญชีกระแสรายวัน ที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์เต็มตามวงเงินที่จำเลยที่ 3 ทำสัญญาจำนองเป็นวันเริ่มต้นของการคิดดอกเบี้ยทบต้นปรากฏตามรายการบัญชีกระแสรายวัน เอกสารหมาย จ.25 ว่า ครั้งสุดท้ายที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์เต็มวงเงินที่จำเลยที่ 3 ทำสัญญาจำนองไว้คือ วันที่ 8 เมษายน 2525 จำเลยที่ 3 จึงต้องเสียดอกเบี้ยทบต้นให้แก่โจทก์นับแต่วันดังกล่าวเป็นต้นไปจนถึงวันที่สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เลิกกัน ซึ่งปรากฏตามเอกสารหมายจ.25 มีรายการหักทอนบัญชีครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2528หลังจากนั้นไม่ปรากฏว่า โจทก์ยอมให้จำเลยที่ 1 เบิกเงินเกินบัญชีอีกต่อไป ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 นำเงินเข้าบัญชีเพื่อหักทอนหนี้พฤติการณ์แสดงว่าคู่กรณีทั้งสองฝ่ายถือว่า สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีเป็นอันสิ้นสุดลงในวันดังกล่าว หลังจากวันนั้นโจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นจากจำเลยที่ 3
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1และที่ 2 ในต้นเงิน 1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยทบต้นอัตราร้อยละ19 ต่อปี นับแต่วันที่ 8 เมษายน 2525 ถึงวันที่ 9 กันยายน 2525อัตราร้อยละ 18 ต่อปี นับแต่วันที่ 10 กันยายน 2525 ถึงวันที่31 มกราคม 2526 อัตราร้อยละ 17.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์2526 ถึงวันที่ 8 มีนาคม 2527 อัตราร้อยละ 19 ต่อปี นับแต่วันที่9 มีนาคม 2527 ถึงวันที่ 17 ธันวาคม 2527 อัตราร้อยละ 18.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 18 ธันวาคม 2527 ถึงวันที่ 27 เมษายน 2528 หลังจากนั้นให้คิดดอกเบี้ยไม่ทบต้นอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี นับแต่วันที่28 เมษายน 2528 ถึงวันที่ 27 พฤษภาคม 2528 อัตราร้อยละ 19 ต่อปีนับแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2528 ถึงวันที่ 4 มีนาคม 2529 อัตราร้อยละ15 ต่อปีนับแต่วันที่ 5 มีนาคม 2529 เป็นต้นไปจนกว่าโจทก์จะได้รับชำระหนี้แล้วเสร็จ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

Share