คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5629/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามสัญญาค้ำประกันและสัญญาจำนองระบุว่าจำเลยที่ 3 ผู้ค้ำ-ประกันและผู้จำนอง ค้ำประกันและจำนองที่ดินเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ในวงเงิน 1,000,000 บาท จำเลยที่ 3 จึงมีความรับผิดตามสัญญาดังกล่าวในต้นเงิน1,000,000 บาท เท่านั้น ข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองที่ว่า การกำหนดจำนวนต้นเงินตามสัญญาจำนองไม่ตัดสิทธิผู้รับจำนองที่จะบังคับจำนองสำหรับต้นเงินที่เกินวงเงินที่กำหนดไว้เพราะมีดอกเบี้ยหรือหนี้อุปกรณ์รวมกันเกินวงเงินที่กำหนดไว้ เป็นข้อตกลงที่ใช้ได้เพราะจำเลยที่ 3 ผู้จำนองต้องรับผิดดอกเบี้ยและหนี้อุปกรณ์ตาม ป.พ.พ.มาตรา 715 อยู่แล้ว แต่ข้อตกลงที่กำหนดให้จำเลยที่ 3 ผู้จำนองต้องรับผิดสำหรับต้นเงินที่เกินวงเงินตามสัญญาจำนองเพราะเหตุใด ๆ นั้น เป็นข้อตกลงที่ทำให้สัญญาจำนองไม่มีจำนวนเงินที่แน่นอน หรือไม่มีจำนวนขึ้นสูงสุดที่ได้เอาทรัพย์จำนองตราไว้เป็นประกันเป็นการฝ่าฝืน ป.พ.พ. มาตรา 708 และเป็นช่องทางให้หลีกเลี่ยงการเสียค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนจำนอง จึงตกเป็นโมฆะไม่มีผลใช้บังคับส่วนที่จำเลยที่ 3 ตกลงยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ก็มีผลเพียงว่าจำเลยที่ 3ผู้ค้ำประกันจะอ้างสิทธิพิเศษ เช่น การยกข้อต่อสู้ซึ่งลูกหนี้มีต่อเจ้าหนี้ขึ้นต่อสู้หรือเกี่ยงให้ลูกหนี้ชำระหนี้ก่อนไม่ได้เท่านั้น มิได้หมายความว่าจำเลยที่ 3 จะต้องรับผิดในจำนวนหนี้เท่ากับตัวลูกหนี้ด้วย
ตามสัญญาต่อท้ายสัญญาจำนองระบุว่า กรณีผิดนัดไม่ส่งดอกเบี้ยตามบัญชีเดินสะพัด ให้โจทก์คิดดอกเบี้ยทบต้นได้ตามประเพณีการค้าของธนาคารพาณิชย์โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นจากจำเลยที่ 3 ได้ตามสัญญา นับแต่วันที่จำเลยที่ 1เป็นหนี้โจทก์เต็มตามวงเงินที่จำเลยที่ 3 ทำสัญญาจำนองจนถึงวันที่สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เลิกกัน ซึ่งปรากฏว่ามีรายการหักทอนบัญชีครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2528 หลังจากนั้นไม่ปรากฏว่าโจทก์ยอมให้จำเลยที่ 1 เบิกเงินเกินบัญชีอีกต่อไป ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 นำเงินเข้าบัญชีเพื่อหักทอนหนี้ พฤติการณ์แสดงว่าคู่กรณีทั้งสองฝ่ายถือว่าสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีเป็นอันสิ้นสุดลงในวันดังกล่าว หลังจากนั้นโจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นจากจำเลยที่ 3

Share