คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5625/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การขายสลากกินแบ่งรัฐบาลมีบทบัญญัติแห่งกฎหมายบัญญัติข้อห้ามและกำหนดโทษแก่ผู้ที่เสนอขายหรือขายสลากเกินราคาที่กำหนดในสลากไว้ถึง 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.การพนัน พ.ศ.2478 มาตรา 9 ทวิ ซึ่งมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 9 ตรี ให้ระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และตาม พ.ร.บ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ.2517 มาตรา 39 ให้ระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท จำเลยทำสัญญาซื้อขายสลากกินแบ่งรัฐบาลกับโจทก์ โดยโจทก์ตกลงขายสลากให้แก่จำเลยในราคาฉบับละ 90 บาท หรือส่วนละ 45 บาท แต่ราคาในสลากระบุไว้เพียงฉบับละ 80 บาท หรือส่วนละ 40 บาท สัญญาซื้อขายสลากกินแบ่งรัฐบาลซึ่งเกินราคาดังกล่าว จึงเป็นการอันมีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายทั้งสองฉบับข้างต้น และตกเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 แม้การสมัครใจซื้อขายสลากกินแบ่งรัฐบาลในราคาสูงกว่าที่กำหนดในสลาก เพราะมีปัญหาเกี่ยวกับระบบการจัดจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลและการบังคับใช้กฎหมายที่ห้ามมิให้ขายสลากกินแบ่งเกินราคา โดยมีการขายเกินราคากันอย่างแพร่หลายก็ตาม หาเป็นข้อยกเว้นที่จะทำให้การขายสลากกินแบ่งรัฐบาลเกินราคาเป็นการอันไม่ต้องห้ามตามบทบัญญัติของกฎหมายไม่
สัญญาซื้อขายสลากกินแบ่งรัฐบาลรวมส่วนที่ขายตามราคาที่กำหนดไว้ในสลากซึ่งไม่เป็นโมฆะอยู่ด้วยและสามารถแยกแยะจำนวนเงินของส่วนที่ขายเกินราคาออกได้แน่ชัด พฤติการณ์แห่งกรณีที่จำเลยซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลจำนวนมากไปจากโจทก์เพื่อนำไปจำหน่ายในทางการค้า ย่อมมีส่วนที่จำเลยได้รับประโยชน์จากการขายเกินราคาในสลากดังกล่าว อันพึงสันนิษฐานได้ว่าโจทก์และจำเลยเจตนาจะให้ส่วนที่ไม่เป็นโมฆะแยกออกจากส่วนที่เป็นโมฆะได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 173 สัญญาซื้อขายสลากกินแบ่งรัฐบาลระหว่างโจทก์และจำเลยจึงไม่ตกเป็นโมฆะทั้งฉบับ โจทก์ยังคงมีสิทธิเรียกร้องค่าสลากในส่วนที่ไม่เกินราคาจากจำเลยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 141,620 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 140,740 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยยื่นคำร้องขอให้เรียกนายอินทร์ และนายสนธยา เข้าเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต โดยให้เรียกนายอินทร์และนายสนธยาว่าจำเลยร่วมที่ 1 และที่ 2 ตามลำดับ ต่อมาจำเลยไม่ติดใจเรียกให้จำเลยร่วมที่ 2 เข้าเป็นจำเลยร่วม ขอให้ศาลจำหน่ายคดีเฉพาะส่วนของจำเลยร่วมที่ 2 ออกจากสารบบความ ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยร่วมที่ 1 ให้การขอให้ยกคำร้องของจำเลยที่ขอให้เรียกจำเลยร่วมที่ 1 เข้ามาเป็นจำเลยร่วม
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 141,620 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 140,740 บาท นับถัดจากวันที่ 31 พฤษภาคม 2553 ซึ่งเป็นวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระเงินให้แก่โจทก์ครบถ้วน กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 7,000 บาทให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยร่วมที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยร่วมทั้งสองให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์ 3,000 บาท แทนโจทก์
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นฎีกาฟังได้ว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของไปรษณีย์ตำบลหนองงิ้ว อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ประกอบอาชีพเสริมโดยขายสลากกินแบ่งรัฐบาล ส่วนจำเลยเป็นครูที่โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์เลย เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2553 โจทก์ จำเลยพร้อมด้วยดาบตำรวจวิสุทธิ์ สามีจำเลยและจำเลยร่วมที่ 1 ไปที่สถานีตำรวจภูธรวังสะพุง พบพันตำรวจโทรัฐพล สารวัตรป้องกันและปราบปรามของสถานีตำรวจดังกล่าว และโจทก์จำเลยต่างลงลายมือชื่อในรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐาน ต่อหน้าพันตำรวจโทรัฐพลและดาบตำรวจวิสุทธิ์กับจำเลยร่วมที่ 1 ซึ่งรายงานดังกล่าวมีข้อความระบุว่า เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2553 จำเลยมารับสลาก รวมเป็นเงิน 140,750 บาท จากโจทก์ไป โดยจำเลยยินยอมชดใช้ค่าสลากในวันที่ 30 เมษายน 2553 เวลา 10 นาฬิกา ที่สถานีตำรวจ ขณะเกิดเหตุ สลากกินแบ่งรัฐบาล 1 ฉบับ มี 2 ส่วน ราคาตามสลากฉบับละ 80 บาท หรือส่วนละ 40 บาท
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า สัญญาซื้อขายสลากกินแบ่งรัฐบาลระหว่างโจทก์และจำเลยเป็นโมฆะหรือไม่ เห็นว่า การขายสลากกินแบ่งรัฐบาลมีบทบัญญัติแห่งกฎหมายบัญญัติข้อห้ามและกำหนดโทษแก่ผู้ที่เสนอขายหรือขายสลากเกินราคาที่กำหนดในสลากไว้ถึง 2 ฉบับ คือ พระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ.2478 มาตรา 9 ทวิ ซึ่งมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 9 ตรี ให้ระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และตามพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ.2517 มาตรา 39 ให้ระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามที่วินิจฉัยในประเด็นก่อนและตามที่คู่ความนำสืบว่า จำเลยทำสัญญาซื้อขายสลากกินแบ่งรัฐบาลกับโจทก์ โดยโจทก์ตกลงขายสลากให้แก่จำเลยในราคาฉบับละ 90 บาท หรือส่วนละ 45 บาท แต่ราคาในสลากระบุไว้เพียงฉบับละ 80 บาท หรือส่วนละ 40 บาท สัญญาซื้อขายสลากกินแบ่งรัฐบาลซึ่งเกินราคาดังกล่าว จึงเป็นการอันมีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายทั้งสองฉบับข้างต้น และตกเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 แม้โจทก์และจำเลยจะสมัครใจซื้อขายสลากกินแบ่งรัฐบาลกันในราคาสูงกว่าที่กำหนดในสลาก เพราะมีปัญหาเกี่ยวกับระบบการจัดจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลและการบังคับใช้กฎหมายที่ห้ามมิให้ขายสลากกินแบ่งเกินราคา โดยมีการขายสลากเกินราคากันอย่างแพร่หลายก็ตาม ก็หาเป็นข้อยกเว้นที่จะทำให้การขายสลากกินแบ่งรัฐบาลเกินราคาเป็นการอันไม่ต้องห้ามตามบทบัญญัติของกฎหมายไม่ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยต้องกันมาว่า สัญญาซื้อขายสลากกินแบ่งรัฐบาลระหว่างโจทก์และจำเลยไม่เป็นโมฆะนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา แต่อย่างไรก็ดีสัญญาซื้อขายสลากกินแบ่งรัฐบาลระหว่างโจทก์และจำเลยดังกล่าวรวมส่วนที่ขายตามราคาที่กำหนดไว้ในสลากซึ่งไม่เป็นโมฆะอยู่ด้วยและสามารถแยกแยะจำนวนเงินของส่วนที่ขายเกินราคาออกได้แน่ชัด พฤติการณ์แห่งกรณีที่จำเลยซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลจำนวนมากไปจากโจทก์เพื่อนำไปจำหน่ายในทางการค้า ย่อมมีส่วนที่จำเลยได้รับประโยชน์จากการขายเกินราคาในสลากดังกล่าวอันพึงสันนิษฐานได้ว่าโจทก์และจำเลยเจตนาจะให้ส่วนที่ไม่เป็นโมฆะแยกออกจากส่วนที่เป็นโมฆะได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 173 สัญญาซื้อขายสลากกินแบ่งรัฐบาลระหว่างโจทก์และจำเลยจึงไม่ตกเป็นโมฆะทั้งฉบับ โจทก์ยังคงมีสิทธิเรียกร้องค่าสลากในส่วนที่ไม่เกินราคาจากจำเลยได้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลไปจากโจทก์จำนวน 5,000 ฉบับ และจำเลยชำระราคาตามสลากแก่โจทก์ไปแล้วเป็นเงิน 309,250 บาท จำเลยจึงยังคงต้องรับผิดชำระราคาส่วนที่ขาดแก่โจทก์เพียง 90,750 บาท เท่านั้น ฎีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 90,750 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 30 เมษายน 2553 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share