แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้คัดค้านที่ 2 จะไม่ยอมรับสิทธิตามสัญญาที่มีต่อบุคคลอื่นตามความในมาตรา 122 แห่ง พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483นั้น หมายถึงสิทธิตามสัญญาที่ลูกหนี้จะพึงได้รับ หาใช่สิทธิตามสัญญาที่ผู้อื่นจะพึงได้รับไม่
ผู้คัดค้านที่ 1 ได้ชำระค่าที่ดินให้แก่ลูกหนี้ครบถ้วนตามสัญญา แต่ลูกหนี้ไม่สามารถจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 เนื่องจากที่ดินติดจำนองไว้แก่ผู้ร้อง เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด ผู้คัดค้านที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้คัดค้านที่ 2 ปฏิบัติตามสัญญาวางมัดจำจะซื้อจะขายโดยยินยอมชำระหนี้ตามสัญญาจำนองพร้อมดอกเบี้ยเพื่อไถ่ถอนจำนอง ผู้คัดค้านที่ 1จึงมีสิทธิเรียกร้องให้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 ได้โดยปลอดจำนอง ลูกหนี้หามีสิทธิตามสัญญาที่จะเรียกร้องต่อผู้คัดค้านที่ 1 กรณีจึงเป็นสิทธิตามสัญญาที่ผู้อื่นจะพึงได้รับ หาใช่สิทธิตามสัญญาที่ลูกหนี้จะพึงได้รับไม่ จึงไม่อยู่ในดุลพินิจของผู้คัดค้านที่ 2ที่จะพิจารณาว่าสิทธิตามสัญญาที่ผู้คัดค้านที่ 1 จะพึงได้รับมีภาระเกินควรกว่าประโยชน์ที่จะพึงได้แก่กองทรัพย์สินของลูกหนี้หรือไม่ เพราะประโยชน์ที่จะพึงได้ในการที่ผู้คัดค้านที่ 1 ใช้สิทธิเรียกร้องให้ปฏิบัติตามสัญญาตกได้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 หาตกได้แก่ลูกหนี้ไม่ผู้คัดค้านที่ 2 จึงไม่อาจปฏิเสธไม่ยอมปฏิบัติตามสัญญาวางมัดจำจะซื้อจะขายรายนี้การที่ผู้คัดค้านที่ 2 มีคำสั่งสั่งให้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามสัญญาจะซื้อขายดังกล่าวให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 โดยปลอดจำนองและให้ผู้คัดค้านที่ 1 ชำระหนี้จำนองพร้อมดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ จึงชอบแล้ว
ผู้คัดค้านที่ 1 ทำสัญญาวางมัดจำจะซื้อจะขายที่ดินกับลูกหนี้โดยในวันทำสัญญาผู้คัดค้านที่ 1 วางมัดจำเป็นเงิน 250,000 บาท ต่อมาผู้คัดค้านที่ 1 ชำระเงินค่าที่ดินส่วนที่เหลืออีก 200,000 บาท ให้แก่ลูกหนี้ แต่ลูกหนี้ไม่สามารถจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 เพราะที่ดินติดจำนองไว้แก่ผู้ร้อง ลูกหนี้จึงได้ส่งมอบที่ดินให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 ครอบครองโดยถือว่าที่ดินเป็นของผู้คัดค้านที่ 1 ลูกหนี้จะดำเนินการไถ่ถอนจำนองและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 โดยเร็ว เมื่อการเข้าครอบครองที่ดินของผู้คัดค้านที่ 1 เป็นไปตามสัญญาวางมัดจำจะซื้อจะขายซึ่งมีผลผูกพันลูกหนี้ เมื่อผู้คัดค้านที่ 1เป็นผู้ครอบครองที่ดินของลูกหนี้ในฐานะผู้ซื้อและมีหนี้อันเป็นคุณประโยชน์แก่ผู้คัดค้านที่ 1 เกี่ยวด้วยที่ดินซึ่งครอบครองนั้น ผู้คัดค้านที่ 1 ย่อมมีสิทธิยึดหน่วงที่ดินนั้นไว้จนกว่าลูกหนี้จะได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 ตาม ป.พ.พ.มาตรา 241 แม้นับแต่วันที่ผู้คัดค้านที่ 1 ชำระค่าที่ดินส่วนที่เหลือ จนถึงวันที่ผู้คัดค้านที่ 1 ร้องขอให้ผู้คัดค้านที่ 2 ปฏิบัติตามสัญญาวางมัดจำจะซื้อจะขายเป็นเวลา 17ปีเศษ ผู้คัดค้านที่ 1 ในฐานะผู้ทรงสิทธิยึดหน่วงก็มีสิทธิบังคับชำระหนี้จากที่ดินที่ยึดถือไว้โดยร้องขอให้ผู้คัดค้านที่ 2 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1ได้ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 193/27 สิทธิเรียกร้องของผู้คัดค้านที่ 1 ที่จะขอให้ผู้คัดค้านที่ 2 ปฏิบัติตามสัญญาวางมัดจำจะซื้อจะขายจึงไม่ขาดอายุความ