คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5620/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นหน่วยงานของรัฐ สังกัดกระทรวงศึกษาธิการมีวัตถุประสงค์ในการพัฒนาหลักสูตรวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ระดับโรงเรียนของประเทศ โจทก์จำต้องจัดหาบุคลากรเข้ามาทำงานทางด้านวิทยาการ ต้องติดต่อขอทุนศึกษาภายใต้แผนโคลัมโบจากกรมวิเทศสหการ เมื่อกรมวิเทศสหการหาทุนได้แล้วโจทก์จะต้องดำเนินการคัดเลือกผู้ได้รับทุนเสนอไปยังกระทรวงศึกษาธิการเพื่อพิจารณาอนุมัติ เมื่อผู้ได้รับทุนเดินทางไปศึกษาต่อต่างประเทศสำเร็จการศึกษากลับมาแล้วจะได้นำความรู้กลับมาพัฒนาการศึกษาของชาติต่อไป หากผู้ได้รับทุนบิดพลิ้วไม่ปฏิบัติตามสัญญา โจทก์ย่อมสูญเสียบุคลากรที่ได้สร้างขึ้นมาและสูญเสียเวลาที่จะต้องจัดหาผู้เข้ารับทุนรายอื่นไปศึกษาทดแทน ย่อมส่งผลกระทบต่อแผนพัฒนาบุคลากรของหน่วยงานราชการตามที่ได้วางเป้าหมายเอาไว้ เป็นความเสียหายที่โจทก์ได้รับซึ่งไม่อาจคำนวณเป็นเงินได้ การที่สัญญาได้ระบุให้จำเลยที่ 1 ชดใช้เงินทุน เงินเดือน และเงินอื่นใดที่จำเลยที่ 1 ได้รับคืนโจทก์ และกำหนดเบี้ยปรับอีกจำนวนหนึ่งเท่ากับจำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 จะต้องชดใช้คืนนั้น เมื่อพิเคราะห์ถึงทางได้เสียของโจทก์ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมาย ไม่ใช่แต่เพียงทางได้เสียในเชิงทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคหนึ่งแล้วเงินเบี้ยปรับที่โจทก์เรียกร้องมาตามสัญญามิได้สูงเกินส่วน ข้อสัญญาที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันสละสิทธิที่จะขอให้เรียกจำเลยที่ 1 ผู้เป็นลูกหนี้ชำระหนี้ก่อน และสละสิทธิที่จะให้โจทก์บังคับการชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินของจำเลยที่ 1ก่อน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 688 และ 689 นั้นฐานะของจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันในลักษณะนี้จึงต้องรับผิดร่วมกันกับจำเลยที่ 1 ผู้เป็นลูกหนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 691 หรือนัยหนึ่งจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์อย่างลูกหนี้ร่วม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายโดยเป็นส่วนราชการสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพนักงานประจำตำแหน่งวิทยากรสาขาคหกรรม ในสังกัดของโจทก์ ได้ทำสัญญากับโจทก์ไปศึกษา ณ ประเทศออสเตรเลีย ในวิชาการศึกษาวิทยาศาสตร์ด้วยทุนของโจทก์ ซึ่งโจทก์เป็นผู้จัดหามาให้พนักงานในสังกัดของโจทก์ไปศึกษาต่อ โดยทุนดังกล่าวเป็นทุนของรัฐบาลประเทศออสเตรเลีย ซึ่งได้อนุมัติทุนประเภท 1 ข. (โคลัมโบ)ให้แก่รัฐบาลไทย แล้วรัฐบาลไทยได้มอบทุนดังกล่าวให้แก่โจทก์ตามความต้องการของโจทก์เพื่อจัดหาพนักงานในสังกัดของโจทก์เข้ารับทุนดังกล่าว โจทก์ได้จัดให้จำเลยที่ 1 เข้ารับทุนดังกล่าวนี้ไปศึกษาต่อ ณ ประเทศออสเตรเลีย โดยในระหว่างการศึกษานี้ จำเลยที่ 1 จะเบิกเงินทุนดังกล่าวรวมทั้งเงินเดือนเงินเพิ่มและเงินอื่นของโจทก์ไปใช้จ่าย ทั้งนี้มีกำหนด 2 ปี2 เดือน นับแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2524 เมื่อจำเลยที่ 1 สำเร็จการศึกษาหรือการศึกษาดังกล่าวยุติลงจำเลยที่ 1 ต้องกลับเข้าปฏิบัติงานตามคำสั่งของโจทก์เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 2 เท่า ของเวลาที่ได้รับทุนหรือได้รับอนุมัติให้ศึกษาต่อ ในกรณีที่จำเลยที่ 1ผิดสัญญา จำเลยที่ 1 จะต้องชดใช้เงินทุนและเงินเดือนรวมทั้งเงินเพิ่มและเงินอื่นที่จำเลยที่ 1 ได้รับจากโจทก์ในระหว่างเวลาที่ได้รับอนุมัติให้ไปศึกษาต่อแก่โจทก์ นอกจากนั้นจำเลยที่ 1จะต้องจ่ายเบี้ยปรับให้แก่โจทก์อีกจำนวนหนึ่งเท่ากับเงินจำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 จะต้องชดใช้คืนให้แก่โจทก์ด้วย โดยมีจำเลยที่ 2เป็นผู้ค้ำประกันความรับผิดต่อโจทก์ว่า หากจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาจำเลยที่ 2 ยอมชดใช้เงินแก่โจทก์แทนจำเลยที่ 1 โดยมิได้ต้องเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระก่อน ต่อมาเมื่อจำเลยที่ 1 สำเร็จการศึกษาแล้ว ได้กลับมาปฏิบัติงานชดใช้ทุนให้แก่โจทก์ตั้งแต่วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2527 ถึงวันที่ 23 กันยายน 2527 คิดเป็นเวลา 6 เดือน 24 วัน แล้วจำเลยที่ 1 ขาดงานเกินกว่า 15 วันโจทก์จึงมีคำสั่งลงโทษให้จำเลยที่ 1 ออกจากงาน จำเลยที่ 1 ยังขาดระยะเวลาปฏิบัติงานชดใช้ทุนให้แก่โจทก์รวม 3 ปี 9 เดือน 10 วันจำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดตามสัญญา AUSTRALIAN DEVELOPMENTASSISTANCE BUREAU ต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 737,913.25 บาท โจทก์มีหนังสือทวงถามจำเลยทั้งสองแล้วแต่เพิกเฉยโดยจำเลยที่ 1 ผิดนัดตั้งแต่วันที่ 14 มกราคม 2529ต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามสัญญาให้แก่โจทก์คิดถึงวันฟ้องจำเลยทั้งสองต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์จำนวน737,913.25 บาท และดอกเบี้ย 221,373.96 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 959,287.21 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 959,287.21 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ15 ต่อปี จากต้นเงิน 737,913.25 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ทุนที่จำเลยที่ 1 ได้รับไปนั้นเป็นทุนของประเทศออสเตรเลีย ไม่ใช่ของโจทก์โจทก์เรียกเบี้ยปรับสูงเกินส่วนเพราะโจทก์ไม่ได้เสียหายตามฟ้องและโจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในเบี้ยปรับเป็นการมิชอบ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 547,488.40บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 14 มกราคม 2529 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ทั้งนี้ดอกเบี้ยเมื่อคิดถึงฟ้องต้องไม่เกิน 221,373.96 บาท ตามที่โจทก์ขอ หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระก็ให้จำเลยที่ 2 ชำระแทน ส่วนคำขออื่นของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความนำสืบรับกันฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ได้รับทุนการศึกษาของรัฐบาลออสเตรเลีย ภายใต้แผนโคลัมโบซึ่งให้แก่รัฐบาลไทยไปศึกษา ณ ประเทศออสเตรเลียในระดับปริญญาโทวิชาการศึกษาวิทยาศาสตร์ตามความต้องการของโจทก์จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาไปศึกษากับโจทก์ว่า เมื่อจำเลยที่ 1 สำเร็จการศึกษาแล้ว จะต้องกลับมาปฏิบัติงานชดใช้ทุนให้แก่โจทก์ต่อไปอีกเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 2 เท่าของเวลาที่ได้รับทุนหรือได้รับอนุมัติให้ไปศึกษาต่อไปอีกเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 2 เท่าของเวลาที่ได้รับทุนหรือได้อนุมัติให้ไปศึกษา ในกรณีผิดสัญญา จำเลยที่ 1จะชดใช้เงินทุนและหรือเงินเดือน รวมทั้งเงินเพิ่มและหรือเงินอื่นใดจำเลยที่ 1 ได้รับจากโจทก์ในระหว่างเวลาที่ได้รับอนุมัติให้ไปศึกษาคืนให้แก่โจทก์ และจะจ่ายเบี้ยปรับให้แก่โจทก์อีกจำนวนหนึ่งเท่ากับจำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 จะต้องชดใช้คืนจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาค้ำประกันให้ไว้แก่โจทก์ว่า ถ้าหากจำเลยที่ 1 ผิดสัญญา จำเลยที่ 2 ยินยอมชดใช้เงินตามข้อผูกพันที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาไว้กับโจทก์ จำเลยที่ 1 ไปศึกษาตั้งแต่วันที่28 ธันวาคม 2524 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2527 รวมเวลา 2 ปี2 เดือน 2 วัน สำเร็จการศึกษาเดินทางกลับมายังประเทศไทยแล้วปฏิบัติงานให้โจทก์ตั้งแต่วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2527 ถึงวันที่23 กันยายน 2527 รวมเวลา 6 เดือน 24 วัน จำเลยที่ 1 ได้ละทิ้งหน้าที่การงานติดต่อในคราวเดียวกันเกินกว่า 15 วัน ตั้งแต่วันที่ 24 กันยายน 2527 โจทก์ได้มีคำสั่งที่ 091/2528 ลงโทษให้จำเลยที่ 1 ออกจากงานตั้งแต่วันที่ 24 กันยายน 2527 เป็นต้นไปในระหว่างที่จำเลยที่ 1 กำลังศึกษาอยู่ โจทก์ต้องจ่ายเงินเดือนและเงินค่าครองชีพรวม 133,777.29 บาท และเงินทุนที่จำเลยที่ 1ได้รับเป็นเงินไทย 36,033.47 บาท กับ 12,615.13 เหรียญออสเตรเลียซึ่งในขณะโจทก์ยื่นคำฟ้องอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา1 เหรียญออสเตรเลีย เท่ากับ 17.34 บาท คิดเป็นเงินไทย218,746.35 บาท รวมเป็นเงินที่จำเลยที่ 1 ต้องชดใช้คืนโจทก์388,527.11 บาท แต่จำเลยที่ 1 ได้ปฏิบัติงานใช้ทุนเป็นเวลา6 เดือน 24 วัน คิดเป็นเงิน 35,302.35 บาท
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยข้อแรกตามฎีกาโจทก์มีว่า สมควรลดเบี้ยปรับให้จำเลยทั้งสองเพียงใดหรือไม่ จากข้อนำสืบของโจทก์เห็นว่า โจทก์เป็นหน่วยงานของรัฐ สังกัดกระทรวงศึกษาธิการมีวัตถุประสงค์ในการพัฒนาหลักสูตรวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ระดับโรงเรียนของประเทศ โจทก์จำต้องจัดหาบุคลากรเข้าทำงานทางด้านวิทยาการต้องติดต่อขอทุนศึกษาภายใต้แผนโคลัมโบจากกรมวิเทศสหการ เมื่อกรมวิเทศสหการหาทุนได้แล้ว โจทก์จะต้องดำเนินการคัดเลือกผู้ได้รับทุนเสนอไปยังกระทรวงศึกษาธิการเพื่อพิจารณาอนุมัติ เมื่อผู้ได้รับทุนเดินทางไปศึกษาต่อต่างประเทศสำเร็จการศึกษากลับมาแล้ว จะได้นำความรู้กลับมาพัฒนาการศึกษาของชาติต่อไป หากผู้ได้รับทุนบิดพลิ้วไม่ปฏิบัติตามสัญญา โจทก์ย่อมสูญเสียบุคลากรที่ได้สร้างขึ้นมาและสูญเสียเวลาที่จะต้องจัดหาผู้เข้ารับทุนรายอื่นไปศึกษาทดแทน ย่อมส่งกระทบต่อแผนพัฒนาบุคลากรของหน่วยงานราชการตามที่ได้วางเป้าหมายเอาไว้ เป็นความเสียหายที่โจทก์ได้รับซึ่งไม่อาจคำนวณเป็นเงินได้ การที่สัญญาเอกสารหมาย จ.9 ข้อ 5 ได้ระบุให้จำเลยที่ 1 ชดใช้เงินทุนเงินเดือน และเงินอื่นใดที่จำเลยที่ 1 ได้รับคืนโจทก์ และกำหนดเบี้ยปรับอีกจำนวนหนึ่งเท่ากับจำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 จะต้องชดใช้คืนนั้น เมื่อพิเคราะห์ถึงทางได้เสียของโจทก์ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายไม่ใช่แต่เพียงทางได้เสียในเชิงทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคหนึ่ง แล้ว เห็นว่าเงินเบี้ยปรับที่โจทก์เรียกร้องมาตามสัญญามิได้สูงเกินส่วนเลยที่ศาลล่างทั้งสองลดเบี้ยปรับลงให้กึ่งหนึ่ง ไม่เหมาะสมแก่ความเสียหายที่โจทก์ได้รับ ดังนั้น เมื่อรวมเบี้ยปรับหนึ่งเท่าของจำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 ต้องชดใช้คืนโจทก์จำนวน 388,527.11บาทแล้ว รวมเป็นเงิน 777,054.22 บาท จำเลยที่ 1 ปฏิบัติงานใช้ทุนคิดเป็นเงิน 35,302.35 บาท เมื่อนำเงินจำนวนหนี้หักออกแล้วจึงเป็นที่หนี้ที่โจทก์มีสิทธิได้รับเป็นเงิน 741,751.87 บาทแต่โจทก์ฟ้องเรียกเงินมาเพียง 737,913.25 บาท จำเลยที่ 1 จึงรับผิดไม่เกินจำนวนเงินในฟ้อง จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันต้องรับผิดในจำนวนเงินดังกล่าวต่อโจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ15 ต่อปี นับแต่วันที่ 14 มกราคม 2529 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดเป็นต้นไป
ปัญหาต่อมาตามฎีกาโจทก์มีว่า จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 หรือไม่ เห็นว่าตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.11 ข้อ 1 ระบุว่า ฯลฯ ถ้าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญา จำเลยที่ 2 ยินยอมชดใช้เงินตามข้อผูกพันที่ระบุไว้ในข้อสัญญาดังกล่าวนั้นให้แก่โจทก์แทนทันที โดยโจทก์มิต้องเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ก่อน เห็นว่า ข้อสัญญาดังกล่าวเป็นกรณีที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันสละสิทธิที่จะขอให้เรียกจำเลยที่ 1 ผู้เป็นลูกหนี้ชำระหนี้ก่อน และสละสิทธิที่จะให้โจทก์บังคับการชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 688 และ 689 ดังนั้นฐานะของจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันในลักษณะนี้จึงต้องรับผิดร่วมกันกับจำเลยที่ 1 ผู้เป็นลูกหนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 691 หรือนัยหนึ่งจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์อย่างลูกหนี้ร่วม
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน737,913.25 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่14 มกราคม 2529 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ทั้งนี้ดอกเบี้ยเมื่อคิดถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 221,373.96 บาท ตามที่โจทก์ขอ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

Share