คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5615/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์รู้อยู่ก่อนยื่นฟ้องแล้วว่าการเลิกจ้างเป็นธรรมหรือไม่ หากโจทก์เห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการที่จำเลยเลิกจ้างแล้ว โจทก์ก็ชอบที่จะว่ากล่าวฟ้องร้องจำเลยเป็นคดีมาแต่แรก การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องโจทก์เกี่ยวกับการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม เช่นนี้ไม่ถือว่าเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่จะอนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องได้หลังจากที่ศาลแรงงานกลางได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทและนัดสืบพยานแล้ว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 31

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อประมาณเดือนมิถุนายน 2537 จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้าง ครั้งสุดท้ายทำหน้าที่เป็นผู้จัดการฝ่ายประจำสำนักกรรมการผู้จัดการ ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ55,000 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน ต่อมาเมื่อวันที่3 กันยายน 2539 จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิดและไม่ได้บอกกล่าวการเลิกจ้างล่วงหน้าตามกฎหมาย โจทก์จึงมีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า จำนวน 58 วัน เป็นเงิน106,333 บาท จำเลยไม่ยอมจ่าย นอกจากนี้ในการทำงานกับจำเลยตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2539 ถึงวันที่ 3 กันยายน 2539จำเลยค้างจ่ายค่าจ้างโจทก์จำนวน 3 วัน คิดเป็นเงิน 5,500 บาทขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน106,333 บาท และค่าจ้างค้างจ่ายจำนวน 5,500 บาท ให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า จำเลยได้แจ้งการเลิกจ้างให้โจทก์ทราบล่วงหน้าโดยชอบและได้ชำระค่าจ้างให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว จำเลยจึงไม่มีนิติสัมพันธ์ใด ๆ กับโจทก์อีก ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยบอกกล่าวล่วงหน้าตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดหรือไม่โจทก์มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวหรือไม่ และจำเลยยังค้างจ่ายค่าจ้างโจทก์หรือไม่ เพียงใด โดยกำหนดให้จำเลยมีหน้าที่นำสืบก่อน
ก่อนถึงวันนัดสืบพยานจำเลย โจทก์ยื่นคำร้องลงวันที่ 14กุมภาพันธ์ 2540 และวันที่ 5 มีนาคม 2540 ขอแก้ไขคำฟ้อง
ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งว่า โจทก์ยื่นคำร้องทั้งสองฉบับหลังจากที่ศาลกำหนดประเด็นข้อพิพาทแล้ว จึงให้ยกคำร้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องโจทก์เกี่ยวกับการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมเป็นการขอแก้ไขในเรื่องที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนโจทก์จึงมีสิทธิยื่นคำร้องหลังวันกำหนดประเด็นข้อพิพาทนั้นเห็นว่า โจทก์ย่อมรู้อยู่ก่อนยื่นฟ้องแล้วว่าการเลิกจ้างเป็นธรรมหรือไม่ หากโจทก์เห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการที่จำเลยเลิกจ้างแล้ว โจทก์ก็ชอบที่จะว่ากล่าวฟ้องร้องจำเลยเป็นคดีมาแต่แรกกรณีเช่นนี้ไม่ถือว่าเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่จะอนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องได้หลังจากที่ศาลแรงงานกลางได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทและนัดสืบพยานแล้ว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31
พิพากษายืน

Share