แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การลากิจตามเอกสารหมาย ร.16 ของผู้คัดค้านนั้นผู้ร้องมิได้บรรยายหรือกล่าวไว้ในคำร้องว่าผู้คัดค้านได้ขาดงานโดยฝ่าฝืนระเบียบการลาซึ่งผู้ร้องไม่ได้ประสงค์ให้ลงโทษ การที่ศาลแรงงานนำมาฟังเป็นโทษแก่ผู้คัดค้านจึงเป็นการไม่ชอบ ส่วนเอกสารหมาย ร.21 เป็นการลากิจซึ่งผู้คัดค้านได้ยื่นใบลาล่วงหน้าจึงไม่ผิดระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของผู้ร้อง แต่เป็นการลาเกินกำหนด 4 วันเป็นกรณีไม่ได้รับค่าจ้างตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานซึ่งผู้ร้องก็ไม่ได้อนุมัติการลา แต่ผู้ร้องได้หมายเหตุไว้ว่าในกรณีนี้ผู้จัดการบุคคลได้เรียกมาว่ากล่าวตักเตือนให้นำไปปรับปรุง ผู้คัดค้านรับปากว่าขอเป็นครั้งสุดท้ายในครั้งนี้ ซึ่งหากมีอีกจะยอมถือเป็นขาดงานและลงชื่อผู้จัดการไว้ ตามข้อความดังกล่าวผู้ร้องไม่ติดใจเอาโทษแก่ผู้คัดค้านและไม่ถือว่าเป็นความผิดแล้วผู้ร้องจะนำการลากิจครั้งนี้มากล่าวโทษผู้คัดค้านอีกหาได้ไม่ผู้คัดค้านจึงมิได้กระทำผิดซ้ำคำเตือน ที่ศาลแรงงานรับฟังเอกสารหมาย ร.16 ที่ผู้ร้องอ้างเป็นการฟังพยานนอกเหนือจากที่กล่าวในคำร้องและรับฟังเอกสารหมาย ร.21 ซึ่งผู้คัดค้านไม่ผิดเป็นว่าผู้คัดค้านมีความผิด เป็นการวินิจฉัยพยานหลักฐานเป็นอย่างอื่นนอกสำนวนเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142(5),246 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า นายประเสริฐ ประเสริฐสม ผู้คัดค้านเป็นลูกจ้างของผู้ร้อง ผู้คัดค้านเป็นกรรมการลูกจ้าง เมื่อวันที่25 พฤษภาคม 2535 ผู้คัดค้านหยุดงานโดยไม่ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการลา ผู้ร้องได้ตักเตือนเป็นหนังสือ ต่อมาวันที่20 สิงหาคม 2535 ผู้คัดค้านได้ขอลากิจ และในวันที่ 24 สิงหาคม 2535ผู้คัดค้านได้หยุดงานโดยไม่ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการลาอีก ซึ่งหยุดงานต่อเนื่องกับวันหยุดของวันที่ 21, 22 และ23 สิงหาคม 2535 เป็นการจงใจทำให้ผู้ร้องได้รับความเสียหายฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ผู้ร้องได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เป็นการกระด้างกระเดื่องต่อผู้บังคับบัญชา ทำให้เสียการปกครอง ขอให้ศาลแรงงานกลางอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านโดยให้มีผลนับตั้งแต่วันที่ยื่นคำร้องเป็นต้นไป
ผู้คัดค้านแถลงคัดค้านด้วยวาจาว่า ผู้คัดค้านได้ลาป่วยถูกต้องตามระเบียบและได้รับอนุมัติทุกครั้ง ส่วนการลากิจได้ลากิจเกินสิทธิจริง แต่ส่วนที่ลาเกินก็ไม่ได้รับค่าจ้าง เรื่องการกระด้างกระเดื่องต่อผู้บังคับบัญชานั้นไม่เป็นความจริง ตั้งแต่ผู้คัดค้านเริ่มก่อตั้งสหภาพแรงงาน ทำให้ผู้บังคับบัญชาไม่พอใจจึงเข้ากันไม่ได้และหาเหตุกลั่นแกล้งต่าง ๆ คำร้องของผู้ร้องไม่เป็นความจริงขอให้ยกคำร้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ผู้คัดค้านเป็นลูกจ้างของผู้ร้องและเป็นกรรมการลูกจ้าง ทำหน้าที่ควบคุมเครื่องจักรแผนกฉีดพลาสติกระหว่างเดือนมกราคม 2535 กับเดือนสิงหาคม 2535 ผู้ร้อง(ที่ถูกผู้คัดค้าน) มีสถิติการลากิจและลาป่วยรวม 23 วัน ผู้ร้องมีระเบียบข้อบังคับการทำงานตามเอกสารหมาย ร.23ตามระเบียบดังกล่าวเงื่อนไขการทำงาน ข้อ 14.6 พนักงานที่จะลากิจต้องแจ้งการลาล่วงหน้าต่อผู้บังคับบัญชาเพื่อรออนุมัติ มีสิทธิลากิจได้รับค่าจ้างปีละไม่เกิน 4 วัน และต้องเป็นกรณีจำเป็นจริง ๆการลากิจตามเอกสารหมาย ร.12 ร.16 และ ร.21 เป็นการลากิจกำหนดปีละ 4 วัน การลาตามเอกสารหมาย ร.16 เป็นการยื่นใบลาย้อนหลัง ซึ่งการลาตามเอกสารหมาย ร.16 และ ร.21 เป็นการลาเพื่อพาบุตรและมารดาไปหาแพทย์ พอถือได้ว่าเป็นกรณีจำเป็นก็ตามแต่ก็ยังถือได้ว่าเป็นการลาโดยฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ส่วนการลาป่วยตามเอกสารหมาย ร.14 และ ร.22 ผู้คัดค้านเจ็บป่วยในวันที่ขอลาป่วยจริง ตามระเบียบข้อบังคับ การลาป่วยตั้งแต่ 3 วันทำการขึ้นไปให้ลูกจ้างต้องนำใบรับรองแพทย์ยื่นต่อหัวหน้างาน ที่ผู้ร้องกำหนดให้ผู้คัดค้านเสนอใบรับรองแพทย์ทุกครั้งที่ลาแม้ลาเพียงวันเดียว ซึ่งเป็นการเลือกปฏิบัติกับลูกจ้างเฉพาะราย แม้ผู้คัดค้านไม่ปฏิบัติตามก็ไม่ถือว่าเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับหรือคำสั่งของผู้ร้องการลาของผู้คัดค้านดังกล่าวไม่ทำให้ผู้ร้องเสียหาย การหยุดงานของผู้คัดค้านก่อนวันที่ 25 พฤษภาคม 2535ผิดระเบียบข้อบังคับการลา ผู้ร้องได้เตือนด้วยวาจา และเตือนเป็นหนังสือตามเอกสารหมาย ร.28 และการลาหลังจากวันที่ 25 พฤษภาคม 2535มีการลากิจตามเอกสารหมาย ร.16 และ ร.21 ทั้งสองครั้งดังกล่าวเป็นการลาที่ผู้คัดค้านพาบุตรและมารดาไปหาแพทย์ เห็นได้ว่าเป็นการขาดงานโดยมีเหตุสมควร แต่เป็นการทำผิดกฎการลาตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเอกสารหมาย ร.23 ว่าด้วยลักษณะความผิดและโทษทางวินัย ลำดับที่ 1 เรื่อง ทำผิดกฎการลาต่าง ๆ โทษทางวินัย คือเตือนด้วยวาจา เตือนด้วยลายลักษณ์อักษร ตัดเงินเดือนหรือสั่งพักงานและปลดออก ตามลำดับ การกระทำผิดในสองครั้งหลังนี้พิจารณาพฤติการณ์แห่งคดีประกอบกฎระเบียบดังกล่าวแล้ว เห็นควรให้ผู้ร้องลงโทษผู้คัดค้านด้วยการพักงาน มีกำหนด 3 วัน และศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องลงโทษผู้คัดค้านด้วยการพักงาน มีกำหนด 3 วัน
ผู้ร้องอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ผู้ร้องอุทธรณ์ว่า ผู้คัดค้านกระทำผิดกฎการลาฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน และผู้ร้องได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว จึงเป็นการกระทำผิดซ้ำคำเตือนผู้ร้องมีสิทธิเลิกจ้างได้ ในข้อนี้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าการหยุดงานของผู้คัดค้านก่อนวันที่ 25 พฤษภาคม 2535 ผู้ร้องได้ตักเตือนด้วยวาจาและตัดเตือนเป็นหนังสือแล้ว ตามเอกสารหมายร.28 และการลาภายหลังวันดังกล่าวมีการลากิจตามเอกสารหมาย ร.16และร.21 ลงวันที่ 5 มิถุนายน 2535 และลงวันที่ 20 สิงหาคม 2535ตามลำดับทั้งสองครั้งดังกล่าวเป็นการขาดงานผิดกฎการลาตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานนั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การลากิจตามเอกสารหมาย ร.16 ของผู้คัดค้านนั้น ผู้ร้องมิได้บรรยายหรือกล่าวไว้ในคำร้องว่าผู้คัดค้านได้ขาดงานโดยฝ่าฝืนระเบียบการลา ซึ่งผู้ร้องไม่ได้ประสงค์ให้ลงโทษ ศาลแรงงานกลางนำมาฟังเป็นโทษแก่ผู้คัดค้านเป็นการไม่ชอบ ส่วนเอกสารหมาย ร.21 เป็นการลากิจ ซึ่งผู้คัดค้านได้ยื่นใบลาล่วงหน้าจึงไม่ผิดระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของผู้ร้อง แต่เป็นการลาเกินกำหนด 4 วัน เป็นกรณีไม่ได้รับค่าจ้างตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานซึ่งผู้ร้องก็ไม่ได้อนุมัติการลา แต่ผู้ร้องได้หมายเหตุไว้ว่าในกรณีนี้ผู้จัดการบุคคลได้เรียกมาว่ากล่าวตักเตือนให้นำไปปรับปรุง และพนักงาน (ผู้คัดค้าน)รับปากว่าขอเป็นครั้งสุดท้ายในครั้งนี้ ซึ่งหากมีอีกจะยอมถือเป็นขาดงานลงชื่อผู้จัดการ เห็นว่า ตามข้อความดังกล่าวผู้ร้องไม่ติดใจเอาโทษแก่ผู้คัดค้านและไม่ถือว่าเป็นความผิด ผู้ร้องจะนำการลากิจครั้งนี้มากล่าวโทษผู้คัดค้านอีกหาได้ไม่ ผู้คัดค้านจึงมิได้กระทำผิดซ้ำคำเตือน คดีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่นของผู้ร้องอีกต่อไป
อนึ่ง ที่ศาลแรงงานกลางรับฟังเอกสารหมาย ร.16 ที่ผู้ร้องอ้างเป็นการฟังพยานนอกเหนือจากที่กล่าวในคำร้องและรับฟังเอกสารหมายร.21 ซึ่งผู้คัดค้านไม่ผิดเป็นว่าผู้คัดค้านมีความผิด เป็นการวินิจฉัยพยานหลักฐานเป็นอย่างอื่นนอกสำนวน เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5), 246 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 31 ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาติให้ผู้ร้องลงโทษผู้คัดค้านด้วยการพักงาน 3 วัน จึงไม่ชอบ
พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องของผู้ร้อง