คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5610/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่ลูกจ้างด่าทอและฉีกบัตรบันทึกเวลาทำงาน ซึ่งเป็นการกระทำผิดวินัยตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้าง ย่อมถือว่าเป็นการจงใจขัดคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายด้วย นายจ้างจึงมีเหตุอันสมควรที่จะเลิกจ้างลูกจ้างได้โดยไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและมิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีความผิดและไม่บอกกล่าวล่วงหน้า เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน 4,916 บาท และค่าเสียหายเป็นเงิน 500,000 บาทกับค่าชดเชยเป็นเงิน 12,642 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า โจทก์ใช้วาจาไม่สุภาพด่าทอหัวหน้าแผนกบริการและสวัสดิการที่บริเวณส่วนต้อนรับและรับโทรศัพท์ ซึ่งมีเพื่อนพนักงานอยู่ในบริเวณดังกล่าวด้วย และโจทก์ได้ฉีกบัตรบันทึกเวลาทำงานของโจทก์จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าเสียหาย ค่าชดเชย และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์ขอให้นางวลีรัตน์ หอมสุวรรณ หัวหน้าแผนกบริการและสวัสดิการฝ่ายบุคคลลงชื่อรับรองในบัตรบันทึกเวลาทำงานของโจทก์ว่าไม่ได้มาทำงานสาย มิฉะนั้นโจทก์จะขาดสิทธิได้รับเบี้ยขยันนางวลีรัตน์ไม่ยอมลงชื่อรับรองให้ โจทก์เดินออกมาที่เคาน์เตอร์ประชาสัมพันธ์ด่าทอโดยไม่ระบุชื่อใคร และฉีกบัตรบันทึกเวลาทำงาน การกระทำของโจทก์เป็นการทำลายบัตรบันทึกเวลาทำงานตามพฤติการณ์การกระทำของโจทก์ดังกล่าวเกิดจากความบีบคั้น กดดันทางด้านจิตใจ ด้วยความเสียดายเบี้ยขยันจึงกระทำลงไป มิได้เกิดจากเจตนาร้ายให้ผู้อื่นเดือดร้อนเสียหาย การกระทำของโจทก์ยังไม่ถึงขั้นร้ายแรงคงเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยในหมวดที่ 7 เรื่องวินัยทั่วไป ข้อ 1.4 เรื่องใช้วาจาไม่สุภาพกระทบกระแทก เสียดสี ก้าวร้าวพนักงานด้วยกันเท่านั้นโจทก์ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานแต่ไม่ใช่กรณีที่ร้ายแรงไม่อยู่ในข้อยกเว้นที่จะไม่จ่ายค่าชดเชยโจทก์ทำงานกว่า 1 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน คิดเป็นเงิน 12,642 บาทโจทก์ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานในเรื่องวินัยทั่วไปโดยจงใจ จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 และไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน เป็นการเลิกจ้างโดยมีเหตุผลสมควร มิใช่เลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมจำเลยไม่ต้องจ่ายค่าเสียหาย พิพากษาให้จำเลยชำระเงินรวมจำนวน 13,042 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้อง (วันที่ 2 กันยายน 2536)จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า วันเกิดเหตุ หลังจากโจทก์ถูกนางวลีรัตน์ปฏิเสธไม่ยอมลงชื่อรับรองว่าโจทก์ไม่ได้มาสาย โจทก์เดินออกมาที่เคาน์เตอร์ประชาสัมพันธ์แล้วด่าทอ ฉีกบัตรบันทึกเวลาทำงานซึ่งการกระทำไปเกิดจากความบีบคั้น กดดันทางจิตใจถึงขั้นร้ายแรง คงเป็นเพียงการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย ได้ตรวจดูระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเอกสารหมาย ล.1 หมวดที่ 7เรื่องวินัยทั่วไป ข้อ 1.4 มีข้อความว่า”พนักงานต้องแสดงกิริยาวาจาสุภาพเยี่ยงสุภาพชนพึงปฏิบัติต่อกัน ไม่สบประมาทดูหมิ่นเหยียดหยาม ล่วงเกิน ล้อเลียนกระทบกระแทกเสียดสี ก้าวร้าว หยาบคายหรือกระทำการใด ๆที่ไม่เหมาะสมต่อผู้บังคับบัญชาหรือพนักงานด้วยกันทั้งนี้รวมถึงบุคคลภายนอกที่ติดต่อหรือเกี่ยวกับบริษัทฯ ด้วย”และหนังสือเลิกจ้างโจทก์ตามเอกสารหมาย ล.4 ก็ระบุว่าโจทก์ได้ใช้วาจาไม่สุภาพด้วยการด่าทอในบริเวณเคาน์เตอร์ประชาสัมพันธ์ซึ่งมีผู้มาติดต่อกับบริษัทเป็นจำนวนมากเกิดความเสียหายในชื่อเสียงบริษัทฯ และโจทก์ได้ฉีกบัตรบันทึกเวลาทำงานอันเป็นทรัพย์สินของบริษัทเห็นว่า เหตุเลิกจ้างโจทก์ของจำเลยก็ตรงกับที่ระบุไว้ในหนังสือเลิกจ้างซึ่งผลของการกระทำของโจทก์ผิดระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย หมวดที่ 7 ข้อ 1.4 แม้จำเลยจะกล่าวสรุปในหนังสือเลิกจ้างตอนท้ายว่า โจทก์กระทำผิดวินัยของบริษัทฯว่าด้วยการรักษาทรัพย์สิน ผลประโยชน์และชื่อเสียงของบริษัทฯ(ข้อ 3) ก็ตาม ไม่ใช่ข้อสำคัญ เมื่อโจทก์กระทำผิดวินัยตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยซึ่งถือว่าเป็นการจงใจขัดคำสั่งของจำเลยผู้เป็นนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายด้วย จำเลยก็มีเหตุอันสมควรที่จะเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและมิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
พิพากษายืน

Share