คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5608/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้หนี้ของเจ้าหนี้ทั้งหลายที่มีต่อจำเลยจะเป็นหนี้การค้าของบริษัท อ. จำกัด ที่จำเลยเข้าเป็นผู้ค้ำประกัน แต่จำเลยมีฐานะเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทดังกล่าว ย่อมเป็นผู้มีส่วนสำคัญในการบริหารงาน จำเลยย่อมต้องทราบดีถึงศักยภาพในการประกอบธุรกิจของบริษัท การที่บริษัทประกอบการค้าขายขาดทุนจนไม่สามารถชำระหนี้จำนวนมากแก่เจ้าหนี้ได้ ย่อมเป็นเพราะความผิดพลาดหรือประมาทขาดความรอบคอบของจำเลยเอง หลังจากศาลพิพากษาให้จำเลยล้มละลายแล้วประมาณ 9 ปี จำเลยจึงไปให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทำการสอบสวนเกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สินของจำเลยและให้การในชั้นไต่สวนเปิดเผยต่อศาล อันเป็นระยะเวลาก่อนจำเลยยื่นคำร้องขอปลดจากล้มละลายเพียงเล็กน้อยส่อให้เห็นว่าเป็นการกระทำเพื่อหวังประโยชน์ของตนในการขอปลดจากล้มละลายโดยแท้ยิ่งกว่าประโยชน์ในการรวบรวมจัดการทรัพย์สิน นับได้ว่ามีเหตุที่ไม่สมควรปลดจำเลยจากล้มละลาย

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2530 และพิพากษาให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลายเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2531

ต่อมาวันที่ 10 เมษายน 2540 จำเลยยื่นคำร้องว่า เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จัดการทรัพย์สินของจำเลยไปได้พอสมควรแล้ว จำเลยไม่เคยขัดขวางการดำเนินการของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ศาลพิพากษาให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลายมาเป็นเวลาประมาณ 10 ปีแล้ว จำเลยสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาในต่างประเทศหลายแห่ง มีความรู้ความสามารถพอที่จะช่วยเหลือเศรษฐกิจของประเทศได้ ขอให้มีคำสั่งปลดจำเลยจากล้มละลาย

เจ้าหนี้รายที่ 1 ยื่นคำคัดค้านว่า จำเลยเป็นกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนบริษัท เอ.เอ. จำกัด จำเลยออกเช็คแลกเงินสดไปจากเจ้าหนี้หลายรายเป็นเงินกว่า 100,000,000 บาท แต่ยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินไปยังต่างประเทศก่อนแล้ว จากนั้นได้หลบหนีการถูกดำเนินคดีเช็คไปต่างประเทศ แต่อ้างว่าไปศึกษาต่อเพื่อให้พ้นกำหนดอายุความในคดีอาญาจำเลยได้เตรียมการให้โจทก์ซึ่งเป็นบิดาสามีน้องสาวของจำเลยฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้มาตั้งแต่แรก ซึ่งศาลได้ยกคำขอรับชำระหนี้ของโจทก์ แสดงให้เห็นว่าจำเลยไม่สุจริต โดยมีเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้รวม 22 ราย ศาลอนุญาตให้รับชำระหนี้เป็นเงิน 131,038,806.60 บาท แต่รวบรวมทรัพย์สินและแบ่งจ่ายให้เจ้าหนี้ได้เพียง 7,462,738.40 บาท เท่ากับร้อยละ 6 การที่จำเลยถ่ายเททรัพย์สินไปต่างประเทศกับหลบหนีการถูกดำเนินคดีเช็ค และไปศึกษาต่อโดยอาศัยเงินได้จากการทุจริตเจ้าหนี้ทั้งหลาย พฤติการณ์แสดงให้เห็นถึงความไม่สุจริตของจำเลย ขอให้ยกคำร้อง

เจ้าหนี้รายที่ 4 ยื่นคำคัดค้านว่า เจ้าหนี้รายที่ 4 เป็นเจ้าหนี้จำเลยจำนวน 79,047,623.30 บาท แต่ได้รับส่วนเฉลี่ยชำระหนี้จากทรัพย์สินของจำเลยเพียงร้อยละ 6 เป็นเงิน 4,742,857.40 บาท จำเลยไม่เคยให้ความร่วมมือกับเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในการรวบรวมทรัพย์สินออกขายทอดตลาด แต่เจ้าหนี้รายที่ 4 เป็นผู้ดำเนินการเอง จำเลยเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัท เอ.เอ. จำกัด ซึ่งถูกพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายปัจจุบันจำเลยประกอบการค้าเพชรพลอยใช้ชื่อร้านว่า เจ.แอนด์ เอ.จิวเวอรี่ แต่เจ้าหนี้ไม่สามารถรวบรวมทรัพย์สินในกิจการดังกล่าวได้ และได้รับความเสียหายมาก จำเลยไม่เคยยื่นคำขอประนอมหนี้ ไม่เคยส่งงบดุลแสดงบัญชีกำไรขาดทุนของบริษัท เอ.เอ. จำกัด ขอให้ยกคำร้อง

ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งไม่ยอมปลดจำเลยจากล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 72

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลาย วินิจฉัยว่า “การปลดจากล้มละลายนอกจากมีผลให้จำเลยพ้นจากสภาพการเป็นบุคคลล้มละลายมีสิทธิเข้าจัดการทรัพย์สินและกิจการของตนได้โดยไม่ต้องถูกจำกัดตัดสิทธิตามกฎหมายล้มละลายต่อไปแล้ว ยังทำให้จำเลยหลุดพ้นจากหนี้ทั้งปวงอันพึงขอรับชำระหนี้ได้ในคดีล้มละลายนั้นด้วย การปลดจากล้มละลายจึงเป็นการให้โอกาสจำเลยได้เริ่มต้นชีวิตใหม่โดยไร้หนี้สินดังที่จำเลยฎีกาก็ตาม แต่หลักเกณฑ์การที่ศาลจะมีคำสั่งปลดจากล้มละลายหรือไม่อย่างไรนั้นจะต้องพิจารณาว่าปรากฏข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งอย่างใดดังบัญญัติไว้ในมาตรา 73 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 หรือไม่แล้วจึงมีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดหรือหลายอย่างตามมาตรา 72(1) ถึง (4)คดีนี้แม้จำเลยจะมีการศึกษาสูงโดยสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยในประเทศสหรัฐอเมริกาและตกเป็นบุคคลล้มละลายมาเป็นเวลาประมาณ 11 ปี แล้ว แต่ปรากฏจากรายงานของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่ามีเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของจำเลยรวม 22 ราย เป็นเงินทั้งสิ้น 320,732,044.75 บาท เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้รวบรวมทรัพย์สินของจำเลยออกขายทอดตลาดและดำเนินการแบ่งครั้งที่ 1ให้บรรดาเจ้าหนี้แต่ละรายเฉลี่ยได้เพียงร้อยละ 6 คดีอยู่ระหว่างเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รวบรวมทรัพย์สิน ไม่ปรากฏว่าจำเลยมีทรัพย์สินหรือรายได้อื่นใดอีกจากรายงานของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดังกล่าว แม้รับฟังได้ดังที่จำเลยอ้างว่าหนี้เหล่านี้ล้วนแต่เป็นหนี้ที่เกิดจากการค้าของบริษัท เอ.เอ. จำกัดที่จำเลยได้เข้าเป็นผู้ค้ำประกัน แต่จำเลยมีฐานะเป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของบริษัทกระทำการแทนบริษัทได้เช่นเดียวกับนายยนต์ อัศวะธนกุล และนางอมรา อัศวะธนกุล บิดาและมารดาจำเลย จำเลยจึงเป็นผู้มีส่วนสำคัญในการบริหารงานของบริษัท เอ.เอ.จำกัด และปรากฏจากคำเบิกความของจำเลยว่า ระหว่างปี 2526 ถึง ปี 2529จำเลยเป็นผู้ติดต่อหมุนเวียนวงเงินของบริษัท เอ.เอ. จำกัด กับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์สินเอเชีย จำกัด (มหาชน) เจ้าหนี้รายที่ 1 และจำเลยได้ทำสัญญาขายลดเช็คในนามของบริษัท เอ.เอ. จำกัด แก่เจ้าหนี้รายที่ 1ตามเอกสารหมายเลข 1 ท้ายคำคัดค้านการขอปลดจากล้มละลายของเจ้าหนี้รายดังกล่าว จึงน่าเชื่อว่าจำเลยได้เข้าเกี่ยวข้องและบริหารงานของบริษัท เอ.เอ.จำกัด ด้วย หาใช่ว่านายยนต์และนางอมราเป็นผู้ดำเนินการบริหารแต่เพียงลำพังโดยจำเลยมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยเลยดังที่จำเลยอ้างในฎีกา ดังนั้น จำเลยในฐานะผู้บริหารงานของบริษัท เอ.เอ. จำกัด ย่อมต้องทราบดีถึงศักยภาพในการประกอบธุรกิจของบริษัทดังกล่าวว่าสามารถนำเงินที่กู้ยืมไปลงทุนแล้วจะได้รับผลตอบแทนเพียงพอชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ได้หรือไม่ เมื่อบริษัทเอ.เอ. จำกัด ค้าขายขาดทุนจนไม่สามารถชำระหนี้จำนวนมากแก่เจ้าหนี้ได้ย่อมเป็นเพราะความผิดพลาดหรือประมาทขาดความรอบคอบของจำเลยเองการที่จำเลยและบริษัท เอ.เอ. จำกัด มีทรัพย์สินเหลือไม่ถึงห้าสิบในร้อยของหนี้ที่ไม่มีประกัน จึงไม่ใช่ผลธรรมดาอันเนื่องมาจากการค้าขาดทุนและไม่ใช่เหตุสุดวิสัย แต่เป็นเพราะความผิดพลาดในการบริหารงานของจำเลยมากกว่า อันควรตำหนิจำเลยทั้งจำเลยไม่อาจแสดงให้เป็นที่พอใจต่อศาลได้ว่าจำเลยมีเหตุผลที่ควรเชื่อได้ว่า หากบริษัท เอ.เอ. จำกัด ไม่ชำระหนี้ จำเลยสามารถชำระหนี้แทนได้ จำเลยจึงได้ยอมก่อหนี้ตามสัญญาค้ำประกันขึ้นเป็นจำนวนมาก นอกจากนั้นยังปรากฏว่าเมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยและของบริษัท เอ.เอ. จำกัด เด็ดขาดแล้ว จำเลยมิได้ไปยื่นคำชี้แจงเกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สินของจำเลยและบริษัท เอ.เอ. จำกัด ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ และเมื่อได้มีการประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกแล้ว จำเลยก็มิได้ไปให้ศาลไต่สวนจำเลยโดยเปิดเผยเป็นการด่วน เพื่อทราบถึงกิจการและทรัพย์สินของจำเลยและของบริษัท เอ.เอ. จำกัด เหตุผลที่ทำให้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ตลอดจนความประพฤติและการดำเนินกิจการของจำเลยและบริษัท เอ.เอ. จำกัดว่าได้กระทำหรือละเว้นกระทำการใด ซึ่งเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 หรือตามกฎหมายอื่นเกี่ยวกับล้มละลาย หรือเป็นข้อบกพร่องอันจะเป็นเหตุให้ศาลไม่ยอมปลดจากล้มละลายโดยไม่มีเงื่อนไขตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 30, 42 ทั้งที่ปรากฏภายหลังจากคำเบิกความของจำเลยว่าบริษัท เอ.เอ. จำกัด มีเครือข่ายที่จำเลยเป็นผู้ถือหุ้นอยู่ในต่างประเทศ เช่น ที่มลรัฐฮาวาย นิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกาเมืองฮ่องกงและมีการโอนเงินของบริษัท เอ.เอ. จำกัด ไปยังบริษัทเครือข่ายในต่างประเทศด้วย ตลอดทั้งเมื่อบริษัทเครือข่ายดังกล่าวไม่ชำระหนี้แก่บริษัทเอ.เอ. จำกัด จำเลยก็มิได้ดำเนินการฟ้องร้องเรียกหนี้สินคืน นอกจากนี้จำเลยในฐานะผู้บริหารงานของบริษัท เอ.เอ. จำกัด ก็ไม่เคยส่งงบดุลแสดงบัญชีกำไรขาดทุน ตลอดจนสต็อกสินค้าให้แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพื่อประโยชน์ในการรวบรวมจัดการทรัพย์สินแต่อย่างใด จนกระทั่งหลังจากศาลพิพากษาให้จำเลยล้มละลายแล้วประมาณ 9 ปี จำเลยจึงไปให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทำการสอบสวนเกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สินของจำเลยในวันที่ 14 มิถุนายน2539 และให้การในชั้นไต่สวนเปิดเผยต่อศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์2540 อันเป็นระยะเวลาก่อนจำเลยยื่นคำร้องขอปลดจากล้มละลายเพียงเล็กน้อยส่อให้เห็นว่าเป็นการกระทำเพื่อหวังประโยชน์ของตนในการขอปลดจากล้มละลายโดยแท้ยิ่งกว่าประโยชน์ในการรวบรวมจัดการทรัพย์สินของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และประโยชน์ของเจ้าหนี้ทั้งปวงโดยสุจริต ดังนั้น พฤติการณ์ของจำเลยทั้งก่อนและหลังล้มละลายจึงส่อให้เห็นไปในทางไม่สุจริตหลายประการข้อเท็จจริงต้องด้วยข้อกำหนดตามมาตรา 73(1) และ (3) ประกอบกับเจ้าหนี้รายที่ 1 และที่ 4 คัดค้านการขอปลดจากล้มละลายของจำเลย จึงนับว่ามีเหตุที่ไม่สมควรปลดจำเลยจากล้มละลาย”

พิพากษายืน

Share