คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5608/2542

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ตามพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองที่ผู้ตายทำไว้มีข้อความสำคัญกำหนดไว้ ดังนี้ “ถ้าข้าพเจ้าถึงแก่ความตายไปแล้ว บรรดาทรัพย์สินของข้าพเจ้าที่มีอยู่และที่จะเกิดขึ้นในภายหน้า ข้าพเจ้ายอมยกให้เป็นกรรมสิทธิ์แก่ผู้ที่ได้ระบุไว้ในพินัยกรรมให้เป็นผู้รับทรัพย์สินตามจำนวนซึ่งกำหนดไว้ดังต่อไปนี้ คือ (1) ที่ดินตามโฉนดเลขที่ 1236 เนื้อที่จำนวน 60 ไร่ 2 งาน33 ตารางวา ขอยกให้ ย. หลานสาว (ผู้คัดค้าน) จำนวน 50 ไร่ ส่วนที่เหลืออีกจำนวน 10 ไร่ 2 งาน 33 ตารางวา ขอยกให้กับมัสยิดสมาคมอิสลาม”ผู้ตายมีทรัพย์มรดกคือ ที่ดินเพียง 3 แปลง เท่านั้น ได้แก่ที่ดินตามโฉนดเลขที่ 1236 ตามที่ระบุไว้ในพินัยกรรมกับที่ดินโฉนดเลขที่ 5920 และที่ดินโฉนดเลขที่ 778 และตามพฤติการณ์มีข้อบ่งชี้ให้เห็นเจตนาของผู้ตายว่าประสงค์จะยกเฉพาะที่ดินโฉนดเลขที่ 1236 ให้แก่ผู้มีชื่อในพินัยกรรม คือผู้คัดค้านและมัสยิดสมาคมอิสลามเท่านั้น ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 5920 และที่ดินโฉนดเลขที่ 778 นั้น ผู้ตายมิได้ประสงค์จะทำพินัยกรรมยกให้แก่ผู้คัดค้านและมัสยิดสมาคมอิสลาม ดังนี้เมื่อผู้คัดค้านได้รับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 1236 แล้ว ทั้งผู้คัดค้านมิใช่ทายาทโดยธรรมของผู้ตายอันจะมีสิทธิรับมรดกนอกพินัยกรรมคือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 5920 และที่ดินโฉนดเลขที่ 778 ผู้คัดค้านจึงไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์นอกพินัยกรรมอันจะมีสิทธิยื่นคำร้องคัดค้านขอให้เพิกถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลมีคำสั่งตั้งผู้ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก(ไม่มีพินัยกรรม) ของนางด๊ะหรือด้ะ อุหมัด ผู้ตาย ผู้คัดค้านยื่นคำร้องว่าตามที่ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดก (ไม่มีพินัยกรรม)ของนางด๊ะหรือด้ะ อุหมัด ผู้ตาย นั้น ความจริงแล้ว เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์2525 ผู้ตายได้ทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองยกทรัพย์สินทั้งหมดให้แก่ผู้คัดค้านและมัสยิดสมาคมอิสลาม การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกโดยทราบดีอยู่แล้วว่าเจ้ามรดกทำพินัยกรรมไว้ ย่อมเป็นการกระทำที่ไม่สุจริต หลังจากศาลตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกแล้ว ผู้ร้องไม่จัดทำบัญชีทรัพย์มรดก ไม่แจ้งรายการแสดงบัญชีทรัพย์มรดกให้ทายาททราบตามบทบัญญัติและเงื่อนไขของกฎหมาย ทั้งไม่โอนทรัพย์มรดกทั้งหมดให้แก่ผู้คัดค้านและผู้รับพินัยกรรมอื่นตามข้อกำหนดพินัยกรรม คงโอนทรัพย์มรดกให้ผู้คัดค้านเพียงบางส่วนเป็นการจงใจไม่ปฏิบัติหน้าที่ของผู้จัดการมรดกทำให้ผู้คัดค้านและทายาทผู้มีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมได้รับความเสียหาย ผู้ร้องจึงไม่เหมาะสมที่จะเป็นผู้จัดการมรดกอีกต่อไปการจัดการมรดกยังไม่เสร็จสิ้น ขอให้ศาลมีคำสั่งถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกและตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกแทน

ผู้ร้องยื่นคำคัดค้านว่า นางด๊ะหรือด้ะ อุหมัด ผู้ตายได้ทำพินัยกรรมไว้จริง โดยพินัยกรรมระบุเฉพาะที่ดินโฉนดเลขที่ 1236 ตำบลพระอาจารย์อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก เนื้อที่ 60 ไร่ 2 งาน 33 ตารางวา ให้แก่ผู้คัดค้านและมัสยิดสมาคมอิสลาม โดยให้ผู้คัดค้านได้เนื้อที่ 50 ไร่ ผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกจัดการโอนที่ดินดังกล่าวเนื้อที่ 50 ไร่ ให้แก่ผู้คัดค้านไปแล้วทรัพย์มรดกอื่นจึงเป็นทรัพย์มรดกนอกพินัยกรรมซึ่งผู้คัดค้านไม่มีสิทธิได้รับและผู้คัดค้านก็ไม่มีสิทธิเรียกร้องทรัพย์มรดกอื่นอีกในฐานะทายาทโดยธรรมเนื่องจากมารดาผู้คัดค้านซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมยังมีชีวิตอยู่ผู้ร้องได้ดำเนินการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทไปเรียบร้อยแล้วมิได้กระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกหรือทายาท ผู้คัดค้านจึงไม่มีสิทธิขอให้ศาลสั่งถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดก และตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกแทน ขอให้ยกคำร้องของผู้คัดค้าน

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า พินัยกรรมมิได้ระบุยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้แก่ผู้คัดค้าน ทรัพย์มรดกอื่นจึงเป็นทรัพย์นอกพินัยกรรมเมื่อผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกได้จัดการโอนทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมให้แก่ผู้คัดค้านไปแล้ว ผู้คัดค้านซึ่งมิใช่ทายาทโดยธรรมจึงไม่มีสิทธิรับทรัพย์มรดกอื่นนอกพินัยกรรมไม่ถือเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะมาร้องขอให้ถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกและให้ตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกแทนได้พิพากษาให้ยกคำร้องของผู้คัดค้าน

ผู้คัดค้านอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน

ผู้คัดค้านฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติได้ว่า นางด๊ะหรือด้ะอุหมัด ผู้ตายมีสามีชื่อนายหรุ่นหรือหยีหรุ่น อุหมัด ซึ่งได้ถึงแก่กรรมไปก่อนนานแล้ว ไม่มีบุตรด้วยกัน ผู้ตายมีน้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 8 คนตามบัญชีเครือญาติเอกสารหมาย ร.3 โดยผู้ร้องเป็นน้องคนสุดท้อง ผู้คัดค้านเป็นบุตรนางฮาวอมณฑาหรือแสงศรีซึ่งเป็นน้องของผู้ตายและเป็นพี่ของผู้ร้อง ผู้ตายรับผู้คัดค้านไปเลี้ยงดูตั้งแต่ผู้คัดค้านมีอายุได้ 2 ปี เมื่อวันที่ 18พฤษภาคม 2530 ผู้ตายได้ถึงแก่กรรม ผู้ตายมีทรัพย์มรดกเป็นที่ดินรวม3 แปลง คือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 5920 ตำบลบางชัน อำเภอมีนบุรี (เมือง)กรุงเทพมหานคร ที่ดินโฉนดเลขที่ 1236 ตำบลบึงพระอาจารย์ อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายกและที่ดินโฉนดเลขที่ 778 ตำบลบึงพระอาจารย์(คลองหกวาสายล่างฝั่งเหนือ) อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก ตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย ค.4 ถึง ค.6 โดยที่ดินโฉนดเลขที่ 5920 ตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย ค.4 ผู้ตายมีชื่อถือกรรมสิทธิ์รวมกับผู้ร้องและบุคคลอื่น ก่อนถึงแก่กรรม ผู้ตายได้ทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองไว้เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2525 ตามสำเนาพินัยกรรมเอกสารหมาย ค.3หลังจากผู้ตายถึงแก่กรรมแล้ว ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก(ไม่มีพินัยกรรม) ของผู้ตาย หลังจากนั้นผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกได้จัดการโอนทรัพย์มรดกที่ดินโฉนดเลขที่ 1236 ตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย ค.5 บางส่วนเนื้อที่ 50 ไร่ ตามที่ระบุในพินัยกรรมกับบ้าน1 หลัง ให้แก่ผู้คัดค้านแล้วแต่ยังไม่ได้โอนที่ดินโฉนดเลขที่ดังกล่าวบางส่วนเนื้อที่ 10 ไร่ 2 งาน 33 ตารางวา ตามที่ระบุในพินัยกรรมให้แก่มัสยิดสมาคมอิสลาม ซึ่งเป็นผู้รับพินัยกรรมด้วยกับไม่ได้แบ่งปันหรือโอนทรัพย์มรดกที่ดินตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย ค.4 และ ค.6 ให้แก่ผู้คัดค้าน และนับแต่ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายแล้ว ผู้ร้องไม่ได้จัดทำบัญชีทรัพย์มรดกยื่นต่อศาล ผู้คัดค้านไม่เป็นบุคคลวิกลจริต หรือบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นผู้เสมือนไร้ความสามารถ และไม่เป็นบุคคลล้มละลาย

คดีมีปัญหาข้อแรกตามฎีกาของผู้คัดค้านว่า ผู้ตายได้ทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองตามเอกสารหมาย ค.3 ยกทรัพย์มรดกรวมทั้งที่ดินตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย ค.4 และ ค.6 ให้แก่ผู้คัดค้าน ผู้คัดค้านจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกมีสิทธิร้องขอให้ถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกและร้องขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้นั้น

ตามพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองที่ผู้ตายทำไว้ตามเอกสารหมายค.3 มีข้อความสำคัญกำหนดไว้ดังนี้

“ข้อ 1 ถ้าข้าพเจ้าถึงแก่ความตายไปแล้ว บรรดาทรัพย์สินของข้าพเจ้าที่มีอยู่และที่จะเกิดขึ้นในภายหน้า ข้าพเจ้ายอมยกให้เป็นกรรมสิทธิ์แก่ผู้ที่ได้ระบุไว้ในพินัยกรรมให้เป็นผู้รับทรัพย์สินตามจำนวนซึ่งกำหนดไว้ดังต่อไปนี้ คือ (1) ที่ดินตามโฉนดเลขที่ 1236 อยู่ที่ตำบลพระอาจารย์อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก เนื้อที่จำนวน 60 ไร่ 2 งาน 33 ตารางวาขอยกให้นางสาวยุพิน มณฑา หลานสาว จำนวน 50 ไร่ ส่วนที่เหลืออีกจำนวน 10 ไร่ 2 งาน 33 ตารางวา ขอยกให้กับมัสยิดสมาคมอิสลามอยู่หมู่ที่ 7 ตำบลพระอาจารย์ อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก

ข้อ 2 ข้าพเจ้าขอมอบพินัยกรรมฉบับนี้แก่นายอำเภอองครักษ์เก็บรักษาไว้ และไม่ขอตั้งผู้จัดการมรดกแต่อย่างใด”

ศาลฎีกาเห็นว่า แม้พินัยกรรมจะระบุไว้ดังกล่าว ทั้งได้ระบุชื่อผู้ที่จะได้รับทรัพย์มรดกไว้เพียงนางสาวยุพิน มณฑา (ผู้คัดค้าน) กับมัสยิดสมาคมอิสลามเป็นผู้รับพินัยกรรมก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่า ผู้ตายมีทรัพย์มรดกคือ ที่ดินเพียง 3 แปลง เท่านั้น ได้แก่ที่ดินตามโฉนดเลขที่ 1236ตามที่ระบุไว้ในพินัยกรรมกับที่ดินโฉนดเลขที่ 5920 และที่ดินโฉนดเลขที่778 หากผู้ตายมีเจตนาจะยกที่ดินโฉนดเลขที่ 5920 และที่ดินโฉนดเลขที่778 แล้ว ก็น่าที่จะระบุไว้ในพินัยกรรมให้ชัดเจนได้ แม้หากผู้ตายจะจำเลขโฉนดที่ดินไม่ได้ แต่ก็สามารถระบุสถานที่ที่ดินตั้งอยู่ได้ นอกจากนี้ไม่ปรากฏเหตุผลที่ผู้ตายจะตัดทายาทอื่นไม่ให้รับมรดกแต่อย่างใด ยิ่งกว่านั้นยังได้ความจากคำเบิกความของผู้คัดค้านเบิกความตอบคำถามค้านทนายผู้ร้องว่าผู้ตายบอกผู้คัดค้านว่าได้ทำพินัยกรรมยกที่ดิน 1 แปลง ให้แก่ผู้คัดค้านส่วนที่ดินอีก 2 แปลง และบ้าน 1 หลัง ไม่ได้ทำพินัยกรรมยกให้แก่ผู้ใด ดังนี้ย่อมเป็นข้อบ่งชี้ให้เห็นเจตนาของผู้ตายว่าประสงค์จะยกเฉพาะที่ดินโฉนดเลขที่ 1236 ให้แก่ผู้มีชื่อในพินัยกรรม คือผู้คัดค้านและมัสยิดสมาคมอิสลามเท่านั้น ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 5920 และที่ดินโฉนดเลขที่ 778 นั้น ผู้ตายมิได้ประสงค์จะทำพินัยกรรมยกให้แก่ผู้คัดค้านและมัสยิดสมาคมอิสลามดังที่ผู้คัดค้านกล่าวอ้างแต่อย่างใด เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า ผู้คัดค้านได้รับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 1236 แล้ว ทั้งผู้คัดค้านมิใช่ทายาทโดยธรรมของผู้ตายอันจะมีสิทธิรับมรดกนอกพินัยกรรมคือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 5920และที่ดินโฉนดเลขที่ 778 ผู้คัดค้านจึงไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์นอกพินัยกรรมอันจะมีสิทธิยื่นคำร้องคัดค้านขอให้เพิกถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกแล้วตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดก”

พิพากษายืน

Share