คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5607/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

บ. บิดาโจทก์ได้แบ่งที่ดินให้ ว. มารดาจำเลยเข้าอยู่อาศัยและการที่ ว. ได้ยื่นคำคัดค้านต่อเจ้าพนักงานที่ดินภายหลังจาก บ. ได้ขอรังวัดที่ดินเพื่อออกโฉนดว่าที่ดินพิพาทไม่ใช่ที่ดินของ บ. ผู้ขอออกโฉนด แต่เป็นที่ดินของ ว. ได้ครอบครองมาเป็นเวลากว่า 30 ปีแล้ว การคัดค้านของ ว. เป็นการโต้แย้งสิทธิซึ่งถือว่า บ. ได้ทราบแล้วพฤติการณ์ของ ว. เป็นการเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือว่าไม่มีเจตนาจะยึดถือที่พิพาทแทน บ. ต่อไปอีก และ ว. ได้ถือสิทธิครอบครองที่พิพาท เพื่อตนเองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1381 ต่อมา บ. ได้ถึงแก่กรรม โจทก์ได้ขอเป็นผู้จัดการมรดกและได้เข้าสวมสิทธิการดำเนินการขอออกโฉนดที่ดิน ว. กับพวกได้คัดค้านการออกโฉนดที่ดิน แสดงให้เห็นว่า ว. ซึ่งในขณะนั้นเป็นผู้ครอบครองที่พิพาทตลอดมายืนยันว่าตนเองมีกรรมสิทธิ์ในที่พิพาท และในการที่ ว. ถอนคำคัดค้านก็เนื่องจากเจ้าพนักงานที่ดินแจ้งให้ทราบว่าได้มีประกาศสำนักงานที่ดิน หากไม่ถอนคำคัดค้านจะถูกฟ้องร้อง เมื่อ ว. ยังครอบครองที่พิพาทอยู่และได้คัดค้านการรังวัดที่ดินเพื่อออกโฉนดของโจทก์ต่อไปอีก จึงเป็นการโต้แย้งสิทธิและเป็นการที่ ว. เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือเป็นของตนตั้งแต่ได้ยื่นคำร้องคัดค้านแล้ว หลังจากนั้น ว. ยกที่พิพาทให้จำเลยและจำเลยได้ร้องคัดค้านการออกโฉนดที่ดินของโจทก์ การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องเรียกคืนการครอบครองที่พิพาทเกินกว่า 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์ถูกแย่งการครอบครอง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างพร้อมขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดินของโจทก์และส่งมอบที่ดินดังกล่าวในสภาพเรียบร้อยคืนแก่โจทก์ ห้ามมิให้จำเลยและบริวารเข้าไปเกี่ยวข้องในที่ดินของโจทก์ ให้จำเลยชำระค่าเสียหาย เดือนละ 3,000 บาท ให้แก่โจทก์นับแต่เดือนมีนาคม 2540 เป็นต้นไป จนกว่าจำเลยจะรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างพร้อมขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินของโจทก์

จำเลยให้การว่า จำเลยแย่งการครอบครองที่พิพาทมาหลายปีแล้ว โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2540 เป็นการฟ้องเอาคืนซึ่งการครอบครองเมื่อพ้น 1 ปีนับตั้งแต่ถูกแย่งการครอบครอง จึงหมดสิทธิฟ้องคดีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 วรรคสอง ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างพร้อมขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่พิพาท และส่งมอบที่พิพาทคืนให้แก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อย ห้ามมิให้จำเลยและบริวารเข้าไปเกี่ยวข้องในที่พิพาทอีก ให้จำเลยชำระค่าเสียหายในอัตราเดือนละ1,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป (ฟ้องวันที่ 19 มีนาคม 2540) จนกว่าจำเลยจะรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างพร้อมขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่พิพาท

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า เดิมนายบุญมา เกษมวัน บิดาโจทก์ได้ครอบครองที่ดิน 1 แปลง อยู่หน้าวัดป่าแสนสำราญ ตำบลวารินชำราบ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี เนื้อที่ 16 ไร่ 1 งาน ตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. 1) เลขที่ 477 – 98 และได้แบ่งที่พิพาทเนื้อที่ 55.50 ตารางวา ให้นางวิไลพร มาโนชญกิจหรือมาโนชญ์จิต มารดาจำเลยเข้าอยู่อาศัย นางวิไลพรได้ปลูกสร้างอาคารลงในที่ดินแปลงดังกล่าว ต่อมาปี 2531 นางวิไลพรได้ยกที่พิพาทให้แก่จำเลย มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า นางวิไลพรและจำเลยได้บอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือว่าไม่เจตนาจะยึดถือทรัพย์สินแทนผู้ครอบครองต่อไปแล้วหรือไม่ โจทก์อ้างตนเองเป็นพยานและนำนายไพโรจน์ นิลกนิษฐ์ มาเบิกความว่า ประมาณปี 2529 ถึง 2530 นายบุญมาได้ยื่นเรื่องขอรังวัดที่ดินเพื่อขอออกโฉนดเมื่อปี 2530 นางวิไลพรได้มาคัดค้านต่อเจ้าพนักงานที่ดิน ส่วนจำเลยไม่ได้คัดค้าน ต่อมาสำนักงานที่ดินจังหวัดอุบลราชธานีได้ประกาศแจกโฉนดที่ดินให้แก่นายบุญมาตามประกาศสำนักงานที่ดินจังหวัดอุบลราชธานี วันที่ 6 สิงหาคม 2530 จำเลยนำนางวิไลพรมาเบิกความว่า ในปี 2530 นายบุญมาได้นำช่างมารังวัดที่ดินบริเวณหน้าวัดป่าแสนสำราญซึ่งรวมทั้งที่พิพาทด้วย ชาวบ้านได้ร่วมกันคัดค้านโดยยื่นคำคัดค้านต่อเจ้าพนักงานที่ดินว่า “ขอคัดค้านการรังวัดครั้งนี้ เนื่องจากที่ดินดังกล่าวไม่ใช่ที่ดินของนายบุญมา เกษมวัน ผู้ขอออกโฉนด แต่เป็นที่ดินของพวกข้าพเจ้าได้ครอบครองมาเป็นเวลากว่า 30 ปีแล้ว” ตามบันทึกถ้อยคำ ลงวันที่ 11 มิถุนายน 2530 นางวิไลพรได้ร่วมลงลายมือชื่อคัดค้านด้วย ต่อมาเจ้าพนักงานที่ดินชี้แจงว่าได้ออกโฉนดที่ดินให้แก่นายบุญมาแล้ว หากนางวิไลพรไม่ถอนคำคัดค้านจะถูกฟ้องร้อง นางวิไลพร จึงถอนคำคัดค้านเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2530 แต่นางวิไลพรยังครอบครองที่พิพาทมาโดยตลอด เห็นว่า ตามคำให้การของจำเลยรับว่านายบุญมาบิดาโจทก์ได้แบ่งที่ดินให้นางวิไลพรมารดาจำเลยเข้าอยู่อาศัยและการที่นางวิไลพรได้ยื่นคำคัดค้านต่อเจ้าพนักงานที่ดินภายหลังจากนายบุญมาได้ขอรังวัดที่ดินเพื่อออกโฉนดว่าที่ดินดังกล่าวไม่ใช่ที่ดินของนายบุญมาผู้ขอออกโฉนด แต่เป็นที่ดินของนางวิไลพรได้ครอบครองมาเป็นเวลากว่า 30 ปีแล้ว การคัดค้านของนางวิไลพรเป็นการโต้แย้งสิทธิซึ่งถือว่านายบุญมาได้ทราบแล้ว พฤติการณ์ของนางวิไลพรเป็นการเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือว่าไม่มีเจตนาจะยึดถือที่พิพาทแทนนายบุญมาต่อไปอีก และนางวิไลพรได้ถือสิทธิครอบครองที่พิพาทเพื่อตนเองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1381 ส่วนการที่นางวิไลพรถอนคำคัดค้านนั้นเนื่องจากเจ้าพนักงานที่ดินแจ้งให้ทราบว่าได้มีประกาศสำนักงานที่ดินจังหวัดอุบลราชธานี วันที่ 6 สิงหาคม 2530 เรื่องแจกโฉนดที่ดินรายนายบุญมา เกษมวัน หากไม่ถอนคำคัดค้านจะถูกฟ้องร้องต่อมานายบุญมาได้ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2531 โจทก์ได้ขอเป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล และได้เข้าสวมสิทธิการดำเนินการขอออกโฉนดที่ดินเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2531 นางวิไลพรกับพวกได้คัดค้านการออกโฉนดที่ดินโดยอ้างว่า “ได้ครอบครองอยู่อาศัยโดยสุจริตเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของมาเป็นเวลานานแล้ว จึงถือว่าข้าพเจ้ากับพวกมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินและบ้านโดยสมบูรณ์” ตามหนังสือฉบับลงวันที่ 27 กันยายน 2531 แสดงให้เห็นว่านางวิไลพรซึ่งในขณะนั้นเป็นผู้ครอบครองที่พิพาทตลอดมายังยืนยันว่าตนเองมีกรรมสิทธิ์ในที่พิพาท และในการที่ถอนคำคัดค้านเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน2530 นั้น เนื่องจากเจ้าพนักงานที่ดินแจ้งให้ทราบว่าได้มีประกาศสำนักงานที่ดิน จังหวัดอุบลราชธานี วันที่ 6 สิงหาคม 2530 เรื่องแจกโฉนดที่ดินรายนายบุญมา เกษมวัน หากไม่ถอนคำคัดค้านจะถูกฟ้องร้อง เมื่อนางวิไลพรยังครอบครองที่พิพาทอยู่และได้คัดค้านการรังวัดที่ดินเพื่อออกโฉนดของโจทก์ต่อไปอีก จึงเป็นการโต้แย้งสิทธิ และเป็นการที่นางวิไลพรเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือเป็นของตนตั้งแต่ได้ยื่นคำร้องคัดค้านแล้ว ซึ่งเป็นการแย่งการครอบครองของโจทก์อยู่ในตัวแล้ว หลังจากนั้นเมื่อปี 2531 นางวิไลพรยกที่พิพาทให้จำเลยและจำเลยได้ร้องคัดค้านการออกโฉนดที่ดินของโจทก์ตามหนังสือฉบับลงวันที่ 12 กันยายน 2538 ดังนั้น การที่โจทก์นำคดีนี้มาฟ้องเรียกคืนการครอบครองที่พิพาทเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2540 โจทก์จึงฟ้องคดีเกินกว่า 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์ถูกแย่งการครอบครอง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3พิพากษามานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น ฎีกาของจำเลยประเด็นอื่นไม่จำต้องวินิจฉัย”

พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

Share