แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
เงินค่าชดเชยเป็นเงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงานซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40(1) แห่ง ป.รัษฎากร แม้จะจ่ายเมื่อเลิกจ้างแล้วก็ตาม และไม่เป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นตาม ป.รัษฎากร มาตรา 42 นายจ้างจึงมีหน้าที่หักภาษีเงินได้ไว้ณ ที่จ่าย ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 50 ประกอบด้วย มาตรา 3 จตุทศ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์มีสิทธิได้รับเงินค่าชดเชย 212,700 บาท จากจำเลยที่ 1 ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 2841/2529 เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 แต่จำเลยที่ 1 จ่ายเงินให้โจทก์เพียง 183,522 บาท ส่วนที่ขาดอยู่อีก 29,147.50 บาท นั้นจำเลยที่ 1 ได้หักไว้เป็นค่าภาษีและนำส่งจำเลยที่ 2 ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของจำเลยที่ 3 ทั้งนี้จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิหักภาษี ณ ที่จ่าย และจำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิรับชำระภาษีที่จำเลยที่ 1 หักไว้ดังกล่าว เนื่องจากเงินค่าชดเชยไม่อยู่ในข่ายที่จะต้องเสียภาษีโจทก์ได้ทวงถามขอเงินค่าภาษีดังกล่าวคืนแล้ว แต่จำเลยเพิกถอน ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 29,147.50 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า เงินค่าชดเชยที่จำเลยที่ 1 ต้องจ่ายให้โจทก์นั้นเป็นเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40(1) และมิได้รับยกเว้นภาษี จำเลยที่ 1 มีสิทธิหักไว้ ณ ที่จ่าย ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 50 และได้นำส่งให้จำเลยที่ 2 เป็นการชอบด้วยกฎหมายแล้ว
จำเลยที่ 2 ที่ 3 ให้การต่อสู้คดีหลายประการ และว่าเงินค่าชดเชยที่โจทก์ได้รับจากจำเลยที่ 1 เป็นเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40(1) และไม่ได้รับยกเว้นภาษีตามมาตรา 42 จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายและนำส่งจำเลยที่ 2 แต่จำเลยที่ 1 หักและนำส่งจำเลยที่ 2 เกินไป 3,000 บาทจำเลยที่ 2 ก็ได้คืนให้โจทก์รับไปแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกเงินตามฟ้องคืน
ในวันชี้สองสถาน โจทก์รับว่าได้รับเงิน 3,000 บาท คืนจากจำเลยที่ 2 แล้วจริง ศาลภาษีอากรกลางเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้โดยไม่ต้องสืบพยาน จึงสั่งงดสืบพยาน แล้วพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาในชั้นนี้เฉพาะข้อกฎหมายว่า เงินค่าชดเชยที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างนั้นเป็นเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากรหรือไม่ เห็นว่า แม้จำเลยที่ 1 จะชำระเงินให้โจทก์ตามคำพิพากษาของศาลก็ตาม แต่ก็สืบเนื่องมาจากการที่โจทก์ฟ้องเรียกเอาเงินจำนวนนั้นจากจำเลยที่ 1 ในฐานะที่จำเลยที่ 1 เป็นนายจ้างของโจทก์ มีหน้าที่จะต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างเมื่อเลิกจ้าง มูลเหตุที่ทกให้จำเลยที่ 1 ต้องจ่ายเงินค่าชดเชยให้โจทก์ก็เนื่องมาจากการที่จำเลยที่ 1 กับโจทก์มีนิติสัมพันธ์กันในฐานะนายจ้างกับลูกจ้างนั่นเอง ถือได้ว่าเป็นเงินที่โจทก์ได้เนื่องจากการจ้างแรงงานตามที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากร มาตรา 40(1) ซึ่งกำหนดให้เป็นเงินได้พึงประเมินแม้เงินค่าชดเชยจะจ่ายกันเมื่อเลิกจ้างแล้ว ก็หาทำให้เงินดังกล่าวไม่เป็นเงินได้พึงประเมินดังที่โจทก์อุทธรณ์ไม่ และไม่ปรากฏว่า เป็นเงินได้พึงประเมินประเภทที่ได้รับการยกเว้นให้ไม่ต้องเสียภาษีตามประมวลรัษฎากร มาตรา 42 ดังนั้นจำเลยที่ 1 ผู้จ่ายเงินค่าชดเชยตามคำพิพากษาให้โจทก์จึงมีหน้าที่ หักภาษีเงินได้ไว้ณ ที่จ่ายตามประมวลรัษฎากร มาตรา 50 ประกอบด้วยมาตรา 3 จตุทศแล้วนำส่งให้เจ้าหนี้ที่ของจำเลยที่ 2 ซึ่งมีสิทธิรับไว้โดยชอบเป็นการถูกต้องแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกเงินตามฟ้องคืน ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้นชอบแล้วอุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน