คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5603/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ผู้คัดค้านอ้างว่าเป็นภริยาของเจ้ามรดกโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน แต่อยู่กินด้วยกัน และมีทรัพย์สินร่วมด้วยบางรายการถือว่าผู้คัดค้านเป็นผู้มีส่วนได้เสียชอบที่จะยื่นคำคัดค้านการที่ผู้ร้องขอให้ตั้งตนเองเป็นผู้จัดการมรดกได้ เมื่อปรากฏว่าหากพินัยกรรมทำขึ้นขณะที่ผู้ตายป่วยหนักสติสัมปชัญญะไม่สมประกอบดังคำคัดค้าน ผู้ร้องย่อมไม่มีอำนาจร้องต่อศาลขอให้ตั้งตนเองเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมได้ศาลก็จำต้องวินิจฉัยถึงความสมบูรณ์ของพินัยกรรมด้วย.

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ตายมีภริยาไม่ได้จดทะเบียนสมรส 4 คนและมีบุตรเกิดจากภริยาทั้งสี่รวมกันทั้งสิ้น 15 คน บิดามารดาของผู้ตายได้ถึงแก่ความตายก่อนผู้ตายแล้ว และก่อนผู้ตายถึงแก่ความตายผู้ตายได้จดทะเบียนรับรองผู้ร้องเป็นบุตรและได้ทำพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมือง ยกทรัพย์สินให้แก่ผู้ร้องและระบุในพินัยกรรมตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดก ผู้ร้องเป็นผู้มีคุณสมบัติครบถ้วน ไม่ต้องห้ามในการเป็นผู้จัดการมรดก ขอให้ไต่สวนและมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ผู้คัดค้านยื่นคำร้องคัดค้านว่า ผู้คัดค้านเป็นภริยาของผู้ตายโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสแต่อยู่กินร่วมกันกับผู้ตาย มีบุตรด้วยกัน4 คน และมีทรัพย์สินร่วมด้วยคือที่ดินโฉนดเลขที่ 9247, 9248, 9249และ 3794 ตำบลบ้านช่างหล่อ อำเภอบางกอกน้อย กรุงเทพมหานครและทรัพย์สินอื่นอีกตามบัญชีทรัพย์ท้ายคำร้องพินัยกรรมฝ่ายเมืองและคำสั่งแต่งตั้งผู้จัดการมรดกที่ผู้ร้องอ้างไม่ถูกต้องสมบูรณ์เป็นโมฆะ เพราะทำขึ้นขณะที่ผู้ตายล้มป่วยหนัก สติสัมปชัญญะไม่สมประกอบและผู้ร้องมีคุณสมบัติไม่ครบตามที่กฎหมายกำหนด ผู้ร้องจึงไม่สมควรเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ผู้คัดค้านไม่เป็นบุคคลต้องห้ามตามกฎหมายในการเป็นผู้จัดการมรดกขอให้ตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายและยกคำร้องของผู้ร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายยกคำร้องคัดค้านของผู้คัดค้าน
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกร่วมด้วยผู้หนึ่ง ให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำสั่งศาลชั้นต้น
ผู้ร้องและผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่า ผู้ร้องเป็นบุตรนายวิรัติ บุณยประสิทธิ์ ผู้ตายโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้คัดค้านเป็นภริยาของผู้ตายอีกคนหนึ่ง ซึ่งไม่ได้จดทะเบียนสมรส มีบุตรด้วยกัน 4 คน ผู้ตายได้ทำพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมือง ณ ที่ว่าการอำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ยกทรัพย์สินหลายรายการให้แก่ผู้ร้อง บางรายการให้ทายาทอื่นรวมทั้งบุตรของผู้คัดค้านด้วย ต่อมาผู้ตายได้ทำพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองณ ที่ว่าการอำเภอพระนครศรีอยุธยา เพิ่มเติมพินัยกรรมฉบับแรกไม่ให้บุตรของผู้คัดค้านได้รับมรดก และพินัยกรรมทั้งสองฉบับมีข้อกำหนดในพินัยกรรมตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดก
พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาว่า ผู้คัดค้านมีสิทธิร้องคัดค้านหรือไม่ ถ้ามีจำเป็นต้องวินิจฉัยถึงความสมบูรณ์ของพินัยกรรมหรือไม่ศาลฎีกาโดยมติของที่ประชุมใหญ่เห็นว่า การที่ผู้คัดค้านอ้างว่าผู้คัดค้านเป็นภริยาของเจ้ามรดกโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันแต่อยู่กินด้วยกันและมีทรัพย์สินร่วมด้วยบางรายการ ถือว่าผู้คัดค้านเป็นผู้มีส่วนได้เสียชอบที่จะยื่นคำคัดค้านการที่ผู้ร้องขอให้ตั้งตนเองเป็นผู้จัดการมรดกได้ ส่วนปัญหาว่าจำต้องวินิจฉัยถึงความสมบูรณ์ของพินัยกรรมหรือไม่ เห็นว่าหากพินัยกรรมทำขึ้น ขณะที่ผู้ตายล้มป่วยหนักสติสัมปชัญญะไม่สมประกอบ ดังคำคัดค้านผู้ร้องย่อมไม่มีอำนาจร้องต่อศาลขอให้ตั้งตนเองเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมได้ จึงจำต้องวินิจฉัยถึงความสมบูรณ์ของพินัยกรรม
ปัญหาว่าพินัยกรรมดังกล่าวสมบูรณ์ตามกฎหมายหรือไม่ เห็นว่าพินัยกรรมดังกล่าวเป็นพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมือง ทำขึ้นโดยทางราชการ และฝ่ายผู้ร้องมีนายสำเริง มหาวัตร ผู้ช่วยนายทะเบียนอำเภอ (เจ้าพนักงานปกครอง 6) รักษาราชการแทนนายอำเภอพระนครศรีอยุธยาผู้ทำพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองดังกล่าว นางกาญจนา สดับพจน์ และนางพิมพ์ทอง มาลีวัตร พยานในพินัยกรรมทั้งสองฉบับมาเบิกความเป็นพยานของผู้ร้อง พยานทั้งสามปากต่างเบิกความยืนยันว่าขณะทำพินัยกรรม นายวิรัติเจ้ามรดกมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ และการที่จะพิจารณาว่าผู้ทำพินัยกรรมมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ดีหรือไม่ นายอำเภอหรือผู้รักษาราชการแทนย่อมมีความรู้ความสามารถพอที่จะพิจารณาได้จึงฟังได้ว่าพินัยกรรมดังกล่าวเป็นพินัยกรรมที่สมบูรณ์ตามกฎหมายการที่ผู้คัดค้านไม่ได้รับมรดกตามพินัยกรรมเลยและตามพินัยกรรมเจ้ามรดกมีเจตนาที่จะตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของตน เมื่อผู้ร้องไม่เป็นบุคคลวิกลจริตหรือเสมือนไร้ความสามารถ และไม่เป็นบุคคลล้มละลายผู้ร้องจึงสมควรเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาตั้งผู้คัดค้านเข้าร่วมเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายด้วยนั้น ศาลฎีกาจึงไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องฟังขึ้นส่วนฎีกาของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีตามคำสั่งของศาลชั้นต้น.

Share