คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5600/2548

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นนัดสืบพยานจำเลยทั้งสามซึ่งมีหน้าที่นำสืบก่อน จำเลยทั้งสามขอเลื่อนคดี ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีและถือว่าจำเลยทั้งสามไม่มีพยานมาสืบ แล้วพิพากษาให้จำเลยทั้งสามรับผิดตามฟ้อง จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยทั้งสามฎีกา ศาลฎีกาพิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองในส่วนของจำเลยที่ 3 ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการให้จำเลยที่ 3 นำพยานเข้าสืบต่อไปและให้โจทก์นำพยานเข้าสืบหักล้างแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ย่อมหมายถึงว่าศาลฎีกาได้อนุญาตให้จำเลยที่ 3 ได้เลื่อนคดีตามที่ร้องขอ และวันสืบพยานตามความหมาย ป.วิ.พ. มาตรา 1 (10) คือวันที่ศาลชั้นต้นเริ่มทำการสืบพยานจำเลยที่ 3 ในการดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่นี้ โจทก์ทราบกำหนดวันนัดสืบพยานจำเลยที่ 3 โดยชอบแล้ว เมื่อโจทก์และทนายโจทก์ไม่มาศาลในวันนัด จึงถือว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 197 วรรคสอง (เดิม) ศาลต้องดำเนินกระบวนพิจารณาตามมาตรา 201 (เดิม) กล่าวคือ ศาลต้องมีคำสั่งจำหน่ายคดีเสียจากสารบบความ แต่หากจำเลยที่ 3 ขอให้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป ศาลต้องมีคำสั่งแสดงว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณาก่อน แล้วจึงจะพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีนั้นไปฝ่ายเดียวตามบทบัญญัติแห่งมาตรา 205 ถึงมาตรา 209 เดิม ซึ่งเป็นบทบัญญัติพิเศษโดยเฉพาะของวิธีพิจารณาวิสามัญอันว่าด้วยการพิจารณาโดยขาดนัดซึ่งแตกต่างโดยสิ้นเชิงจากกระบวนวิธีพิจารณาสามัญ ดังนั้น การที่โจทก์ขาดนัดพิจารณาแต่ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาอย่างวิธีพิจารณาสามัญโดยมีคำสั่งว่าให้จำเลยที่ 3 สืบพยาน แล้วเลื่อนคดีไปให้โจทก์ซักค้านในนัดหน้า จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยผิดระเบียบที่เมื่อศาลเห็นสมควรหรือเมื่อคู่ความฝ่ายที่เสียหายเนื่องจากการปฏิบัติผิดระเบียบนั้นร้องขอ ศาลย่อมมีอำนาจที่จะสั่งให้เพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคหนึ่ง อย่างไรก็ตาม มาตรา 27 วรรคสอง กำหนดกรอบระยะเวลาและเงื่อนไขการที่คู่ความจะร้องขอให้ศาลเพิกถอนการพิจารณาผิดระเบียบว่า “ข้อคัดค้านเรื่องผิดระเบียบนั้น คู่ความฝ่ายที่เสียหายอาจยกขึ้นกล่าวได้ไม่ว่าเวลาใด ๆ ก่อนมีคำพิพากษา แต่ต้องไม่ช้ากว่าแปดวันนับแต่วันที่คู่ความฝ่ายนั้นได้ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้น แต่ทั้งนี้คู่ความฝ่ายนั้นต้องมิได้ดำเนินการอันใดขึ้นใหม่หลังจากที่ได้ทราบเรื่องผิดระเบียบแล้ว หรือต้องมิได้ให้สัตยาบันแก่การผิดระเบียบนั้น ๆ” เมื่อจำเลยที่ 3 ไม่ได้คัดค้านหรือร้องขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบ กลับนำตัวจำเลยที่ 3 เข้าเบิกความจนจบคำซักค้าน แล้วต่อมาเพียงแต่ยื่นคำแถลงคัดค้านว่า ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาโดยไม่ชอบด้วยมาตรา 201 วรรคสอง โดยไม่ได้ขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบดังกล่าวจึงเข้าลักษณะเป็นการโต้แย้งคำสั่งระหว่างพิจารณาเพื่อจะได้ใช้สิทธิอุทธรณ์ตามมาตรา 226 (2) เท่านั้น หลังจากนั้นจำเลยที่ 3 ก็ได้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปจนเสร็จการพิจารณา กรณีต้องถือว่าจำเลยที่ 3 มิได้ร้องขอให้ศาลเพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบภายในกำหนดระยะเวลาตามมาตรา 27 วรรคสอง อีกทั้งจำเลยที่ 3 ได้ดำเนินการพิจารณาต่อไปหลังจากได้ทราบเรื่องผิดระเบียบนั้น จำเลยที่ 3 จึงไม่อาจอุทธรณ์หรือฎีกาขอให้ศาลสูงมีคำสั่งเพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบเช่นว่านี้ได้อีก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระต้นเงิน 313,842 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 26 ตุลาคม 2535 จนกว่าจะชำระเสร็จ ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเวลา 28 เดือนเศษ โจทก์ขอคิดเพียง 28 เดือน เป็นเงิน 109,844 บาท
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดสืบพยานจำเลยทั้งสาม
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 313,842 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันทำสัญญากู้ยืมเงินคือวันที่ 26 ตุลาคม 2535 จนกว่าจะชำระเสร็จ ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 109,844 บาท ตามที่โจทก์ขอ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 6,000 บาท
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองในส่วนของจำเลยที่ 3 ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการให้จำเลยที่ 3 นำพยานเข้าสืบต่อไป และให้โจทก์นำพยานเข้าสืบหักล้างได้ เสร็จแล้วให้พิพากษาใหม่ตามรูปคดี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 3 ชำระเงินจำนวน 313,842 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 26 ตุลาคม 2535 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 109,844 บาท หากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6892/2540 ให้จำเลยที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 6892/2540 ซึ่งศาลฎีกาพิพากษายกคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองนั้นสืบเนื่องมาจากในการพิจารณาคดีดังกล่าว ศาลชั้นต้นชี้สองสถานแล้วกำหนดให้จำเลยทั้งสามมีหน้าที่นำสืบก่อนและนัดสืบพยานจำเลยวันที่ 31 สิงหาคม 2538 เวลา 9 นาฬิกา แต่ได้มีการเลื่อนคดีตลอดมาจนกระทั่งวันที่ 29 พฤศจิกายน 2538 ซึ่งเป็นวันนัดสืบพยานจำเลย จำเลยทั้งสามก็ไม่มาศาล ศาลชั้นต้นจดรายงานกระบวนพิจารณาว่า “…พฤติการณ์เป็นการประวิงคดีจึงไม่มีเหตุสมควรที่จะให้เลื่อนคดี จึงไม่อนุญาตและให้ถือว่าจำเลยไม่มีพยานมาสืบ…” และอนุญาตให้เลื่อนคดีไปสืบพยานโจทก์ในนัดหน้าตามที่ทนายโจทก์ขอ แต่ศาลฎีกาในคำพิพากษาฎีกาที่ 6892/2540 วินิจฉัยว่า กรณียังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 จงใจประวิงคดีให้ล่าช้าและเป็นความผิดของจำเลยที่ 1 ที่ไม่ดำเนินการให้ได้พยานมาสืบ ควรให้โอกาสจำเลยที่ 3 ได้ดำเนินการอีกสักนัดหรือสองนัดก่อน จึงจะควรถึงขั้นพิจารณาว่าจำเลยที่ 3 ประวิงคดีหรือไม่ กรณีถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 ประวิงคดี และพิพากษายกคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองในส่วนของจำเลยที่ 3 และย้อนสำนวนมาให้ศาลชั้นต้นดำเนินการให้จำเลยที่ 3 นำพยานเข้าสืบต่อไป แล้วให้โจทก์นำพยานเข้าสืบหักล้างได้ เช่นนี้ย่อมมีผลเท่ากับว่าศาลฎีกาได้พิพากษายกคำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งในรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 29 พฤศจิกายน 2538 ว่าจำเลยที่ 3 ประวิงคดี และยกคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 3 เลื่อนคดี รวมทั้งยกคำสั่งที่ให้ถือว่าจำเลยที่ 3 ไม่มีพยานมาสืบนั่นเอง ดังนั้น คำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวที่ย้อนสำนวนมาให้ศาลชั้นต้นดำเนินการให้จำเลยที่ 3 นำพยานเข้าสืบต่อไปแล้วให้โจทก์นำพยานเข้าสืบหักล้างได้ ย่อมมีผลเท่ากับว่าในวันนัดสืบพยานจำเลยวันที่ 29 พฤศจิกายน 2538 นั้น ศาลฎีกาได้อนุญาตให้จำเลยที่ 3 ได้เลื่อนคดีตามที่จำเลยที่ 3 ร้องขอนั่นเอง เมื่อปรากฏว่าศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้โจทก์และจำเลยที่ 3 ฟังในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2541 และในวันดังกล่าวหลังจากอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้คู่ความฟังแล้ว ศาลชั้นต้นได้ดำเนินการพิจารณาคดีสำหรับจำเลยที่ 3 ใหม่ โดยกำหนดนัดสืบพยานจำเลยที่ 3 ซึ่งมีหน้าที่นำสืบก่อนในวันที่ 31 มีนาคม 2541 ครั้งถึงวันนัด ได้มีการเลื่อนคดีอีก จนกระทั่งวันที่ 28 กรกฎาคม 2541 จึงได้มีการสืบพยานจำเลยที่ 3 เป็นครั้งแรกในวันนั้น วันดังกล่าวจึงเป็นวันที่ศาลเริ่มต้นทำการสืบพยานและถือว่าเป็น “วันสืบพยาน” ตามบทนิยามความหมายแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 1 (10) เมื่อปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นในวันนั้นว่า มีแต่จำเลยที่ 3 และทนายจำเลยที่ 3 เท่านั้นที่มาศาล แต่ฝ่ายโจทก์ไม่มีใครมา โดยมิได้ร้องขอเลื่อนคดีหรือแจ้งเหตุขัดข้องที่ไม่มาศาลเสียก่อนลงมือสืบพยาน กรณีจึงต้องด้วยหลักเกณฑ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 197 วรรคสอง เดิม ซึ่งบัญญัติให้ถือว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณา และอยู่ในบังคับแห่งมาตรา 201 วรรคหนึ่ง เดิม ซึ่งกฎหมายกำหนดให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีนั้นเสียจากสารบบความ เว้นแต่จำเลยที่ 3 จะได้แจ้งต่อศาลในวันหรือก่อนวันสืบพยานว่าตนตั้งใจจะให้ดำเนินการพิจารณาคดีต่อไป และหากจำเลยที่ 3 ได้ขอให้ดำเนินการพิจารณาต่อไป มาตรา 201 วรรคสอง ก็กำหนดให้ศาลมีคำสั่งแสดงว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณาแล้วให้พิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีนั้นไปฝ่ายเดียว ตามบทบัญญัติแห่งมาตรา 205 ถึงมาตรา 209 เดิม ซึ่งเป็นบทบัญญัติพิเศษโดยเฉพาะของวิธีพิจารณาวิสามัญ อันว่าด้วยการพิจารณาโดยขาดนัดซึ่งแตกต่างโดยสิ้นเชิงจากกระบวนวิธีพิจารณาสามัญ ดังนั้น การที่โจทก์ขาดนัดพิจารณา แต่ศาลชั้นต้นกลับดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปอย่างวิธีพิจารณาสามัญ จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยผิดระเบียบที่เมื่อศาลเห็นสมควรหรือเมื่อคู่ความฝ่ายที่เสียหายเนื่องจากการปฏิบัติผิดระเบียบนั้นร้องขอ ศาลย่อมมีอำนาจที่จะสั่งให้เพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นเสียได้ ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคหนึ่ง อย่างไรก็ตาม มาตรา 27 วรรคสอง กำหนดกรอบระยะเวลาและเงื่อนไขการที่คู่ความจะร้องขอให้ศาลเพิกถอนการพิจารณาผิดระเบียบว่า “ข้อคัดค้านเรื่องผิดระเบียบนั้น คู่ความฝ่ายที่เสียหายอาจยกขึ้นกล่าวได้ไม่ว่าเวลาใด ๆ ก่อนมีคำพิพากษา แต่ต้องไม่ช้ากว่าแปดวันนับแต่วันที่คู่ความฝ่ายนั้นได้ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้น แต่ทั้งนี้คู่ความฝ่ายนั้นต้องมิได้ดำเนินการอันใดขึ้นใหม่ หลังจากที่ได้ทราบเรื่องผิดระเบียบแล้ว หรือต้องมิได้ให้สัตยาบันแก่การผิดระเบียบนั้น ๆ” เมื่อได้ความว่า จำเลยที่ 3 ได้ทราบเรื่องการดำเนินกระบวนพิจารณาผิดระเบียบในวันที่โจทก์ขาดนัดพิจารณาคือวันที่ 28 กรกฎาคม 2541 นั้นแล้ว แต่จำเลยที่ 3 ก็หาได้คัดค้านหรือร้องขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบในวันดังกล่าวไม่ แต่กลับนำตัวจำเลยที่ 3 เข้าเบิกความจนจบคำซักถาม และต่อมาวันที่ 14 สิงหาคม 2541 จำเลยที่ 3 ก็เพียงแต่ยื่นคำแถลงคัดค้านว่า ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาโดยไม่ชอบด้วยมาตรา 201 วรรคสอง แต่ก็หาได้ร้องขอให้ศาลเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบดังกล่าวไม่ คงเพียงแต่ยื่นคำแถลงโต้แย้งไว้ ซึ่งเข้าลักษณะเป็นเพียงการโต้แย้งคำสั่งระหว่างพิจารณาเพื่อจะได้ใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อไปตามมาตรา 226 (2) เท่านั้น หลังจากนั้นจำเลยที่ 3 ก็ได้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปจนเสร็จการพิจารณา กรณีจึงต้องถือว่าจำเลยที่ 3 มิได้ร้องขอให้ศาลเพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบภายในกำหนดระยะเวลาตามมาตรา 27 วรรคสอง อีกทั้งจำเลยที่ 3 ได้ดำเนินการพิจารณาต่อไปหลังจากได้ทราบเรื่องผิดระเบียบแล้วนั้น จำเลยที่ 3 จึงไม่อาจอุทธรณ์หรือฎีการ้องขอให้ศาลสูงมีคำสั่งเพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบเช่นว่านี้ได้อีก
พิพากษายืน โจทก์ไม่แก้ฎีกา จึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นฎีกาให้.

Share