คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5600/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาระหว่างกรมวิเทศสหการโจทก์กับจำเลยที่ 2 ได้กำหนดระยะเวลาไว้แน่นอนว่าจำเลยที่ 1 ได้รับทุนไปศึกษาต่อ ณ ต่างประเทศเป็นเวลา 5 ปี และสัญญาค้ำประกันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ก็ระบุว่าค้ำประกันหนี้ซึ่งจะเกิดขึ้นตามสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ดังนั้น จำเลยที่ 2 จะต้องผูกพันรับผิดต่อโจทก์ภายในกำหนดเวลา 5 ปี ซึ่งกำหนดไว้แน่นอนแล้วเท่านั้น เมื่อโจทก์อนุญาตให้จำเลยที่ 1 ศึกษาต่อไปอีกเกินกว่ากำหนด 5 ปี โดยไม่ได้แจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบ และจำเลยที่ 2 มิได้ยินยอมด้วยในการขยายกำหนดเวลาการศึกษา จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์สำหรับกำหนดระยะเวลาที่เกินกว่า 5 ปี

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อ พ.ศ. 2508 รัฐบาลประเทศออสเตรเลียจัดสรรทุนนักเรียนตามโครงการภายใต้แผนโคลัมโบในระดับปริญญาตรีให้แก่ประเทศไทย ประจำ พ.ศ. 2507/08 จำนวน 25 ทุนโจทก์ได้คัดเลือกจำเลยที่ 1 ไปศึกษาสาขาวิชาวิศวกรรมศาสตร์ในระดับปริญญาตรี ณประเทศออสเตรเลีย ภายใต้แผนโคลัมโบ มีกำหนด 5 ปี จำเลยที่ 1ได้ทำสัญญากับโจทก์ตามระเบียบของทางราชการว่า เมื่อจำเลยที่ 1สำเร็จการศึกษาแล้วก็ดีหรือการศึกษาต้องยุติลงด้วยเหตุผลอื่นใดก็ดี จำเลยที่ 1 จะต้องกลับเข้ารับราชการในหน่วยงานที่ทางราชการเห็นชอบรวมเป็นเวลาอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 2 เท่าของเวลาเต็มที่ใช้ในการศึกษา หากจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาจะต้องใช้เงินทั้งหมดเท่าจำนวนเงินทุนและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ตลอดทั้งค่าเดินทางที่รัฐบาลออสเตรเลียได้จ่ายไปในการศึกษานั้นอีกด้วย หากจำเลยที่ 1รับราชการชั่วระยะหนึ่งยังไม่ครบกำหนดตามสัญญา จะต้องใช้เงินให้ตามส่วนเฉลี่ยของเวลาที่ได้รับราชการชดใช้ไปบ้างแล้ว ในการทำสัญญารับทุนการศึกษาดังกล่าวนี้มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันความรับผิดของจำเลยที่ 1 ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้เดินทางไปศึกษา ณประเทศออสเตรเลีย เมื่อจำเลยที่ 1 ศึกษาจบระดับปริญญาตรีแล้วยังได้รับอนุมัติให้ศึกษาต่อจนจบการศึกษาระดับปริญญาโทและเอกโดยได้รับทุนภายใต้แผนโคลัมโบตลอดเวลารวมเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น21,953.71 เหรียญออสเตรเลีย เมื่อจำเลยที่ 1 สำเร็จการศึกษาและเดินทางกลับมาแล้ว จำเลยที่ 1 ได้เข้ารายงานตัวและได้รับการบรรจุเข้ารับราชการในตำแหน่งอาจารย์โท คณะวิศวกรรมศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วจำเลยที่ 1 ได้ขอลาออกจากราชการตั้งแต่วันที่ 12 พฤศจิกายน 2522 รวมเวลาที่จำเลยที่ 1 ได้รับราชการชดใช้ทุนจำนวน 1,522 วัน ยังรับราชการชดใช้ทุนไม่ครบอยู่อีก 4,952 วัน เป็นการผิดสัญญาที่ทำไว้กับโจทก์ จำเลยที่ 1 จะต้องชดใช้เงินคืนเป็นจำนวนเงิน 16,792.52 เหรียญออสเตรเลีย หรือเท่ากับเงินไทย 308,646.51 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 18 พฤษภาคม 2528 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่า หากสัญญาตามฟ้องมีผลใช้บังคับกันได้ สัญญาตามฟ้องก็กำหนดให้ทุนจำเลยที่ 1 ทำการศึกษาเป็นระยะเวลา 5 ปี จำเลยที่ 1 รับราชการชดใช้ทุนไปครบถ้วนแล้ว จำเลยที่ 1 จึงมิได้เป็นผู้ผิดสัญญา หากศาลฟังว่าจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยที่ 2 ก็หลุดพ้นจากการรับผิดเพราะโจทก์ยอมผ่อนเวลาให้แก่จำเลยที่ 1 โดยอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ลาไปศึกษาต่อต่างประเทศระหว่างวันที่ 30 เมษายน 2520 ถึงวันที่ 23 กรกฎาคม 2521 อย่างไรก็ตาม สัญญากำหนดให้ทุนการศึกษาแก่จำเลยที่ 1 เพียง 5 ปี จำเลยที่ 1 ได้ทำงานใช้หนี้ให้แก่โจทก์เสร็จสิ้นแล้ว จำเลยที่ 2ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ใช้เงินจำนวน 16,792.52เหรียญออสเตรเลีย (คิดเป็นเงินไทย 20,885.19 บาท) พร้อมดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าว
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาตามที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 2ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์เพียงใด ที่โจทก์ฎีกาว่าสัญญาของผู้ได้รับทุนไปดูงาน ฝึกงาน และหรือศึกษาวิชา ณ ต่างประเทศแม้มีข้อความระบุว่า ขอรับทุนการศึกษาจากรัฐบาลประเทศออสเตรเลียภายใต้แผนโคลัมโบมีกำหนดระยะเวลา 5 ปี นับแต่วันที่ 17 มิถุนายน2508 เป็นต้นไปก็ตาม แต่สภาพการไปศึกษาวิชาการต่างประเทศจะกำหนดแน่นอนย่อมไม่ได้ เนื่องจากอาจจบการศึกษาตามหลักสูตรเร็วกว่าหรือช้ากว่ากำหนดก็ได้ หรืออาจจะต่อการศึกษาออกไปอีกระยะหนึ่งเพื่อให้จบหลักสูตร จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันตามสัญญาย่อมต้องผูกพันตลอดระยะเวลาที่จำเลยที่ 1 ได้รับอนุมัติให้ต่อระยะเวลาการศึกษาจนจบระดับปริญญาเอก และสัญญาค้ำประกันก็มิได้กำหนดระยะเวลาไว้นั้น ปัญหานี้สัญญาของผู้ได้รับทุนไปดูงาน ฝึกงาน และหรือศึกษาวิชา ณ ต่างประเทศระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 มีข้อความระบุว่า”จำเลยที่ 1 ได้รับทุนจากรัฐบาลประเทศออสเตรเลียภายใต้แผนโคลัมโบเพื่อไปศึกษาวิชา ณ ประเทศออสเตรเลียภายใต้แผนโคลัมโบเพื่อไปศึกษาวิชา ณ ประเทศออสเตรเลีย มีกำหนด 5 ปีนับตั้งแต่วันที่ 17 มิถุนายน 2508″ และสัญญาค้ำประกันระบุว่าโดยที่จำเลยที่ 1 ซึ่งได้รับทุนไปศึกษา ณ ต่างประเทศ และได้ทำสัญญาฉบับลงวันที่ 7 มิถุนายน 2508 ให้ไว้ต่อโจทก์แล้วนั้นจำเลยที่ 2 เป็นผู้ซึ่งได้ทราบและเข้าใจข้อความในสัญญาของผู้รับทุนไปดูงาน ฝึกงาน และหรือศึกษาวิชา ณ ต่างประเทศดังกล่าวข้างต้นแล้ว ถ้าปรากฏขึ้นเมื่อใดว่าผู้ได้รับทุนตกเป็นผู้ผิดสัญญาจนผู้รับทุนตกเป็นลูกหนี้แก่โจทก์ จำเลยที่ 2 ขอสัญญาไว้แก่โจทก์ว่าจำเลยที่ 2 ยอมรับผิดชดใช้เงินที่ตกเป็นลูกหนี้ดังกล่าวแทนผู้ได้รับทุนรายนี้ทั้งสิ้น เห็นว่า สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ได้กำหนดระยะเวลาไว้แน่นอนว่าจำเลยที่ 1 ได้รับทุนไปศึกษาวิชา ณ ต่างประเทศเป็นเวลา 5 ปี และสัญญาค้ำประกันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ก็ระบุว่าค้ำประกันหนี้ซึ่งจะเกิดขึ้นตามสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ดังนั้น จำเลยที่ 2 จะต้องผูกพันรับผิดต่อโจทก์ภายในกำหนดเวลา 5 ปี ซึ่งกำหนดไว้แน่นอนแล้วเท่านั้นเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์อนุญาตให้จำเลยที่ 1 ศึกษาต่อไปอีกเกินกว่ากำหนด 5 ปี โดยไม่ได้แจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบ และจำเลยที่ 2 มิได้ยินยอมด้วยในการขยายกำหนดเวลาการศึกษา จำเลยที่ 2จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์สำหรับกำหนดระยะเวลาที่เกินกว่า 5 ปีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน

Share