คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 560/2493

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ภริยาเอาที่ดินอันเป็นสินบริคณห์ไปทำนิติกรรมโอนขายโดยสามีมิได้ยินยอมเป็นหนังสือดังนี้ขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1476
การที่จำเลยยกอายุความบอกล้างโมฆียะกรรมขึ้นต่อสู้ตามมาตรา 143 ก็ดีและต่อสู้ว่า โจทก์ใช้สิทธิไม่สุจริตซึ่งเป็นเรื่องยกข้อเท็จจริงขึ้นต่อสู้เพื่อหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมาย ตามมาตรา 6 ทั้ง 2 ประการนี้เป็นหน้าที่จำเลยต้องนำสืบก่อน หากจำเลยไม่สืบต้องแพ้คดี

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินอันเป็นสินสมรสซึ่งจำเลยที่ 1 ภรรยาโจทก์ได้โอนขายที่พิพาทให้จำเลยที่ 2 โดยโจทก์มิได้รู้เห็นยินยอมและโจทก์เพิ่งทราบ จึงได้บอกล้างไปยังจำเลยจำเลยที่ 1 ให้การรับตามฟ้อง จำเลยที่ 2 ต่อสู้ว่าโจทก์ได้รู้เห็นยินยอม ที่พิพาทไม่ใช่สินบริคณห์ เป็นสินเดิมของจำเลยที่ 1 โจทก์ใช้สิทธิไม่สุจริตและทราบการซื้อขายมากว่า 1 ปี ศาลชั้นต้นกะประเด็นรวม 4 ข้อ และเห็นว่าใน 2 ข้อแรกไม่จำต้องสืบ คือจำเลยรับว่าเป็นสินเดิมก็ถือว่าเป็นสินบริคณห์ และในข้อที่ว่าโจทก์รู้เห็นยินยอมหรือไม่ การยินยอมในกรณีเช่นนี้ต้องมีหนังสือตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1476 ส่วนในประเด็นข้อ 3 ที่ว่าโจทก์ทราบการซื้อขายเมื่อใด และข้อ 4 โจทก์ใช้สิทธิไม่สุจริตจริงหรือไม่ ศาลชั้นต้นเห็นว่า ตกเป็นหน้าที่จำเลยนำสืบก่อนและสั่งให้นัดสืบพยานจำเลย ครั้นถึงวันนัดจำเลยที่ 2และโจทก์ต่างแถลงโต้เถียงกันว่า อีกฝ่ายหนึ่งควรสืบก่อน และในที่สุดต่างท้ากันว่าถ้าศาลเห็นว่าประเด็นตกฝ่ายใดนำสืบก่อนแล้ว ให้ฝ่ายนั้นแพ้คดี ศาลชั้นต้นเห็นว่า ประเด็น 2 ข้อนี้จำเลยมีหน้าที่นำสืบก่อน พิพากษาให้จำเลยแพ้คดี ให้เพิกถอนสัญญาซื้อขาย ห้ามจำเลยที่ 2 เกี่ยวข้อง

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้จากคำฟ้องคำให้การ และคำแถลงรับของคู่ความว่าจำเลยที่ 1 เอาที่ดินพิพาทไปขาย ให้จำเลยที่ 2 โดยโจทก์มิได้ยินยอมอนุญาตเป็นหนังสือฝ่าฝืนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1476 นิติกรรมนั้นเป็นโมฆียะ โจทก์มีสิทธิบอกล้างได้ จำเลยมีข้อโต้แย้งอีก 2 ข้อว่าโจทก์ขายเกิน 1 ปี คือยกอายุความการบอกล้างโมฆียะกรรมตามมาตรา 143 กับว่าโจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ซึ่งเป็นเรื่องยกข้อเท็จจริงขึ้นต่อสู้เพื่อหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายตามมาตรา 6 เห็นว่าเป็นหน้าที่จำเลยจะต้องนำสืบทั้ง 2 ประการ เมื่อจำเลยไม่สืบก็ต้องแพ้คดี

พิพากษายืน

Share