คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5595/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยสั่งจ่ายเช็คให้แก่โจทก์หรือผู้ถือ โจทก์สลักหลังเช็คนำไปขายลดให้แก่บุคคลภายนอก ผู้รับซื้อเช็คไว้ย่อมเป็นผู้ทรงเช็คการสลักหลังของโจทก์จึงเป็นเพียงประกันหนี้ตามเช็คพิพาทที่จำเลยจะต้องรับผิดต่อผู้ทรง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 921ประกอบด้วยมาตรา 989 โจทก์ย่อมอยู่ในฐานะค้ำประกันหนี้ตามเช็คของจำเลย เมื่อโจทก์ได้ชำระหนี้แทนจำเลยไปแล้ว ย่อมมีสิทธิไล่เบี้ยเอาจากจำเลย และเข้ารับช่วงสิทธิของผู้ทรงเช็คบรรดามีเหนือจำเลยด้วย กรณีเช่นนี้ไม่ปรากฏว่ามีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะให้ผู้รับช่วงสิทธิจากผู้ทรงเช็คจะต้องฟ้องร้องภายในกำหนดเวลาเท่าใด สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในฐานะผู้รับช่วงสิทธิมาจากผู้ทรงจึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 164 หาใช่อายุความ 6 เดือน ตามมาตรา 1003 ไม่.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัดสาขาบางขุนเทียน ลงวันที่ 9 เมษายน 2527 สั่งจ่ายเงินสดให้ผู้ถือจำนวน 28,000 บาท โดยจำเลยที่ 2 หุ้นส่วนผู้จัดการห้างจำเลยที่ 1 เป็นผู้ลงลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายเงินประทับตราห้างจำเลยที่ 1นำมาชำระหนี้โจทก์ก่อนเช็คถึงกำหนด โจทก์สลักหลังโอนเช็คดังกล่าวชำระหนี้ให้บุคคลอื่นไป ต่อมาธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินผู้ทรงจึงนำเช็คมาทางถามโจทก์ โจทก์ชำระเงินตามเช็คให้ผู้ทรงไปแล้วรับโอนเช็คกลับคืนมา โจทก์ทวงถามจำเลยทั้งสอง แต่จำเลยทั้งสองไม่ยอมชำระเงินตามเช็ค ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 28,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์ไม่ใช่ผู้ทรงเช็คพิพาท โจทก์สลักหลังเช็คพิพาทโอนชำระหนี้ให้ผู้มีชื่อไปแล้ว เมื่อเช็คเรียกเก็บเงินไม่ได้ โจทก์ก็ไม่ได้ชำระเงินให้ผู้มีชื่อผู้มีชื่อไม่ได้โอนเช็คคืนโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องคดีนี้โจทก์อ้างว่ารับโอนเช็คคืนมาเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2527 และฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2528 เมื่อโจทก์เป็นผู้สลักหลังเช็คใช้สิทธิไล่เบี้ยเรียกเงินตามเช็คโดยฟ้องคดีเกิน 6 เดือนแล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้องและฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์ใช้ค่าเสียหายจำนวน 34,200 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่จำเลย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ฟ้องแย้งขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินตามเช็ค28,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่9 เมษายน 2527 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ทั้งนี้ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 2,100 บาท ให้ยกฟ้องแย้ง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง มิได้อุทธรณ์เกี่ยวกับฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาในชั้นฎีกาที่ว่าฟ้องขาดอายุความหรือไม่นั้น เห็นว่า จำเลยสั่งจ่ายเช็คให้แก่โจทก์หรือผู้ถือโจทก์สลักหลังเช็คนำไปขายลดให้แก่บุคคลภายนอก ผู้รับซื้อเช็คไว้ย่อมเป็นผู้ทรงเช็ค การสลักหลังของโจทก์จึงเป็นเพียงประกันหนี้ตามเช็คพิพาทที่จำเลยจะต้องรับผิดต่อผู้ทรงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 921 ประกอบด้วยมาตรา 989โจทก์ย่อมอยู่ในฐานะผู้ค้ำประกันหนี้ตามเช็คของจำเลย เมื่อโจทก์ได้ชำระหนี้แทนจำเลยไปแล้ว ย่อมมีสิทธิไล่เบี้ยเอาจากจำเลย และเข้ารับช่วงสิทธิของผู้ทรงเช็คบรรดามีเหนือจำเลยด้วย กรณีเช่นนี้ไม่ปรากฏว่ามีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะให้ผู้รับช่วยสิทธิจากผู้ทรงเช็คจะต้องฟ้องร้องภายในกำหนดเวลาเท่าใด สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในฐานะผู้รับช่วงสิทธิมาจากผู้ทรงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 หาใช่อายุความ 6 เดือน ตามมาตรา 1003 ไม่ เพราะโจทก์มิใช่ผู้สลักหลังตามความหมายของมาตราดังกล่าว คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ
สำหรับปัญหาที่ว่าจำเลยทั้งสองต้องร่วมกันรับผิดชดใช้เงินตามเช็คพิพาทให้โจทก์หรือไม่นั้น ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า สัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์จำเลยยังมีผลผูกพันอยู่ และจำเลยมีหน้าที่ต้องชำระราคา เมื่อธนาคารตามเช็คปฏิเสธการใช้เงินจำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดชดใช้เงินตามเช็คให้โจทก์
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น.

Share